กมว.ผ่านร่างกม.จรรยาบรรณวิชาชีพ คาดชงบอร์ดคุรุสภาเคาะต้นปี’65

กมว.ผ่านร่างกม.จรรยาบรรณวิชาชีพ คาดชงบอร์ดคุรุสภาเคาะต้นปี’65 จี้ปรับระบบออก‘ตั๋วครู’ให้เสร็จใน1ปี

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมว.เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นด้วยในหลักการ (ร่าง) มาตรฐานวิชาชีพครูการศึกษาปฐมวัย ตามที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเสนอ และ (ร่าง) มาตรฐานวิชาชีพครูการศึกษาพิเศษ จากนี้ไปจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) กับผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาปฐมวัย และผู้ทรงคุณวุฒิทางการพิเศษจากหน่วยงานทางการศึกษาสังกัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง ที่ครอบคลุมถึงบุคลากรของหน่วยผลิตครู หน่วยงานผู้ใช้ครู และผู้ประกอบวิชาชีพครูทุกสังกัดต่อไป ก่อนจะสรุปข้อมูลเพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน พิจารณาต่อไป

นายเอกชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่างรายละเอียดจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อจัดทำร่างข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. … ประกอบด้วย จรรยาบรรณวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา จรรยาบรรณวิชาชีพครู และจรรยาบรรณวิชาชีพศึกษานิเทศก์ ซึ่งที่ประชุมแนะนำว่าไม่ควรกำหนดข้อห้ามทางจรรยาบรรณแบบเฉพาะเจาะจง ควรจะเขียนเชิงบวก และเป็นกรอบกว้างๆ คาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้ คุรุสภาจะนำร่างดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุป และเสนอให้คณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาต่อไป คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคุรุสภาพิจารณาภายในต้นปี 2565

“ที่ผ่านมา กมว.เป็นห่วงเรื่องการดำเนินการทางจรรยาบรรณที่ต้องรวดเร็ว โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นที่สนใจของสังคม เช่น คดีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สิงห์บุรี ใช้อาวุธปืนกราดยิงผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 4 ราย ก่อนจะชิงทองหนีไป หรือข่าวครูข่มขืน กระทำอนาจารเด็ก เป็นต้น ถ้า กมว.ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงแล้ว สามารถพักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบุคคลเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะหากรอผลการสืบข้อเท็จจริง จะใช้เวลานาน ประเด็นดังกล่าว กมว.ได้ทำหนังสือหารือไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับมาแล้วว่าสามารถทำได้ ดังนั้น ต่อไปหากเกิดกรณีครูอาจจะกระทำผิดจรรยาบรรณ ก็สามารถพักใช้ใบอนุญาตไว้ก่อนได้” นายเอกชัยกล่าว

นายเอกชัยกล่าวต่อว่า กรณีที่คณะกรรมการคุรุสภาให้เวลาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา 2 ปี ไปปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และการรับรองปริญญา และประกาศนียบัตรทางการศึกษา ให้เชื่อมโยงกับการสอบวิชาเอก ในการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู มองว่าระยะเวลา 24 เดือน หรือ 2 ปีนั้น ช้าเกินไป เชื่อว่าใช้เวลา 1 ปี ก็เพียงพอแล้วในการปรับปรุงระบบต่างๆ ทั้งนี้ ขอให้คุรุสภากำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนด้วย ว่าจะเริ่มสอบวิชาเอกกับผู้จบปีการศึกษาใด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image