วอนรัฐอุดหนุนรายหัวเพิ่ม 3 พันบ.ช่วยเยียวยา ‘ผู้ปกครอง-อาชีวะเอกชน’

วอนรัฐอุดหนุนรายหัวเพิ่ม 3 พันบ.ช่วยเยียวยา ‘ผู้ปกครอง-อาชีวะเอกชน’ เหตุโควิดทำยอดค้างค่าธรรมเนียมพุ่ง

ดร.อดิศร สินประสงค์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) เปิดเผยว่า กรณี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เดินหน้ายกระดับคุณภาพสถานศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งรัฐ และเอกชน โดยให้ สอศ.เร่งปรับปรุงพัฒนาการอาชีวะเอกชนใน 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.การส่งเสริมสนับสนุนอาชีวะเอกชนให้จัดการอาชีวะระบบทวิภาคีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึง ครอบคลุมทุกวิทยาลัย 2.การพัฒนาครูอาชีวะเอกชน ต้องสนับสนุนทั้งด้านการฝึกอบรม และการนิเทศ และ 3.การจัดให้นักศึกษาอาชีวะเอกชนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติในสถานการณ์จริง ในพื้นที่จริง โดยการร่วมกิจกรรมศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน หรือ Fix it Center นั้น ชื่นชมรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่มีนโยบายพัฒนาอาชีวะเอกชน ที่ผ่านมาอาชีวะเอกชน และ สอศ.ได้วางแผนพัฒนาอาชีวะเอกชนร่วมกัน รวมถึง พัฒนาครู และสถานศึกษา ซึ่งขณะนี้เป็นเพียงแผน หวังว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะการพัฒนาครูอาชีวะเอกชนร่วมกันครูอาชีวะรัฐ เพราะหลายปีที่ผ่านมา ครูอาชีวะเอกชนไม่ได้รับการดูแล และพัฒนาจาก สอศ.

ดร.อดิศรกล่าวต่อว่า ประเด็นที่อยากให้ สอศ.พัฒนาอาชีวะเอกชนคือ การจัดการเรียนการสอน ที่ปัจจุบันอาชีวะเอกชนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้เท่าเทียมกับอาชีวะรัฐ เช่น การจัดสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ที่อาชีวะเอกชนมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทำให้จัดการเรียนการสอนวิชาชีพระยะสั้นไม่ได้ ขณะที่อาชีวะรัฐจัดการเรียนการสอนวิชาชีพระยะสั้นได้ โดยทำบันทึกความร่วมมือกับโรงเรียนรัฐ จัดสอนวิชาชีพระยะสั้นให้นักเรียนมัธยมในระดับชั้นต่างๆ หากนักเรียนเรียนจบแล้ว จะได้รับวุฒิบัตร ซึ่งนำไปเทียบความรู้เพื่อเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ต่อไปได้ จะทำให้มีโอกาสฝึกอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากวิงวอน สอศ.เร่งออกประกาศ สอศ.อนุญาตให้สถานศึกษาอาชีวะเอกชนจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น เพื่อพัฒนาคนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้

“ส่วนการสร้างศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชนให้อาชีวะเอกชนนั้น ที่ผ่านมา สอศ.มีศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชนตามวิทยาลัยต่างๆ ของรัฐ โดยอาชีวะเอกชนร่วมส่งครู และผู้เรียนไปเข้าร่วม มองว่าถ้าเป็นไปได้อยากให้ สอศ.จัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชนของอาชีวะเอกชนในบางพื้นที่ เพื่อขยายประสิทธิภาพ และเสริมศักยภาพของ สอศ.ไปด้วย อีกทั้ง อยากให้ สอศ.อนุมัติศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) โดยไม่ต้องให้งบประมาณสนับสนุนอาชีวะเอกชนก็ได้ เพราะต้องการประกาศให้ประชาชนทราบว่าอาชีวะเอกชนมีศักยภาพ มีประสิทธิภาพเทียบเท่าวิทยาลัยของรัฐ” ดร.อดิศร กล่าว

ดร.อดิศรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สร้างผลกระทบให้กับอาชีวะเอกชนอย่างมาก จากที่พูดคุยกับสถานศึกษาอาชีวะเอกชน พบว่า ผู้เรียนมียอดค้างชำระค่าธรรมเนียมการเรียนเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล เพราะสถานศึกษาไม่มั่นใจว่าในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จะเปิดเรียนในรูปแบบใด หากสถานศึกษาไม่สามารถเปิดเรียน On Site ได้ ผู้ปกครองก็ยังไม่มั่นใจที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน

Advertisement

“อยากขอวิงวอนให้รัฐช่วยสนับสนุนเงินเพื่อลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง โดยจ่ายเป็นเงินอุดหนุนการศึกษาจำนวน 3,000 บาทต่อภาคเรียน อาจจ่ายพร้อมกับเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนก็ได้ ถือเป็นการเยียวยา และลดภาระให้ผู้ปกครอง ทั้งยังลดภาระค่าใช้จ่ายของสถานศึกษาได้ด้วย” ดร.อดิศร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image