ลุ้นเกณฑ์ทีแคส’65 คลอดปลายปี ให้สิทธิมหา’ลัยเลือก ใช้-ไม่ใช้ ‘GPAX’

ลุ้นเกณฑ์ทีแคส’65 คลอดปลายปี ให้สิทธิมหา’ลัยเลือก ใช้-ไม่ใช้ ‘GPAX’ หลัง ทปอ.มีมติยกเลิก “โอเน็ต” รอบแอดมิสชั่นส์ยังประมวลผล 2 ครั้ง

ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเห็นชอบแนวทางการคัดเลือกในระบบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2565 โดยปรับการสอบให้ลดน้อยลง และลดการคัดเลือกเหลือเพียง 4 รอบ 4 รูปแบบ ดังนี้ รอบ 1 แฟ้มสะสมผลงาน รอบ 2 โควต้า รอบ 3 แอดมิสชั่นส์ และรอบ 4 รับตรงอิสระ โดยการรับในทุกรอบ จะยุติการใช้คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก การปรับครั้งนี้ส่งผลให้ในรอบ 3 แอดมิสชั่นส์ ที่เดิมมี 2 รูปแบบ คือ แอดมิสชั่นส์ 1 และแอดมิสชั่นส์ 2 ถูกปรับให้เหลือรูปแบบเดียว และเมื่อยกเลิกการใช้คะแนนโอเน็ต ต่อไปมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดองค์ประกอบในการคัดเลือกเอง ซึ่ง ทปอ.จะประสานมหาวิทยาลัยกำหนดจำนวนวิชาสอบให้น้อยลง เพื่อลดภาระความเครียดของนักเรียน

“แม้รอบ 3 จะเหลือแอดมิสชั่นส์รูปแบบเดียว แต่การประมวลผลยังมี 2 รอบ เพราะ ทปอ.ต้องการดึงตัวสำรองขึ้นมา เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้สมัคร อย่างทีแคสปีการศึกษา 2564 ในรอบ 3 มีผู้สมัคร 111,725 คน ผ่านการคัดเลือกครั้งที่ 1 จำนวน 91,950 คน แต่ไม่พอใจคณะ/ สาขาวิชาที่ได้ จึงขอยื่นประมวลผลครั้งที่ 2 จำนวน 40,312 คน และกลุ่มที่ไม่ผ่านการคัดเลือก 19,755 คน ขอยื่นประมวลผลครั้งที่ 2 จำนวน 16,945 คน จากการประมวลผลรอบที่ 2 พบว่า มีผู้ได้เลื่อนลำดับขึ้นจากเดิม 4,607 คน และผ่านการคัดเลือกเพิ่มใหม่ในการประมวลผลครั้งที่ 2 อีก 1,933 คน รวมแล้วมีผู้ยืนยันสิทธิรอบ 3 รวม 85,541 คน ซึ่ง ทปอ.พบว่ามีผู้สมัครผ่านการคัดเลือกเพิ่มขึ้นกว่า 1,900 คน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก” ดร.พีระพงศ์ กล่าว

ดร.พีระพงศ์กล่าวอีกว่า เมื่อยกเลิกการใช้คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกแล้ว จะยกเลิกการใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมในชั้นมัธยมปลาย หรือ GPAX มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประกาศเกณฑ์การคัดเลือกของแต่ละสาขาวิชา เพราะประเด็นนี้มีข้อถกเถียงอยู่ บางส่วนมองว่าไม่ควรใช้คะแนน GPAX มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก เพราะเป็นคะแนนที่ไม่สามารถวัดมาตรฐานได้ เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน แต่บางส่วนมองว่าเมื่อไม่นำคะแนนโอเน็ตมาเป็นองค์ประกอบแล้ว จะเหลือแต่คะแนนสอบ 9 วิชาสามัญ การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) แล้วเด็กจะทำคะแนนสอบออกมาได้ดีหรือ ควรจะมีคะแนน GPAX เข้ามาช่วยด้วย เป็นต้น ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้พิจารณา จึงขอให้ผู้สมัครอ่านเกณฑ์การคัดเลือกอย่างรอบคอบ

“นอกจากนี้ นักเรียนบางส่วนกังวลถึงการสมัครในรอบแฟ้มสะสมผลงาน ประจำปีการศึกษา 2565 เช่นกัน เพราะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรม จัดการประกวดใดๆ ได้ นักเรียนส่วนใหญ่จึงไม่มีผลงานที่จะนำมาใช้ยื่นสมัคร ซึ่ง ทปอ.ได้แจ้งไปยังมหาวิทยาลัยว่าขอให้ปรับเกณฑ์การคัดเลือกในรอบนี้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย ขอให้นักเรียนอย่าเพิ่งกังวล รอประกาศเกณฑ์การคัดเลือกอย่างเป็นทางการจากมหาวิทยาลัย และ ทปอ.ก่อน คาดว่าจะประกาศได้ปลายปี 2564” ดร.พีระพงศ์ กล่าว

Advertisement

ดร.พีระพงศ์กล่าวต่อว่า ส่วนการการยืนยันสิทธิ และสละสิทธิ์ ของทีแคสประจำปีการศึกษา 2565 จะเหมือนกับปีการศึกษา 2564 คือให้ยืนยันสิทธิในระบบ ตามช่วงเวลาที่กำหนด และการสละสิทธิ์ทำได้เพียง 1 ครั้ง ตามช่วงเวลาที่กำหนดของแต่ละรอบ เช่น สมัครรอบ 2 และยืนยันสิทธิแล้ว แต่เปลี่ยนใจอยากลงสมัครรอบ 4 ต้องสละสิทธิในรอบที่ 2 ทันที เพื่อรอลุ้นในการสมัครรอบ 4 รอบ เป็นต้น แต่จะเพิ่มความเข็มงวดมากขึ้น ขณะนี้ ทปอ.อยู่ระหว่างวางแนวทาง เช่น ถ้าผู้สมัครเคยยืนยันสิทธิในคณะ/ สาขาวิชาหนึ่ง และสละสิทธิ์ เพื่อสมัครในรอบถัดไป ซึ่งรอบถัดไปจะไม่สามารถเลือกสาขา/ คณะ ที่เคยสละสิทธิ แม้จะเปลี่ยนสถาบัน หรือมหาวิทยาลัยแล้วก็ตาม เป็นต้น เพราะมหาวิทยาลัยต้องการคนที่มีความมุ่งมั่นอยากเข้าเรียนในคณะ/ สาขาที่เลือกจริงๆ ดังนั้น ผู้สมัครต้องรู้จักตัวเอง และอ่านเกณฑ์การสมัครให้ละเอียดรอบคอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image