บทเรียนซ้ำซาก อุเทนฯรับน้องถึงชีวิต

บทเรียนซ้ำซาก อุเทนฯรับน้องถึงชีวิต

มติ “ไล่ออก” รุ่นพี่ แผนกวิศวกรรมก่อสร้าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย 1 ราย และสั่ง “พักการเรียน” 1 ปี นักศึกษาอีก 11 ราย ที่ร่วมกันก่อเหตุทำร้ายร่างกายน้องปลื้ม หรือนายวีรพัฒน์ ตามกลาง รุ่นน้องปี 2 เสียชีวิต อาจยังไม่สามารถทำให้สังคมคลายความสงสัยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในรั้วอุเทนถวายได้สนิทใจ

เพราะเรื่องนี้ มีนักศึกษาเข้าร่วมมากถึง 47 ราย เป็นนักศึกษาชั้นปี 2 จำนวน 12 ราย นักศึกษาชั้นปี 1 อีก 35 ราย

ขณะที่ผลสอบข้อเท็จจริงของมหาวิทยาลัย ระบุว่าไม่ทราบว่ามีการจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น ทั้งที่มีนักศึกษาเข้าร่วมเกือบครึ่งร้อย !!

Advertisement

อีกทั้งยังเป็นการรวมกลุ่มที่ขัดกับคำสั่งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เรื่องเกี่ยวกับการควบคุมโรค และขัดคำสั่งมหาวิทยาลัย ที่ไม่ให้ทำกิจกรรมในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าแปลกที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับไม่รู้เรื่อง และไม่มีใครออกมารับผิดชอบกับความไม่รู้ดังกล่าวเลย…

กรณีที่เกิดขึ้นกับ “น้องปลื้ม” ไม่ใช่ความรุนแรงครั้งแรกที่เกิดขึ้นในรั้วอุเทนถวาย เพราะหากไม่มีปัญหารับน้องโหด ก็หนีไม่พ้นทะเลาะวิวาทกับมหาวิทยาลัยคู่อริตลอดกาล อย่างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน บ้านใกล้เรือนเคียง โดยเฉพาะวันสถาปนาของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง ที่ทำให้คนละแวกนั้นต้องอกสั่นขวัญแขวนทุกปี ว่าจะประกาศศักดากันขนาดไหน

ผลัดกันบาดเจ็บ และล้มตาย ต่อเนื่องรุ่นต่อรุ่น !!

Advertisement

จนเรียกว่าเป็นมหากาพย์ความรุนแรงซ้ำซาก ที่ใครก็แก้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐมนตรี ซึ่งเดิม มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทั่งมีการปรับโครงสร้างกระทรวง จึงมาอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ยุคสมัยหนึ่ง เคยมีข้อเสนอให้ย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ออกโรงทวงที่คืน หลัง มทร.ตะวันออก เช่าพื้นที่ตั้งวิทยาเขตอุเทนถวายมาตั้งแต่ปี 2482 ครบสัญญา “เช่าที่” ตั้งแต่ปี 2546

โดยก่อนหน้านั้น มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตัดสินชี้ขาดเมื่อปี 2552 ให้วิทยาเขตอุเทนถวายย้ายออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว

ทางอุเทนถวายยืนยันขอเช่าที่ตามเดิม และไม่ย้ายออก กระทั่งปี 2556 จุฬาฯ งัดแผนพัฒนาทรัพย์สินจุฬาฯ พัฒนาที่ดิน 21 ไร่ ของอุเทนถวาย ทำเป็นศูนย์นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อชุมชน งบการลงทุน 2,000 ล้านบาท
แต่ก็ไม่เป็นผล มีการประท้วง งัดข้อกฎหมายมาสู้ โดยอุเทนถวายอ้างว่าไม่เคยเช่าที่จากจุฬาฯ เลย กระทั่งปี 2482 ที่กำหนดให้ที่ดินทั้งหมดในละแวกนั้น ซึ่งเป็นที่ดินพระราชมรดกต้องโอนให้จุฬาฯ และทางอุเทนถวายอยู่ระหว่างดำเนินการถวายฎีกา

แถมยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะรัฐมนตรี และจุฬาฯ แต่ภายหลังศาลมีคำสั่งยกฟ้อง เพราะจุฬาฯ ถือเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอย่างถูกต้อง

