จี้ตั้งทีมยกร่าง พ.ร.บ.ศึกษาใหม่ หลังสภาเทโหวต ชี้เนื้อหา ‘ตกยุค-ถอยหลัง’

พ.ร.บ.การศึกษา ภาคประชาชน (4)

จี้ตั้งทีมยกร่าง พ.ร.บ.ศึกษาใหม่ หลังสภาเทโหวต ชี้เนื้อหา ‘ตกยุค-ถอยหลัง’ ไม่ตอบโจทย์ น.ร.-มีกลุ่มเดียวได้ประโยชน์

ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยกรณีที่ประชุมรัฐสภาล่ม ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ถูกเลื่อนไปลงมติในการประชุมสมัยหน้า ว่า ทราบว่าสาเหตุที่เลื่อนการลงมติออกไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ความสนใจอภิปรายจำนวนมาก ทำให้กินเวลานาน ไม่สามารถอภิปรายจบในวันดังกล่าวได้ ส่วนกังวลหรือไม่ว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะล่าช้าไปอีก มองว่าเดิมก็ล่าช้าอยู่แล้ว ดังนั้น แม้จะล่าช้าไปอีก 2 เดือน แต่มีข้อดี คือทำให้การพิจารณาต่างๆ รอบคอบมากขึ้น ขณะนี้ สกศ.ได้รวบรวมข้อมูลที่ ส.ส.อภิปราย ทั้งที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และข้อเสนอต่างๆ หากสภามีมติเห็นชอบหลักการ สกศ.ก็พร้อมเสนอข้อมูลให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อไป

ดร.อำนาจกล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมรัฐสภายังมีมติเห็นชอบหลักการให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ เสนอโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 1 ฉบับ และฉบับที่ ส.ส.เสนออีก 6 ฉบับ รวม 7 ฉบับ ซึ่งการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ ส.ส.ให้คืนอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายการบริหารงานบุคคลให้เขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ฉบับเดิม แต่ฉบับที่ ครม.เสนอ จะให้อำนาจการโยกย้าย และแต่งตั้งการบริหารงานบุคคล เป็นหน้าที่ของอนุกรรมการการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) จังหวัด ดำเนินการ ซึ่ง กมธ.การศึกษาฯ จะพิจารณาหาข้อสรุป

ด้าน ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวว่า ขอบคุณ ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ให้ความสำคัญกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ และสนใจอภิปรายจำนวนมาก แม้ว่าการลงมติรับหลักการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะล่าช้าออกไป 2 เดือนก็ตาม ทั้งนี้ อยากฝากว่าการประชุมสมัยหน้า ขอให้ ส.ส.และ ส.ว.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย ส่วนไหนที่ต้องการแก้ ขอให้พิจารณาแก้ไขในวาระ 2 และวาระ 3 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ

“อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผมเป็นหนึ่งในภาคประชาชนที่เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับประชาชนเข้าไปคู่กันด้วย หวังว่าถ้าสภามีมติรับหลักการแล้ว ขั้นตอนปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ในชั้น กมธ.การศึกษาฯ ขอให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปร่วมเสนอความคิดเห็นด้วย” ดร.วิสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เพราะยังมีจุดอ่อนอยู่หลายประเด็น ไม่ช่วยเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเลย ไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ และปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอนาคต โดยเฉพาะการศึกษาหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งการศึกษาจะเปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า เชื่อว่าสาเหตุที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกดันเข้าสภา เพราะรัฐบาลเคยรับปากว่าจะปฏิรูปการศึกษา และปฏิรูปตำรวจ แต่กินเวลามานานถึง 7-8 ปี ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าที่รัฐบาลให้คำมั่นนั้น ไม่เป็นความจริง ดังนั้น เมื่อรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสภา เหมือนเป็นการบอกประชาชนว่ารัฐบาลได้ทำตามที่ให้คำมั่นแล้ว

“ผมคิดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ช้าเกินไป ตกยุกสมัย ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของปัจจุบัน และอนาคต แต่ตอบโจทย์คนบางกลุ่มที่อาจจะได้รับผลประโยชน์เท่านั้น มองว่าขณะนี้เรากำลังปฏิรูปการศึกษาที่ถอยหลังสู่อดีต ไม่ใช่เดินหน้าสู่อนาคต ที่สำคัญคือไม่ตอบโจทย์พลวัตของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งคนกลุ่มนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ คิดว่าควรตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายฉบับนี้ใหม่ทั้งหมด ให้มีผู้แทนจากทุกฝ่ายเข้าร่วม โดยเฉพาะตัวแทนของนักเรียน และผู้ปกครอง เข้าร่วมด้วย เพราะกฎหมายฉบับเดิม ร่างโดยคนกลุ่มเดียวเท่านั้น ส่วนตัวผมอยากให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาให้เร็วที่สุด แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ตอบโจทย์การศึกษาใดๆ เลย” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image