ร่าง ‘พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้’ พลิกโฉมการศึกษานอกระบบ

ร่าง ‘พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้’ พลิกโฉมการศึกษานอกระบบ

สภาผู้แทนราษฎรไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … หลังรอนานกว่า 7 ปี ด้วยคะแนนเสียง 435 ต่อ 30 งดออกเสียง 2 ไม่ออกเสียง 1 และได้เห็นชอบกฎหมายสำคัญอีกหนึ่งฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … ด้วยคะแนน 532 ต่อ 38 เสียง งดออกเสียง 2 และไม่ออกเสียง 6
เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่ยังต้องจับตาต่อว่าจะมีการปรับแก้รายละเอียด เพิ่มเติมในส่วนใดอีกหรือไม่ ก่อนเข้าเสนอสภาเคาะอีกรอบในวาระ 2 และวาระ 3

ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … เป็นอีกหนึ่งกฎหมายใหม่ที่น่าสนใจ แม้อาจไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก แต่ถูกกำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และนโยบายรัฐบาล ที่กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาประชาชนทุกช่วงวัยโดยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาตนเองของประชาชน การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ และจัดให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทุกช่วงวัย

‘นางกนกวรรณ วิลาวัลย์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชี้แจงรายละเอียดว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งหมด 31 มาตรา สาระบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการตามระบบต่างๆ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในแต่ละช่วงวัย ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยชรา สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วไป กลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส และเป็นการจัดการเรียนรู้เพื่อมวลมนุษยชาติ ด้วยกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบ ได้แก่

Advertisement

1.การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีเป้าหมายให้บุคคลสามารถเรียนรู้และสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ในเรื่องที่ตนสนใจและถนัด เพื่อเพิ่มพูนความรู้ต่อตนเอง ก่อให้เป็นบุคคลที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยจัดการเรียนรู้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านการเรียนรู้ด้วยระบบออนไลน์หรือแหล่งการเรียนรู้ และการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน อีกทั้งส่งเสริมให้ภาคีเครือข่าย ชุมชน และครอบครัวมีส่วนในการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

2.การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประชาชนทุกช่วงวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยชรา เพื่อให้มีศักยภาพ ทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตามความถนัดของตน สร้างความรู้ความเข้าใจแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ในการดูแลบุตรหลานตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา สร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนในวัยทำงานให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพ พัฒนาอาชีพ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้สูงอายุเพื่อคงสภาพพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ และสมอง รวมถึงมีความรู้ทางโภชนาการและการดำรงชีวิตตามวัย ส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม สามารถเพิ่มพูนทักษะ (Up skills) ปรับเปลี่ยนทักษะ (Re skills) ในเรื่องที่ตนถนัดหรือสนใจ หรือเพื่อการประกอบอาชีพ พัฒนาอาชีพและการดำเนินชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขตามแต่ละช่วงวัย การจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัตินี้ จะทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่น มั่นคง และเข้มแข็งเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ

และ 3.การจัดการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ โดยมีเป้าหมายให้ผู้อยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้รับการศึกษาในระบบโรงเรียน หรือผู้ซึ่งพ้นวัยที่จะศึกษาในระบบโรงเรียน หรือผู้อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร หรือไม่มีหน่วยงานอื่นใด ไปดำเนินการให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดการเรียนรู้เพื่อให้ได้รับคุณวุฒิขั้นพื้นฐานด้านสามัญศึกษาหรืออาชีวศึกษา พัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนให้สอดคล้องกับพัฒนาการของโลกและความต้องการของผู้เรียน นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มีระบบการรับรองคุณวุฒิและเทียบระดับการศึกษาหรือระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) โดยให้สามารถเทียบระดับการศึกษา เทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์หรือสมรรถนะ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ในทุกรูปแบบการศึกษา

Advertisement

ถือเป็นการพลิกโฉมการศึกษานอกระบบครั้งใหญ่

โดย ‘ศ.สมพงษ์ จิตระดับ’ นักวิชาการด้านการศึกษา กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีข้อดี ยกฐานะสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ซึ่งถูกลดบทบาท เป็นหน่วยงานในสำนักงานปลัด ศธ. ขึ้นเป็น ‘กรม’ มีตัวตนเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการศึกษานอกระบบ การศึกษาพิเศษ ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ จะทำให้การจัดการศึกษามีความชัดเจน ทั้งระดับกรม จังหวัด พื้นที่และที่สำคัญทำให้ข้าราชการมีขวัญกำลังใจ

“กฎหมายฉบับนี้ถูกตีตกไปหลายรอบ สาเหตุที่ต้องเร่งผลักดัน เพราะการจัดการศึกษานอกระบบในปัจจุบันด้อยคุณภาพ เป็นการศึกษาสงเคราะห์ ถูกด้อยค่าไม่ให้ความสำคัญ กฎหมายฉบับนี้จะไม่ทำให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยบทบาทสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้มีเจ้าภาพหลักในการจัดการศึกษาให้คนไทยจำนวนมากที่หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี กว่า 9 แสนคน กลุ่มคนอายุ 25 ปีขึ้นไป อีกกว่า 20 ล้านคน ที่ต้องได้รับการศึกษาหรือต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพ ถือเป็นประชากร 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ขณะเดียวกันยังมีการทำเครดิตแบงก์ หรือธนาคารหน่วยกิต เปิดให้เทียบโอนระหว่างการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ การฝึกงาน ผลการปฏิบัติงาน มาเทียบโอนได้ ตรงนี้เป็นข้อดี” ศ.สมพงษ์กล่าว

ส่วนข้อควรระวัง คือ การดำเนินการต้องเข้าใจความหมาย การเรียนการสอน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการศึกษาทางเลือกให้ชัดเจน และอย่านำการศึกษากระแสหลักมาจับ เพราะจะทำให้คนกลุ่มนี้ปฏิเสธ อีกทั้งหลักสูตรจะต้องมีความแตกต่างหลากหลายเหมาะสมกับเด็กและบุคคลแต่ละกลุ่ม ที่สำคัญจะต้องให้ความสำคัญกับครูเร่ร่อนที่ถูกปล่อยทิ้ง ไม่ให้ความสำคัญ มีเพียงใจ ที่อยากช่วยเหลือสังคมจริงๆ โดยจะต้องทำให้ครูเหล่านี้ ได้รับการยอมรับและมีสวัสดิการที่เหมาะสม

ซึ่งภาพรวมแล้วร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือว่ามีความสำคัญต่ออนาคตการศึกษาของชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image