‘ตรีนุช’ เผยผลประเมินเรียนออนไลน์ เด็กเครียด ขาดความสุข เข้าใจเนื้อหาลดลง

‘ตรีนุช’ เผยผลประเมินเรียนออนไลน์ เด็กเครียด ขาดความสุข เข้าใจเนื้อหาลดลง

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ศธ.ได้จัดทำโครงการที่เรียกว่ากระบวนการประเมินแบบเร่งด่วน (Rapid Appraisal) โดยมีอาสาสมัครครูและนักประเมินมากกว่า 250 คน จากทุกภูมิภาคในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ขณะนี้กลุ่มอาสาสมัครครูนักประเมินได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลและรายงานผลการประเมินตามข้อมูล รอบที่ 1 มาถึงส่วนกลางเรียบร้อยแล้ว จากข้อมูลที่ได้จากนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการเรียนสอนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนการสอนในช่วงปกติ พบว่า ผลกระทบของผู้เรียนสามารถเข้าถึงการจัดการเรียนการสอนได้ในระดับปานกลางถึงมาก แต่ประสิทธิภาพที่เกิดจากการเรียนการสอนในช่วงนี้มีค่าเฉลี่ยลดลงเป็นส่วนใหญ่ ทั้งในด้านความรู้และพฤติกรรมการเรียน ด้านสุขภาวะทางร่างกาย สุขภาวะทางจิตใจ และทักษะทางสังคม ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองมากขึ้น แต่ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน ความเอาใจใส่ ความรับผิดชอบต่อการเรียน รวมถึงความสุขในการเรียนและการทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลให้เกิดความเครียดตามมา โดยผู้เรียนได้สะท้อนความคิดเห็นและความต้องการว่าอยากจะกลับไปเรียนในห้องเรียนมากกว่าเรียนออนไลน์ และต้องการให้จัดการเรียนการสอนเฉพาะวิชาที่จำเป็น ลดการบ้าน ปรับเนื้อหาการเรียน เพิ่มสื่อการสอนให้ทันสมัย และอยากให้มีการสนับสนุนอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า สำหรับด้านผลกระทบของผู้ปกครอง สะท้อนว่า มีความพึงพอใจในการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในระดับปานกลาง โดยผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผลกระทบในด้านค่าใช้จ่าย มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการเรียนออนไลน์ เช่น การซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ค่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงสถานการณ์ปกติ การดูแลบุตรหลานที่เข้าเรียนออนไลน์ก็ส่งผลต่อความสามารถในการประกอบอาชีพเช่นกัน รวมถึงผู้ปกครองบางส่วนมีความเครียดและความกังวลจากการถูกปรับลดชั่วโมงการทำงาน ให้หยุดงาน หรือเลิกจ้าง โดยผู้ปกครองไม่มีเวลาในการดูแลบุตรหลานขณะเรียนออนไลน์ได้ตลอดเวลา ถึงแม้บางท่านจัดสรรเวลาได้ แต่ก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือในด้านเนื้อหาการเรียนกับผู้เรียนได้เท่าครู นอกจากนี้ สถานที่เรียนออนไลน์ยังมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย มีปัญหาด้านสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นข้อจำกัด และยังมีข้อกังวลว่าผู้เรียนจะไม่สามารถจัดสรรเวลาในการเรียนได้ เนื่องจากติดเครื่องมือการสื่อสารมากเกินไป ทำให้กระทบไปถึงการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระงานบ้าน ผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงต้องการให้มีการเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนตามปกติ โดยมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องการให้มีระบบหรือช่องทางการมีส่วนร่วมในการกำกับ ติดตาม ให้ความช่วยเหลือผู้เรียนและผู้ปกครองอย่างทั่วถึงด้วย

และในส่วนสุดท้ายคือการเก็บข้อมูลผลกระทบของครู โดยผลการวิเคราะห์ความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนนั้น พบว่า ครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามแผนการสอนที่กำหนดไว้ ประมาณ 60-70% ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนที่ครูเห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์นี้ พบว่า การสอนแบบ On-Hand มีความเหมาะสมกับผู้เรียนระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษา เนื่องจากผู้เรียนจะได้ทำกิจกรรมผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และเหมาะสมกับช่วงวัย ในส่วนของการเรียนการสอนแบบ Online เหมาะสมกับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากเข้าถึงผู้เรียนได้มาก รวดเร็ว และสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนได้ ส่วนการเรียนในระดับอาชีวศึกษานั้น การสอน On-Site และ Online สลับกัน มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากต้องมีการฝึกปฏิบัติโดยใช้เครื่องมือเฉพาะทางด้วย นอกจากนี้ ครูยังเห็นว่าต้องมีการพัฒนาทักษะเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านทักษะดิจิทัล จิตวิทยาเด็ก การออกแบบการเรียนรู้ เทคนิคการสอนการจัดทำสื่อการสอนออนไลน์ รวมถึงทักษะด้านภาษาอังกฤษ ในท้ายที่สุด หากสถานการณ์การแพร่ระบาดลดลง ครูก็มีความคิดเห็นสอดคล้องกับผู้ปกครองว่า ต้องการให้มีการเปิดการเรียนการสอนแบบปกติให้เร็วที่สุด เพื่อให้สามารถจัดการสอนได้เต็มศักยภาพ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และมีความสุขกับการเรียนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การเปิดเรียนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดจนกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ
“ขณะนี้ดิฉันได้รับทราบข้อมูลตามโครงการการประเมินแบบเร่งด่วน (Rapid Appraisal) จากอาสาสมัครครูนักประเมิน (Rapid Appraisal Volunteer : RAV)” ที่ได้เก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก สามารถสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนการสอนในช่วงปกติได้อย่างชัดเจนและเชื่อถือได้  โดยหลังจากนี้ ศธ. จะนำข้อมูลดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขมาตรการการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นกับนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ตลอดจนมีความเหมาะสมกับแต่ละบริบทของพื้นที่โดยเร่งด่วนต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image