‘เอกชน’ เล็งกู้ 4 พันล.ต่อลมหายใจ แห่งละไม่เกิน 20 ล้าน รัฐช่วยจ่ายดอก 6 ด.

‘เอกชน’ เล็งกู้ 4 พันล.ต่อลมหายใจ แห่งละไม่เกิน 20 ล้าน รัฐช่วยจ่ายดอก 6 ด.หลังคลังอนุมัติเข้ามาตรการ’สินเชื่อฟื้นฟู’

นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รับการร้องเรียนจากโรงเรียนเอกชนในระบบ และนอกระบบ ที่เก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา หรือค่าธรรมเนียมอื่น ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ซึ่ง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ได้นำเรื่องนี้หารือร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหาทางช่วยโรงเรียนเอกชน

“กระทรวงการคลังเห็นชอบในหลักการ ให้โรงเรียนเอกชนที่เก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา หรือค่าธรรมเนียมอื่น ได้แก่ โรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุน โรงเรียนเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุน ทั้งประเภทสามัญ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทวิชาชีพ โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทศิลปะและกีฬา โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต สามารถเข้าสู่มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) โดยให้โรงเรียนเอกชนกู้ได้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 6 เดือนแรก รัฐบาลจะช่วยเหลือด้วยการจ่ายดอกเบี้ยแทน และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อ” นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า จากการสำรวจเบื้องต้น พบโรงเรียนเอกชนในระบบ และนอกระบบ และสถานศึกษาอาชีวะเอกชน กว่า 1,000 แห่ง สนใจขอกู้ รวมยอดขอกู้กว่า 4,000 ล้านบาท และเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับโรงเรียนเอกชนในระบบ และนอกระบบ เพื่อทำความเข้าใจถึงขั้นตอนการขอกู้ยืม เพื่อให้โรงเรียนเตรียมข้อมูล จัดทำเอกสารยื่นกู้ได้อย่างถูกต้อง หลังจากนี้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะร่วมกับทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

“สช.จะเร่งประสานงานเรื่องต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้โรงเรียนกู้เงินไปเสริมสภาพคล่อง เพราะขณะนี้โรงเรียนกำลังเดือดร้อนหนัก เนื่องจากไม่สามารถเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนได้ นอกจากนี้ โรงเรียนบางแห่งพบปัญหาผู้ปกครองค้างจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 ทำให้โรงเรียนต้องแบกรับต้นทุน และค่าใช้จ่ายสูงมาก” นายอรรถพล กล่าว

Advertisement

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และ สช.มีนโยบายให้โรงเรียนเอกชนทุกแห่งลดค่าธรรมเนียมการเรียน ถ้าไม่สามารถลดค่าธรรมเนียมการเรียนได้ ขอให้ตรึงค่าธรรมเนียมไว้ โดยเรียกเก็บเท่ากับปีการศึกษา 2563 แต่ถ้าจำเป็นต้องเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุจำเป็นเนื่องจากโรงเรียนมีเหตุจำเป็น ก็ขอเป็นการเพิ่มค่าธรรมเนียมที่ไม่กระทบกับนักเรียนเก่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image