รัฐบาลในขณะนั้นได้เตรียมพื้นที่ ต.บางปิ้ง จ.สมุทรปราการ พร้อมจัดงบอุดหนุนเต็มที่สำหรับรองรับวิทยาเขตอุเทนถวาย แต่ไม่เป็นผล สารพัดข้ออ้าง ทั้งศักดิ์ศรีอุเทนถวาย ความรักสถาบัน ไปถึงขั้นการขนย้ายพระวิษณุกรรม พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย ที่เล่ากันว่าห้ามลอดใต้สะพานเด็ดขาด ทางเดียวคือขนย้ายทางอากาศเท่านั้น…

ที่เล่ามาทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในรั้วอุเทนถวาย แม้จะเคยมีการแก้ปัญหา อาทิ หากเกิดการทะเลาะวิวาท ให้นักศึกษาทั้ง 2 สถาบัน มาจัดกิจกรรมปรับทัศนคติร่วมกัน ถึงขั้นมีข้อเสนอให้นักศึกษาที่ก่อเหตุ ไปเป็นทหารในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีมาแล้ว

การแก้ปัญหาแต่ละครั้ง เหมือนเป็นการล้อมคอก เพราะสุดท้ายเรื่องเหล่านี้ก็วนกลับมาที่เดิม แค่เปลี่ยนตัวละครใหม่ ขณะที่หน่วยงานหลัก ทั้งระดับรัฐบาล หรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่กำกับดูแล กลับทำอะไรไม่ได้เลย

เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์กันขนานใหญ่ ว่า “รากเหง้า” ของปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน เพื่อจะได้ถอนให้ถูกที่
กรณีเสียชีวิตของน้องปลื้ม เป็นอีกหนึ่งภาพความรุนแรงที่ฝังลึกในอุเทนถวาย ทั้งระบบโซตัส การใช้อำนาจในรั้วมหาวิทยาลัย ที่ฝังรากลึกมาช้านาน รุ่นต่อรุ่น คอยเกื้อกูลกันทั้งถูกผิด …

หน่วยงานหลักอย่าง อว.ที่มี นายเอนก เหล่าธรรม รัฐมนตรี อว.กลับไม่แสดงท่าทีที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม กลับปล่อยให้นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่า อว.รับหน้าเสื่อ ให้ข่าวเอาหน้ารอดแทนเจ้ากระทรวงไปวันๆ ทั้งที่ไม่มีอำนาจแก้ปัญหาโดยตรง …

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการ อว.และปลัดกระทรวง ซึ่งถือเป็นผู้มีอำนาจเข้าไปแก้ปัญหาโดยตรงกลับเงียบ เข้าใจว่าทางหนึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ระดับนโยบายก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางแก้ไขระยะยาว

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ อดีตอาจารย์จุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหานี้ไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่ง สถาบันการศึกษาต้องประเมินตัวเอง ที่ผ่านมามีคนช่วยคิด ช่วยแก้ไข แต่ไม่เคยสำเร็จ แม้จะเป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาเดียว แต่ก็สะท้อนความรุนแรง ระบบโซตัสที่ฝังลึก และยังไม่ได้รับการแก้ไข

“ส่วนตัวคิดว่าหากสถาบันการศึกษายังมีแกะดำอยู่เช่นนี้ ก็เป็นเรื่องที่พูดลำบาก รัฐมนตรีว่าการ อว.ควรนำประเด็นนี้มาพูดคุย ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาช่วยแก้ปัญหา ทางที่ดี ควรย้ายออกจากพื้นที่เดิม เลิกยึดติดกับศักดิ์ศรี หรือสัญลักษณ์อุดมการณ์ต่างๆ ไม่เช่นนั้นก็แก้ปัญหาไม่ได้” ศ.สมพงษ์กล่าว
ดังนั้น คงเป็นการดีหากเจ้ากระทรวง อว.ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง จะกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เป็นหน่วยงานหลักร่วมมือผู้เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ วางมาตรการป้องกัน ความปลอดภัยของนักศึกษา ทั้งอนาคต และปัจจุบัน

แต่หากเจ้ากระทรวง อว.ยังคงนิ่งเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับเรื่องนี้ อีกไม่นานคงมี “เหยื่อ” ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ซ้ำรอย “น้องปลื้ม” อีกแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image