นักวิชาการ-ร.ร.เอกชน จี้ปรับรูปแบบ หลังพบเด็กลาออก-ออกกลางคันพุ่ง เปิดทาง น.ศ.หยุดเรียน-คืนค่าเทอม

นักวิชาการ-ผู้บริหาร ร.ร.เอกชน ค้านหยุดเรียน 1 ปีทั้งประเทศ ชี้ไม่ใช่ทางออก จี้ปรับรูปแบบ เพราะที่ใช้อยู่แค่เรียนปกติแผ่านช่องทางออนไลน์ พบเด็กมัธยมปัญหาเพียบ ลาออก-แกกลางคันพุ่ง แนะเปิดทาง น.ศ.มหา’ลัยหยุดเรียนได้ คืนค่าเทอม

จากกรณีที่ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน เสนอให้หยุดการเรียนการสอนทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากการเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ และส่งผลกระทบกับนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย และนักเรียนชั้นประถมอย่างมาก ขณะที่นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการศึกษา เปิดเผยผลวิจัยชี้เด็กไทยเครียดจากการเรียนออนไลน์ ทำให้โดดเรียนออนไลน์มากกว่า 20% ขณะที่ผลสำรวจทั่วโลกระบุว่าการเรียนออนไลน์ 1 ปี ทำให้การศึกษาถดถอย 50% โดยเสนอให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องกล้าตัดสินใจ และเลิกกลัวเกินกว่าเหตุ แต่ผู้บริหาร.ศธ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกมาคัดค้านนั้น

อ่านรายละเอียด : โซเชียลเดือด!! ซัดเรียนออนไลน์ทำครอบครัวร้าวฉาน ผู้ปกครองสุดเครียด เหตุเด็กเล็กเรียนไม่รู้เรื่อง ต้องทำงานนอกบ้าน

อ่านรายละเอียด : นักวิชาการเสนอหยุดเรียนทั่วประเทศ 1 ปี เหตุเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ งานวิจัยชี้เด็กเครียด ทำโดดเรียนกว่า 20%

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การให้เด็กหยุดเรียนคงไม่ใช่ทางออก เพราะขณะนี้อยู่ในสถานการณ์การเรียนทางไกลแบบฉุกเฉิน ขณะที่ตัวโครงสร้างการเรียนการสอนของประเทศ และนักเรียนยังไม่พร้อม อีกทั้ง การเรียนการสอนทุกวันนี้ ไม่ใช่การเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบที่แท้จริง แต่เป็นการเรียนปกติโดยใช้ช่องทางออนไลน์เข้ามาช่วย จึงเกิดปัญหาขรุขระ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ ไม่ใช่ให้เด็กหยุดเรียน หรือปิดเทอมแบบยาว แต่ต้องคิดใหม่ และปรับตัว ให้โรงเรียนออกแบบหลักสูตร และตารางสอนใหม่ ที่ผ่านมาโรงเรียนไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ เพราะคิดว่าเรียนออนไลน์แค่ระยะเวลาสั้นๆ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่การงด หรือหยุดเรียนเลย เพราะทุกประเทศต้องปรับตัว ปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

Advertisement

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากจะให้หยุดเรียน สามารถทำได้กับระดับอุดมศึกษา กรณีที่นิสิต นักศึกษาไม่พร้อม หรือมีปัญหากับการเรียนในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจเปิดช่องให้หยุดเรียนชั่วคราว และกลับมาเรียนเมื่อพร้อมในปีถัดไป แต่การจะทำเช่นนี้ มหาวิทยาลัยต้องช่วยโดยเว้นค่าเล่าเรียนในช่วงเวลาดังกล่าวให้กับนิสิตนักศึกษา แต่ไม่ใช่การให้หยุดเรียนเป็นภาพรวมทั้งประเทศ

“เท่าที่สำรวจ พบว่าเด็กระดับมัธยมจำนวนไม่น้อยมีปัญหา ทั้งเรื่องการเรียนออนไลน์ และปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว บางคนหายไปจนครูต้องไปตามตัว และพบว่ามีปัญหา บางรายขอลาออก ทำให้เด็กออกกลางคันพุ่งสูงขึ้น ส่วนเด็กมหาวิทยาลัย จะพบในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) เพราะส่วนใหญ่ ทำงานพิเศษเพื่อส่งตัวเองเรียน เมื่อเชื้อโควิด-19 ระบาดหนัก งานพิเศษที่เคยทำก็หาย ทำให้ขาดสภาพคล่องตามไปด้วย ” นายอรรถพล กล่าว

 นายรัฐกรณ์ คิดการ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการคณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.นครราชสีมา กล่าวว่า การหยุดเรียน 1 ปี ทำได้ยาก มองว่าควรจะปรับเปลี่ยนกระบวนการสอน เนื้อหาสาระที่จะเรียน เพราะขณะนี้ยังจัดการเรียนการสอนเหมือนเดิม โดยจะเน้นสอนด้านวิชาการเหมือนเดิมไม่ได้ เห็นว่าไม่ควรหยุดการเรียนการสอน แต่ควรจะปรับเปลี่ยนมาตรฐานตัวชี้วัด หรือเนื้อหาสาระต่างๆ เปลี่ยนจุดเน้นของการเรียนการสอน โดยพักเนื้อหาวิชาการไว้ก่อน มาสอนด้านทักษะชีวิต ทักษะซอฟต์สกิลต่างๆ สอนระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เพราะหากจะหยุดเรียนเลย จะมีคำถามตามว่าหยุดเรียนไปทำอะไร

