ร.ร.เอกชนจี้รัฐหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยสภาพคล่อง เร่งวางแนวทางเปิดเรียนออนไซต์

ร.ร.เอกชนจี้รัฐหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยสภาพคล่อง เร่งวางแนวทางเปิดเรียนออนไซต์ มหา’ลัย วิกฤตให้ต่างชาติเทกโอเวอร์ วอน ช่วยอาจารย์-น.ศ.

กรณีโรงเรียนเอกชนทยอยทยอยปิดกิจการ เนื่องจากขาดสภาพคล่อง จากปัญหาเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 โดย 9 เดือนที่ผ่านมา โรงเรียนปิดกิจการแล้วกว่า 70 แห่ง และคาดว่าภาคเรียนที่ 2 จะปิดตัวลงอีกกว่า 100 แห่ง ขณะที่นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางช่วยเหลือ นั้น

อ่าน เผย 9 เดือน ร.ร.เอกชนปิดตัวแล้ว 70 แห่ง คาดเทอม 2 เปิดเรียนปกติไม่ได้ ปิดกิจการเพิ่มอีก 100 แห่ง

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่า ตนขอดูรายละเอียด  จำนวนข้อมูลโรงเรียนเอกชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจถึงขั้นต้องปิดตัว เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนกำหนดมาตรการช่วยเหลือต่อไป

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เคยหารือกระทรวงการคลัง หามาตรการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ขาดสภาพคล่อง ทั้งการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์ดลน แต่ก็มีปัญหาตรงที่สถาบันการเงินจะปล่อยให้เฉพาะลูกหนี้เดิมและเป็นจำนวนเงินที่น้อย ดังนั้นหากอยากให้ช่วยหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ได้โดยเร็ว ซึ่งเรื่องนี้มีการเจรจาและหารือมาเกือบ 2 ปีแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนอีกแหล่งหนึ่งคือ กองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่ให้กู้ได้สูงสุดรายละ 3 ล้านบาท แต่ก็ติดปัญหาเรื่องผู้ค้ำประกันซึ่งหากแก้ปัญหาได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้โรงเรียนเอกชนสามารถหาแหล่งเงินทุนเพิ่มได้

Advertisement

“สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด คือ ให้โรงเรียนสามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้โรงเรียนมีรายได้หมุนเวียน ขณะเดียวกันก็อยากให้ช่วยเรื่องเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชน เพราะตอนนี้ครูอยู่ได้โดยการลดเงินเดือนของตัวเอง แต่ก็เข้าใจเรื่องข้อจำกัด ดังนั้นสิ่งที่น่าจะทำได้เร็วที่สุดคือ เร่งหามาตรการเพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดเรียนแบบออนไซต์ได้โดยเร็วที่สุด” ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าว

ด้าน ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ในฐานะนายกสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้ขาดสภาพคล่อง ทั้งการปรับลดค่าเล่าเรียนบางส่วน ขณะที่นักศึกษาบางรายไม่สามารถจะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ปัจจัยที่จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถอยู่รอดได้ขึ้นอยู่กับระบบการบริหารเงินทุนสำรองว่ามีเหลือเก็บอยู่เท่าไร หากมหาวิทยาลัยใดมีทุนสำรองมาก ก็ถือว่ากระทบน้อยกว่าที่อื่น

“ถือเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีของมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะผู้ปกครองและนักศึกษาเอง ก็ได้รับความเดือดร้อน ขณะที่มหาวิทยาลัยเองยังต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายคงที่ ทั้งค่าจ้างอาจารย์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลให้ความช่วยเหลือ ในส่วนของค่าเทอม รายละ 5,000 บาท มหาวิทยาลัยเองก็สมทบช่วยในส่วนหนึ่ง เพื่อลดภาระนักศึกษาและผู้ปกครอง ผมเองไม่อยากขอความช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณ เพราะรู้อยู่แล้วว่าตอนนี้เองภาครัฐก็ลำบาก แต่หากเป็นไปได้อยากให้หามาตรการช่วยเหลืออาจารย์และนักศึกษา เพื่อลดภาระในเรื่องต่าง ๆเรื่องนี้มีผลกระทบในวงกว้าง ส่วนตัวเลขมหาวิทยาลัยที่ปิดกิจการนั้น ยังไม่ชัดเจน แต่เท่าที่ทราบมีบางแห่งให้ต่างชาติเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการบ้างแล้ว ส่วนจะเป็นที่ใดนั้นไม่สามารถบอกได้ ” นายพรชัยกล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image