บอร์ด สมศ.ไฟเขียวประเมินภายนอกใหม่ เคาะปรับรูปแบบ-วิธีการ เริ่มปี’66

ไฟเขียวประเมินภายนอกใหม่ บอร์ด สมศ.เคาะปรับรูปแบบ-วิธีการ จัดเกรดผู้ประเมิน 3 ระดับ เริ่มปี’66

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ รักษาการประธานคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ สมศ.เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นชอบตามที่ สมศ.เสนอปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก ปีการศึกษา 2565 ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน โดยจะใช้การประเมินออนไลน์เข้ามาช่วย สิ่งที่ต้องปรับครั้งใหญ่คือทักษะของผู้ประเมิน ไม่เน้นการตรวจเอกสาร เน้นการสัมภาษณ์ วิเคราะห์เอกสาร และพูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง มากกว่าที่จะไปตรวจสอบความถูกผิดตามตัวชี้วัดในเอกสารเท่านั้น

“รวมถึง เห็นชอบแนวคิดคุณภาพใน 8 องค์ประกอบ คือ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน นักเรียน อาคารสถานที่ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ระบบการบริหารจัดการและการบริการ และการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน” ดร.เอกชัย กล่าว

ดร.เอกชัยกล่าวอีกว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการจัดทำตัวชี้วัดการประเมินคุณภาพภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อยู่ระหว่างยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน โดยจะต้องนำแนวคิดนี้ไปปรับให้สอดคล้องกับลักษณะงาน จากนั้นเสนอให้ที่ประชุม สมศ.พิจารณาเห็นชอบ ก่อนประกาศใช้ล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ปี ดังนั้น คาดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะสามารถใช้ได้ในปี 2566

“การประเมินจากนี้จะต้องมีความชัดเจน โดยต้องมีคำอธิบายการให้คะแนน และผู้ประเมินทุกคน ต้องเขียนผลประเมินส่วนตัว จากนั้นจะนำมารวมเล่ม เพื่อส่งให้ สมศ.พิจารณา จากเดิมที่ผู้ประเมิน 3 คน ส่งผลประเมินรวมเล่มเดียว แล้วเซ็นชื่อเท่านั้น การทำเช่นนี้ เพื่อจะได้รู้ว่าผู้ประเมินคิดอย่างไร และได้เห็นการทำงานของผู้ประเมินทั้ง 3 คน ซึ่งไม่ใช่การเพิ่มภาระให้กับผู้ประเมิน เพราะมีการเพิ่มค่าตอบแทน จากเดิมได้โรงเรียนละ 5 พันบาท อัตราใหม่จะปรับขึ้นเป็นโรงเรียนละ 8 พันบาท” ดร.เอกชัย กล่าว

Advertisement

ดร.เอกชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จะจัดเกรดผู้ประเมิน แบ่งเป็น ผู้ประเมินที่ทำได้เหนือมาตรฐาน ผู้ประเมินที่ทำได้ตามมาตรฐาน และผู้ประเมินที่ต้องปรับปรุง หากปรับปรุงแล้วยังไม่ได้มาตรฐาน อาจถูกถอนใบอนุญาตผู้ประเมิน คนที่ทำได้เหนือมาตรฐาน จะเป็นเทรนเนอร์ผู้ประเมินใหม่ ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่วางไว้แล้ว รวมถึง กำหนดรหัสผู้ประเมิน ตามระดับการประเมิน หากโรงเรียนใดไม่พอใจผู้ประเมิน โรงเรียนก็มีสิทธิขอเปลี่ยนผู้ประเมินด้วย ทั้งนี้ การให้ผู้รับบริการช่วยคัดเลือก เพื่อจะได้มีแต่ผู้ประเมินที่มีคุณภาพ

ดร.เอกชัยกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางดังกล่าว และจะเริ่มใช้ในปี 2566 โดยคณะกรรมการ สมศ.กำหนดกรอบการทำงานให้คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ยกร่างหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินในแต่ละระดับ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565 เพื่อให้ทันประกาศใช้ภายในปี 2566

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image