Advertisement

นายรัฐกรณ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการเรียนการสอนที่เน้นวิชาการ และละเลยเรื่องระเบียบวินัย ทำให้คนไทยขาดระเบียบวินัย ดังนั้น เมื่อต้องปรับตัวเรียนออนไลน์ อาจไม่ประสบผลสำเร็จ สาเหตุที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี ที่สำคัญแม้จะมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี แต่คนไทยอาจไม่มีความรับผิดชอบ และระเบียบวินัยมากพอ ดังนั้น ถ้าสามารถปลูกฝังให้เด็กมีวินัย มีความรับผิดชอบ จะทำให้เด็กอยู่รอดในสังคม และนำสิ่งเหล่านี้ไปต่อยอดเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เพราะยุคนี้ความรู้ไม่ใช่สิ่งสำคัญแล้ว แต่จะนำความรู้ มาคิดวิเคราะห์ และมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

“ส่วนนักเรียนจะเรียนออนไลน์ต่ออีกนานเท่าไหร่นั้น มองว่าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล ถ้ายังจัดการไม่ได้ การเรียนออนไลน์ก็อาจลากยาวไปอีก อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าขณะนี้การศึกษาไทย โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการรวมศูนย์ และบริหารโดย ศธ.ในความจริงแล้ว สถานศึกษาทั้งประเทศแตกต่างหลากหลายอย่างมาก แต่ ศธ.ยังใช้มาตรการ และนโยบายเดียวกันทั้งมหดในการบริหารโรงเรียน ถ้า ศธ.ให้อำนาจแต่ละท้องถิ่น แต่ละพื้นที่บริหารจัดการเรียนการสอนกันเอง โดยไม่ต้องรอคำสั่งจาก ศธ.ให้ ศธ.ตั้งเป้าหมายอย่างเดียว และกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องการพัฒนาคนให้มีทักษะอะไรบ้าง” นายรัฐกรณ์ กล่าว

 ด้านนายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะให้เด็กหยุดเรียนไปเลย เพราะขณะนี้เรียนมาจนเกือบครบภาคเรียนที่ 1/2564 แล้ว ทั้งนี้ นักเรียนโรงเรียนเอกชนมีปัญหาการเรียนออนไลน์เช่นเดียวกับนักเรียนสังกัด สพฐ.บางพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์สื่อสาร และอินเตอร์เน็ต ที่ยังไปไม่ค่อยถึง ก็ต้องแก้ปัญหากันไปเป็นจุดๆ ตามบริบทของแต่ละแห่ง

“การให้เด็กหยุดเรียนไปเลย คงไม่ใช่ทางออก แต่ต้องปรับเรื่องการวัดประเมินผล ให้วัดเฉพาะสิ่งที่เด็กรู้ วันนี้การเรียนการสอนบางแห่งยังสอนแบบเลคเชอร์ เรียน 8 กลุ่มสาระตามเดิม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง โรงเรียนรัฐ และเอกชน ควรบูรณาการปรับการสอนร่วมกัน โดยเน้นวัดผล และปรับวิธีการสอนให้สอดคล้องกับสิ่งที่เด็กควรรู้ เช่น ป.1 เด็กควรอ่านออก เขียนได้ ก็วัดตรงจุดนั้น ไม่ใช่วัดผลเหมือนเรียนในห้องเรียน ขณะนี้ควรเริ่มหารือว่าเทอม 2 หากการแพร่ระบาดยังวิกฤตหนัก เปิดสอนไม่ได้ จะร่วมมือกันในเรื่องใดบ้าง เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาให้ดีขึ้น” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นชอบตามที่ สพฐ.เสนอแนวทางลดภาระครู และนักเรียน จากที่ สพฐ.จัดโครงการต่างๆ ลงให้โรงเรียนปฏิบัติรวมน 225 โครงการ ยังไม่รวมกิจกรรมที่ต้องประเมิน และรายงานผลการดำเนินการอีกจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อสร้างความผ่อนคลาย และไม่ให้ครูเครียด จะชะลอโครงการ และการประเมินต่างๆ ออกไป เพื่อให้ครูสอนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังปลดล็อกระเบียบการใช้เงินอุดหนุน ให้ครูเบิกจ่ายงบประมาณใช้ในการเรียนการสอนได้รวดเร็วมากขึ้น โดย ศธ.เตรียมแถลงรายละเอียดวันที่ 16 สิงหาคมนี้

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ทั้งนี้ ยังได้กำหนดแนวปฏิบัติครั้งนี้ เพื่อให้การทำงานยืดหยุ่น อาทิ จากเดิมการเรียนการสอนมี 8 กลุ่มสาระวิชา และต้องสอนทุกตัวชี้วัด นับชั่วโมงเรียน มีสอบย่อย สอบกลางภาค สอบปลายภาค แต่ในช่วงการแพร่ระบาด จะเน้นการสอนวิชาหลัก ส่วนวิชาอื่นให้บูรณาการร่วมกันให้เข้ากับวิถีชีวิตของนักเรียน ให้ครู และผู้ปกครอง ร่วมกันส่งเสริม และพัฒนาการเรียนรู้ให้นักเรียน ส่วนการบ้านให้มีเท่าที่จำเป็น นับเวลาเรียนเมื่อนักเรียนเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ให้เน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอบ เป็นต้น คาดว่าจะช่วยลดความเครียดให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองได้

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาด ในภาคการเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้นักเรียน และนักศึกษาทุกคนทุกกลุ่ม ทั้งรัฐ และเอกชน ทั้งใน และนอกสังกัด ศธ.รวม 10,952,960 คน โดยช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคนนั้น อยู่ในขั้นตอนการประสานงานระหว่าง ศธ.และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อ ศธ.ได้รับเงินแล้ว จะโอนไปให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เพื่อส่งต่อไปให้โรงเรียน และส่งถึงมือผู้ปกครองโดยตรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image