ชุดนักศึกษา มุมมอง…มิติ อำนาจ-ชนชั้น

ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดกระแสดราม่าเรื่องการแต่งกายของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดราม่าที่ว่ามาจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ @atdadvei7 ที่แชร์ภาพนักศึกษาในห้องเรียนที่ส่วนใหญ่อยู่ในชุดไปรเวต พร้อมข้อความระบุว่า

“ที่ธรรมศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า การแต่งตัวอย่างไรมาเรียน ไม่มีผลกับสาระการศึกษา การรับรู้ ความตั้งใจเรียน หรือเกรดเฉลี่ย”

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ดังกล่าวระบุอีกว่า “การควบคุมคนแม้แต่ในเรื่องส่วนตัว เช่น ต้องแต่งตัวยังไง ต้องตัดผมทรงอะไร มันเป็นการปลูกฝังให้คนยอมรับอำนาจอย่างไม่มีเงื่อนไข พอโตมา ก็เชื่องเชื่อคำสั่งตามอำเภอใจผู้มีอำนาจว่าคือกฎหมาย เพราะตั้งแต่เด็กก็ถูกฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งที่ไม่มีเหตุผลมาตลอดอยู่แล้ว”

นั่นทำให้ประเด็น “นักศึกษา ไม่ใส่ชุดนักศึกษา” เป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง ขณะที่ “ลูกแม่โดม” หลายคน ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันได้แต่มองบน

Advertisement

ก่อนพึมพำในใจ “ก็เห็นแบบนี้อยู่ทุกวัน” (ดราม่ากันทำไม)

เพราะตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยวินัยนักศึกษา ข้อที่ 13 บัญญัติว่า “ให้นักศึกษาแต่งกายสุภาพเหมาะสมแก่กาละเทศะ หรือ แต่งเครื่องแบบนักศึกษา”

ทีมข่าวมติชน ต่อสายตรงเพื่อพูดคุยกับ ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ถึงประเด็นนี้ ที่ “จุด” เมื่อไหร่ ก็ “ติด” เมื่อนั้น

Advertisement

ปัจจุบัน ผศ.ดร.ยุกติเป็นอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. อดีตนักศึกษาปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. และปริญญาโทคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.ให้ความเห็นว่า ถ้าถามว่าการบังคับเรื่องการแต่งตัว การใส่เครื่องแบบ มีผลต่อการศึกษา ต่อความคิดความอ่านของนักศึกษา หรือไม่นั้น จะบอกว่าไม่มีก็ไม่ถูก เพราะในแง่หนึ่งมันมีผล และในความคิดของผมมันมีผลเสียมากกว่าผลดี

“การที่จะเรียนรู้ได้ดี ก็ต่อเมื่อมันมีอิสระเสรีภาพในการที่ให้นักเรียนนักศึกษาสามารถคิดอะไรได้ ดังนั้น ผมคิดว่าการศึกษาโดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย มันเป็นการศึกษาที่เรียกร้องให้นักศึกษาสามารถคิดอ่านได้อย่างอิสระ ดังนั้น การไปบังคับแม้กระทั่งว่าจะแต่งตัวยังไง ใส่เสื้อสีอะไร ยิ่งเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งผมมองว่ามันมีผลเสียต่อการศึกษา”

“อีกทั้งในส่วนของการสวมชุดนักศึกษาก็มองได้ 2 ด้าน ด้านหนึ่ง เป็นอำนาจภายนอกที่มาบังคับ เราจะเห็นข้อจำกัดของชุดนักศึกษา อย่างกระโปรงต้องมีความยาวเท่านี้ กางเกงจะต้องเป็นแบบนี้ ต้องใช้ผ้าแบบนี้ เป็นการจัดระเบียบให้กับตัวคน ทำให้ร่างกายถูกควบคุม อีกด้านหนึ่ง เครื่องแบบมันไปยกสถานะคนที่ใส่เครื่องแบบขึ้นมาด้วย คนที่ใส่ชุดนักศึกษาก็จะหมายถึงคนที่มีการศึกษา มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าคนอื่น

ในแง่หนึ่งเรื่องนี้ก็เป็นผลเสีย ที่ทำให้คนเรียนหนังสือเข้าใจไปว่าตนเองมีสถานะที่สูงกว่าและแตกต่างจากคนอื่น เป็นการปลูกฝังสิ่งที่ไม่ดี ในระยะยาวก็จะส่งผลให้สังคมมีความรู้สึกมีความเป็นชนชั้นว่าคนที่ใส่ชุดนักศึกษาเท่านั้น คนที่มีสัญลักษณ์นี้เท่านั้นที่จะมีสถานะที่สูง”

