ร.ร.เอกชน อ่วมเลิกจ้างครูกว่า2หมื่น ลดเงินเดือน50%-จ่อปิดตัวกว่าพันแห่ง

ร.ร.เอกชน อ่วมเลิกจ้างครูกว่า2หมื่น ลดเงินเดือน50%-จ่อปิดตัวกว่าพันแห่ง จี้‘เลขาฯกช.’เร่งแก้-วอนรัฐหนุนงบเพิ่ม

นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ตามที่ตนได้เกษียณอายุราช วันที่ 1 ตุลาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งนายพีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการสภาการศึกษา มาเป็นเลขาธิการกช. นั้น ส่วนตัวไม่กังวลเพราะนายพีรศักดิ์ เคยเป็นรองเลขาธิการกช. ถือเป็นลูกหม้อ ทำงานในส่วนนี้ได้อยู่แล้ว สิ่งที่อยากให้สานต่อ คือ การจัดทำข้อมูลสานสนเทศ ควบรวมข้อมูลโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ทั้งในและนอกระบบ ทั้งนี้ การกระจายอำนาจที่ผ่านมา ทำให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไม่มีคนในพื้นที่ ถูกถ่ายโอนการทำงานไปอยู่กับศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ดังนั้นการดูแลโรงเรียนในแต่ละพื้นที่จึงอาจยังไม่ทั่วถึง ขณะที่สช.ส่วนกลาง ก็เน้นดูแลเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่กทม. เป็นหลัก ถ้ามีข้อมูล ก็จะสามารถกำหนดกลไกในการเข้าไปดูแลโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ยังอยากให้ความสำคัญกับโรงเรียนนอกระบบ ซึ่งเมื่อการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลายลง ประชาชนจำนวนมากจะตกงาน โรงเรียนนอกระบบเหล่านี้สามารถเป็นกำลังสำคัญในการฝึกอาชีพให้ประชาชน เพราะมีทั้งกำลังคน และหลักสูตรฝึกอาชีพที่ทันสมัยหลายพันหลักสูตร แต่รัฐต้องจัดหางบประมาณเข้ามาช่วยโรงเรียนเหล่านี้ให้มากขึ้น ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการประสานงานเอกชนนอกระบบ (กศ.กช.) อยากให้ทำงานพัฒนาโรงเรียนนอกระบบผ่านคณะกรรมการขุดนี้ให้เกิดประโยชน์
“ส่วนการจัดการกับโรงเรียนที่ดำเนินการไม่ถูกต้องหรือโรงเรียนเถื่อนก็ต้องเดินหน้าต่อไป โดยจะต้องทำในเชิงรุกมากขึ้น ที่ผ่านมา สช.ยังทำงานแบบตั้งรับ รอให้มีคนมาร้องเรียนค่อยเข้าไปตรวจสอบ และดำเนินการตามขั้นตอน จากนี้ควรต้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะเท่าที่ดูยังมีโรงเรียนเถื่อนที่เปิดสอนไม่ถูกต้องอีกกว่า พันโรงเรียนกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องคนที่อยู่ในกติกาและประชาชนไม่ให้ได้รับความเสียหาย”นายอรรถพล กล่าว
ด้าน นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า ส่วนตัวคาดหวังว่านายพีรศักดิ์ จะช่วยสานต่อนโยบายของนายอรรถพลที่ยังทำไม่สำเร็จหลายเรื่อง เช่น การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนเอกชน เป็นต้น
“ปัญหาของโรงเรียนเอกชนที่พบ ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 คือ การขาดสภาพคล่อง หากภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ยังไม่สามารถเปิดเรียนได้ ผู้ปกครองก็จะยังไม่ยอมจ่ายค่าเทอม ขอฝากรัฐบาลเร่งหาทางช่วยเหลือด้วย เพราะตอนนี้มีโรงเรียนเอกชนเดือดร้อนหนักถึงขั้นอาจจะปิดตัวมากกว่า 1,000 แห่ง และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ผมกังวลว่าโรงเรียนเอกชนไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะโรงเรียนไม่มีเงินเหลือแล้วต้องหาทางรอดโดยการลดเงินเดือนครู 10-50% และจากข้อมูลปัจจุบันพบว่าโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศต้องเลิกจ้างครูและบุคลากรเพื่อรักษาสภาพคล่องมากกว่า 20,000 รายอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนอย่างเร่งด่วน” นายศุภเสฏฐ์ กล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image