รายงานพิเศษ : ผ่าปีแห่งวิกฤต ‘การศึกษา’ สารพัดปัญหาจ่อคิวรับปี ‘เสือดุ’

ผ่าปีแห่งวิกฤต ‘การศึกษา’ สารพัดปัญหาจ่อคิวรับปี ‘เสือดุ’

ผ่านพ้นปีฉลู 2564 ก้าวสู่ปีเสือดุ 2565 ประเทศไทยยังคงต้องสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เช่นเดียวกับทั่วโลก โดยในส่วนของ แวดวงการศึกษา เรียกว่าวิกฤตหนักมา 2 ปี นักเรียน ผู้ปกครอง และครู ต้องปรับตัวใช้ชีวิตวิถีใหม่ หรือนิว นอร์มอล

นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ ครูต้องสอนผ่านออนไลน์ ส่วนผู้ปกครอง ต้องเวิร์กฟรอมโฮม…

ย้อนไปดูภาพรวมตลอดทั้งปี 2564 ที่ผ่านมา การศึกษาไทยยังคงความไม่แน่นอน นอกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ต้องฝ่าฟันแล้ว ช่วงต้นปียังมีเรื่องให้ต้องเปลี่ยนม้ากลางศึก หลัง ‘ครูตั้น’ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เจออุบัติเหตุทางการเมือง พ้นจากตำแหน่งตามคำพิพากษาของศาล ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564

‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดทัพใหม่ ส่ง ‘ครูเหน่ง’ ตรีนุช เทียนทอง รับไม้ต่อ นั่งแท่นเสมา 1 ทำงานร่วมกับ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และ  ‘ครูโอ๊ะ’ กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ซึ่งขาเก้าอี้ยังแข็งแรงไม่หวั่นไหวมานานกว่า 2 ปี

Advertisement

ถือเป็นการรวมดาวรัฐมนตรี สาว..สาว..สาว.. ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ศธ.

ประเมินผลงานกว่า 8 เดือน ของ “ครูเหน่ง” หลังเข้ารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 เปิดตัวด้วย 12 นโยบาย และ 7 วาระเร่งด่วน เลือก “ชูธง” แก้ปัญหาความปลอดภัยในสถานศึกษา เป็นเรื่องแรก เหตุเพราะอยากจะผลักดันเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาให้เป็นรูปธรรม สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนต่างๆ ที่มีการจัดทำข้อเสนอให้ปรับระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน และครู
แต่ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ส่วนหนึ่งอาจเพราะยังต้องตามแก้ปัญหาวิกฤตคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการ “เรียนออนไลน์” ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโดนข้อหาทำให้เกิดภาวะ Learning Loss หรือความรู้ถดถอย เกิดความเครียดทั้งเด็ก และผู้ปกครอง ตามมาด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ เด็กออกกลางคัน …

นำมาสู่การตัดสินใจให้โรงเรียนที่พร้อมเปิด “เรียนออนไซต์” ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับเด็กๆ อายุ 12-18 ปี ซึ่งวันนี้ฉีดไปแล้วกว่า 98%

Advertisement

ปัญหา “เด็กออกกลางคัน” ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายเร่งด่วน ซึ่งมาโผล่ให้เร่งแก้ในช่วงปลายปี ทำให้หน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ต้องระดมสมองเพื่อค้นหาเด็กเหล่านี้กลับเข้าสู่การศึกษาให้มากที่สุด

จากข้อมูลผู้เรียนในสังกัด ศธ.ที่ออกกลางคันภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ดังนี้ กศน. 1,483 คน, สช. 2,578 คน, สอศ.แบ่งเป็น รัฐ 16,690 คน เอกชน 18,161 คน และ สพฐ.แบ่งเป็น กลุ่มเด็กทั่วไป 5,621 คน กลุ่มเด็กพิการ 7,137 คน กลุ่มรอยต่อ 14,953 คน รวมมีนักเรียน/นักศึกษา ออกกลางคันทุกสังกัด 66,623 คน