ผศ.ดร.ยุกติบอกอีกว่า สำหรับสังคมโลกก็มีทั้งประเทศที่เจริญแล้วและยังไม่เจริญที่ไม่ใส่เครื่องแบบ โดยเฉพาะเครื่องแบบนักศึกษา สำหรับเครื่องแบบนักเรียนประเทศที่เจริญแล้วหลายประเทศก็ไม่บังคับให้ใส่แล้ว แต่ก็มีบ้างบางประเทศ เช่นญี่ปุ่นที่บังคับให้ใส่ชุดนักเรียน แต่ชุดนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมีน้อยประเทศมากที่ยังบังคับอยู่ อย่างมีหลายคนพูดถึงประเทศเวียดนามว่าบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาอยู่ แต่จริงๆ แล้วไม่มีนะครับ ประเทศเวียดนามไม่มีการบังคับนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องชุดนักศึกษากับสังคมไทยมีการพูดกันมานานแล้วและพูดถึงมากมายหลายครั้ง แต่กรณีภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่สวมชุดนักศึกษาเข้าเรียน แล้วมีผู้ให้ความสนใจมีการแชร์ต่อเป็นแสนครั้ง เป็นการสะท้อนอะไรบางอย่าง ซึ่ง ผศ.ดร.ยุกติให้ความเห็นว่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าอาจจะมีกระแสที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ที่ทำให้คนรู้สึกว่าทำไมเรายังย่ำอยู่กับที่ หยุดอยู่กับที่

เราควรจะปล่อยเรื่องการแต่งกายได้แล้วหรือเปล่า

สำหรับนักศึกษาที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็น่าจะมีอิสระในการแต่งตัว สามารถใช้ความคิดด้วยตัวเองได้ว่าการแต่งกายแบบไหนที่จะเหมาะสมสำหรับการเรียนหนังสือ

“ผมคิดว่ามันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเปิดรับเรื่องพวกนี้มากขึ้นแล้วหรือเปล่า ถ้าถามว่าถึงเวลาที่ภาคการศึกษาไทยควรจะต้องทบทวนอะไรบางอย่างหรือไม่ ผมก็คิดว่าจริงๆ แล้วมันถึงเวลาที่ควรจะต้องทำมาตั้งนานแล้ว และไม่ใช่แค่เรื่องนี้ เพราะการแต่งกายก็เป็นส่วนประกอบของเรื่องอื่นๆ ถ้าพูดถึงเรื่องสังคมของนักศึกษา สังคมในการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมันมีหลายเรื่องที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน เรื่องชุดนักศึกษา ที่มีแล้วควรจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ ถ้าไม่อยากจะยกเลิกไปเลย ขณะเดียวกันควรจะทำไปพร้อมๆ กับการดูแลเรื่องการรับน้อง ที่ต้องยกเลิกระบบการใช้ความรุนแรง ระบบโซตัส

“เพราะทั้งหมดมันเป็นองค์ประกอบของระบบอำนาจนิยมที่มันอยู่ในระบบการศึกษาไทย ที่มาควบคุมคนที่มาเรียนหนังสือ” ผศ.ดร.ยุกติทิ้งท้าย

ด้าน อ.ญาณิศา บุญประสิทธิ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. กล่าวว่า การไม่ใส่ชุดนักศึกษามาเรียนไม่เป็นปัญหาที่ธรรมศาสตร์ เพราะนักศึกษาของเราสามารถเรียนและนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพได้ คิดว่าการไม่ใส่ชุดนักศึกษาไม่ใช่ปัญหา ใครจะมองว่าเป็น น.ศ.ก็ต้องใส่ชุด น.ศ.สิ นั่นเป็นทรรศนะส่วนบุคคล แต่ละคนก็มีแตกต่างกัน ขณะที่หากมีงานพิธีการ วันสอบ หรือมีวาระที่ต้องใส่ น.ศ.ธรรมศาสตร์ก็พร้อม ไม่ใช่ว่าเราไม่ใส่กัน

อ.ญาณิศาเล่าย้อนถึงวันเป็นเฟรชชี่ มธ.ว่า ตอนปี 1 เราไม่ได้มองว่าประเด็นการใส่หรือไม่ใส่ชุดนักศึกษาเป็นประเด็นเท่าไหร่ มองแค่ว่าเราได้เข้ามาเรียนในสถาบันนี้ ควรโฟกัสที่หลักวิชาการและความรู้ที่เราได้รับมากกว่า

“ครูเรียนที่นี่ทั้งตรีและโท การใส่ชุดไปรเวตมาเรียนของเด็กธรรมศาสตร์เป็นสิ่งที่มีมาเนิ่นนานแล้ว เลยไม่รู้สึกแปลกอะไร ทั้งนี้ ประเด็นใดก็ตาม พอมันอยู่ในโซเชียล

มีเดีย มันก็มีการสะท้อนมุมมองที่แตกต่างกัน เลยมีโอกาสที่ความเห็นใดความเห็นหนึ่งจะถูกเชียร์

“จริงๆ ดราม่าเป็นเรื่องปกติ เกิดจากการที่คนมีความเห็นต่างกัน และการที่แต่ละคนมีมุมมองแตกต่างกัน มันก็เป็นเรื่องปกติในสังคม” อ.ญาณิศาทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image