‘ปรานี’อดีตอจ.โบราณคดี ซาบซึ้ง’ศรีศักร’ให้เกียรติ เผยอีกฝ่ายคือผู้ก่อตั้งภาควิชามานุษยวิทยาตัวจริง

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม (ภาพเล็ก-เพศและวัฒนธรรม ผลงานศาสตราจารย์ ปรานี วงษ์เทศ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 โดยสำนักพิมพ์นาตาแฮก)

สืบเนื่องกรณีกระแสตอบรับการพิมพ์ครั้งที่ 3 ของหนังสือ ‘เพศและวัฒนธรรม’ ผลงาน ปรานี วงษ์เทศ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา อดีตอาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม ได้แสดงความเห็นตามที่ปรากฏในสกู๊ปหน้า 1 นสพ.มติชนรายวัน ประจำวันที่ 5 ต.ค. 59 ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันสังคมสนใจเรื่อง เพศสภาวะ มากขึ้น เริ่มมีความเข้าใจว่าความเป็นหญิงหรือชายไม่ได้ถูกกำหนดจากชีวภาพ ทั้งยังมีความหลากหลาย ซับซ้อน อีกทั้งกล่าวว่า หากไม่มี ปรานี วงษ์เทศ คณะโบราณคดีอาจยังไม่มีภาควิชามานุษยวิทยา และ ศรีศักร วัลลิโภดม อาจสอนอยู่ที่ ม.เชียงใหม่จนเกษียณอายุ เพราะผู้หญิงคนนี้คือผู้ก่อตั้งภาควิชามานุษยวิทยาหลังเรียนจบจาก ม.คอร์แนล สหรัฐอเมริกา ซึ่งในขณะนั้นตนสอนอยู่ที่ ม.เชียงใหม่ แล้วได้รับการชักชวนให้กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะโบราณคดีนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ศาสตราจารย์ปรานีกล่าวว่า ซาบซึ้งอย่างมากที่ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรให้เกียรติ โดยระบุว่าตนเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชามานุษยวิทยา แต่ความจริงแล้ว ตนซึ่งเป็นลูกศิษย์ได้เดินตามรอยที่ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักรปูทางไว้เท่านั้น

“ซาบซึ้งใจมากที่อาจารย์ศรีศักรยกย่องให้เกียรติขนาดนั้น ความจริงแล้วไอเดียทั้งหมดในการก่อตั้งภาควิชามานุษยวิทยาเป็นแนวคิดของอาจารย์ ดิฉันแค่ดำเนินรอยตามที่อาจารย์ปูทางไว้เท่านั้น” ศาสตราจารย์ปรานีกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร จากเว็บไซต์สมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรระบุว่า ในระยะแรกคณะโบราณคดีมีการสอนเฉพาะวิชาโบราณคดี แต่งานศึกษาในเรื่องสังคมวัฒนธรรมก็ปรากฏอยู่แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2514 เริ่มมีโครงการจัดตั้งภาควิชามานุษยวิทยา จนกระทั่ง พ.ศ.2517 มีการตั้งภาควิชามานุษยวิทยาอย่างเป็นทางการในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม และ ศาสตราจารย์ปรานี วงษ์เทศ เป็นผู้ริเริ่มวางแนวทางและหลักสูตรภาควิชามานุษยวิทยาที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการศึกษาทางด้านโบราณคดี ซึ่งงานศึกษาทางด้านประวัติและโบราณคดีเป็นลักษณะเด่นของมานุษยวิทยาวังท่าพระในยุคเริ่มต้น เช่น การเปิดวิชามานุษยวิทยามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาด้านชาติพันธุ์วรรณนา การเก็บข้อมูลของชุมชนทั้งสังคมชาวไร่ชาวนา สังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากกระแสการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย แต่ระยะเริ่มต้นบุคลากรยังมีน้อย และยังไม่ได้เรียนมาโดยตรง จึงเชิญอาจารย์พิเศษจากภายนอกมาช่วยสอนและพัฒนาบุคลากรในภาควิชามานุษยวิทยา

Advertisement

 

คณะโบราณคดี
ภาพจากเฟซบุ๊ก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image