ส่วนนโยบายอื่นๆ แม้จะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม แต่ก็มีเรื่องดีๆ ให้พอชื่นใจ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ถือเป็นโรดแมปสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ หลังรอนานกว่า 7 ปี แต่ก็ยังต้องลุ้น…

หากไม่ผ่าน..ก็คงต้องนับหนึ่งใหม่ แม้จะนำร่าง พ.ร.บ.เก่ามาปัดฝุ่น แต่ก็คงใช้เวลาอีกนานพอสมควรต่อมาคือ “คุณหญิงกัลยา” กว่า 2 ปี ยังคงเดินหน้าผลักดันการเรียน “โค้ดดิ้ง” และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีการอบรมครูไปแล้วกว่า 3 แสนคน ส่วนการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จัดทำโครงการสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ผสมผสานศาสตร์และศิลป์ เปลี่ยน STEM เป็น STEAM วิทยาศาสตร์พลังสิบ ลด ความเหลื่อมล้ำ สร้าง Citizen Science ให้เกิดขึ้น ขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

ขณะที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) สังกัด สอศ.จำนวน 47 แห่ง ซึ่งเป็นหนึ่งงานที่เสมา 2 กำกับดูแล ได้นำทฤษฎี และแนวปฏิบัติของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาพัฒนาป็นหลักสูตร “ชลกร” คือหลักสูตรสำหรับผู้บริหารจัดการน้ำ ซึ่งผู้ที่เรียนหลักสูตรนี้ จะมีความรู้หลากหลาย มีความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา ความเรื่องฝน เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้

และท้ายสุด “ครูพี่โอ๊ะ” นอกจากดูแลการจัดการศึกษาเอกชนและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งยังคงเดินหน้า นโยบาย “กศน. สช. WOW WOW ก้าวสู่ยุคดิจิทัล” อย่างต่อเนื่อง

ยังมีอีกหนึ่งผลงานที่แอบดันเงียบๆ แต่ได้เข้าเป้า คือ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระแรกไปแล้วแบบ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งปี 2565 ยังคงต้องลุ้น หากไม่สะดุดเพราะการเมืองเสียก่อน เชื่อว่าไม่มีปัญหาแน่นอน

โดยกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการพลิกโฉม “กศน.” คือดึง กศน.พ้นอกสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ปรับการบริหารงานในรูปแบบนิติบุคคล เพื่อให้มีความอิสระ คล่องตัว ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนด ให้การศึกษานอกระบบเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศ รองรับการศึกษาตลอดชีวิต ที่ต้องปรับให้ทันกระแสโลก…

สรุปผลงาน 3 สาวรัฐมนตรี ศธ.ในปี 2564 ไม่ขี้เหร่นัก ให้คะแนนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่เรียกว่ามากันแบบวันต่อวัน ทั้งปัญหาการเรียนออนไลน์ นักเรียนติดโควิด-19 ที่ต้องจับมือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปรับแผนกันทุกระยะ แม้นโยบายหลักจะยังไม่เห็นผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน

หรือกรณีที่ต้องรับมือกับสารพัด “ม็อบนักเรียน” ที่ออกมาเรียกร้องให้ ศธ.แก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องทรงผม ชุดนักเรียน ความเท่าเทียมทางเพศ หลักสูตร และสารพัดปัญหา ที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมมาช้านาน…

ปี’65 ว่ากันว่าเป็นปีเสือดุ คงต้องจับตากันต่อ เพราะมีหลายงานหินทีต้องพิสูจน์ฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 2 ฉบับใหญ่ ทั้งร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … ยังไม่นับรวมกฎหมายลูกอีกหลายฉบับที่ต้องเร่งคลอดให้ทัน

สำคัญที่สุด คือ “คุณภาพการศึกษา” ที่ขณะนี้วิกฤตหนัก และโคม่าขึ้นเรื่อยๆ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image