รายงานพิเศษ : ส่องงาน ‘วัฒนธรรม’ ในแดนสนธยา ‘ไม่เปลี่ยนแปลง-เข้าถึงยาก-จับต้องไม่ได้’

รายงานพิเศษ : ส่องงาน ‘วัฒนธรรม’ ในแดนสนธยา ‘ไม่เปลี่ยนแปลง-เข้าถึงยาก-จับต้องไม่ได้’

ผ่านปีวัวดุ 2564 เข้าสู่ปีเสือ 2565 ภาพรวมการทำงานของ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ภายใต้การกุมบังเหียนของ “นายอิทธิพล คุณปลื้ม” รัฐมนตรีว่าการ วธ.แม้จะก้าวเข้าสู่การทำงานเป็นปีที่ 3 แต่อย่างที่หลายคนคาดหวังว่าเมื่อได้รัฐมนตรีว่าการ วธ.ที่ยังหนุ่มแน่น อายุน้อย การทำงานของ วธ.จะต้อง “แตกต่าง”จากเดิม แต่กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่า ความคาดหวังที่ประชาชนตั้งไว้นั้น อาจไปไม่ถึงดวงดาว…

วธ.ยังคงคอนเซ็ปต์ “แดนสนธยา” เช่นเดิม นอกจากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือแปลกใหม่แล้ว ยังคงเข้าถึงได้ยากอีกด้วย…

สาเหตุที่ผลักดันงานไม่เต็มที่ เพราะอาจเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้การขับเคลื่อนงานยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

 ส่วนที่ถูกมองว่าเป็นแดนสนธยา อย่างประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ และออกมาตั้งคำถาม เรื่องการ “ถอดถอน” นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี จากทำเนียบศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กลับได้รับความเงียบ ไร้การตอบรับ และคำชี้แจงใดๆ จาก วธ.

Advertisement

แม้จะมีเรื่องให้ชื่นใจอยู่บ้าง คือการผลักดันให้ “โนรา” (Nora) ศาสตร์การรำของไทย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกด้านภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ที่ถือเป็นของขวัญส่งท้ายปีให้คนไทยทุกคน

การทำงานของ วธ.ตลอดปี 2564 นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) มองว่า หากจะให้คะแนน จาก 10 คะแนนเต็ม คงจะได้ 6 คะแนน การทำงานเป็นไปตามขนบเก่า คือรักษา ทำให้ประเพณีต่างๆ สามารถธำรงอยู่ได้ อย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ “โนรา” ได้รับเลือกเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก ถือเป็นงานที่ วธ.ทำตามขั้นตอนที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมไทยให้เป็นมรดกโลก ซึ่งไม่การทำงานที่แปลกใหม่ หรือเพิ่มขึ้นมาก

นายเนาวรัตน์ กล่าวอีกว่า แต่สิ่งที่อยากให้ วธ.ช่วยดูแลเป็นพิเศษ คือส่งเสริมวัฒนธรรมที่เป็นวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาการทำงานของ วธ.เน้นแต่ภาครัฐเท่านั้น ซึ่งมีความเป็นห่วงมาก เพราะขณะนี้วิถีชีวิตประชาชนที่ดำเนินไปนั้น บางครั้งก็รุดหน้า บางครั้งก็ล้าหลัง ซึ่งวัฒนธรรมนั้นมี 3 ฐาน คือ วัฒนธรรมที่เป็นรากฐาน วัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐาน และวัฒนธรรมที่เป็นภูมิฐาน ซึ่ง วธ.ทำงานวัฒนธรรมในส่วนที่เป็นภูมิฐานดีอยู่แล้ว ควรเดินหน้าเรื่องพัฒนาวัฒนธรรมพื้นฐานต่อไป ซึ่งขณะนี้วัฒนธรรมที่เป็นพื้นฐาน วธ.ยังไม่มาดูแลเท่าที่ควร ดังนั้น จะทำอย่างไรที่ให้ประชาชนเข้าใจวัฒนธรรมรากเหง้าพื้นฐาน และประจักษ์ในคุณค่าวิถีชีวิตของตน จึงอยากให้ วธ.เปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมในพื้นที่มากขึ้น ไม่อยากนั้น เราจะตกเป็นเหยื่อของทุนต่างชาติ

Advertisement

“มองว่า วธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสนใจให้มากขึ้น โดยเฉพาะรากฐานทางภาษา ที่ขณะนี้ภาษาเราวิปริตไปมาก เพราะภาษาเป็นสื่อที่เราใช้แสดงความรู้สึก นึกคิด โดยภาษาไทยใช้บาลี-สันสกฤตเป็นพื้นอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันพบว่ามีคนใช้คำบาลี-สันสกฤต มาใช้ตั้งชื่อจนผิดเพี้ยนไปหมด ปัญหาที่ตามมาคือ ทำให้คนเข้าใจยากขึ้น เข้าใจไม่ตรงกัน อีกอย่างคือวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาของแผ่นดิน ที่มีจำนวนมาก แต่ วธ.ยังไม่ได้เข้าไปประมวล และนำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน ทำให้เรายังไม่มีความลึกซึ้งในรากเหง้าของเรา ยิ่งไม่มีความลึกซึ้งในรากเหง้า ยิ่งไม่เข้าใจปัจจุบัน เมื่อไม่เข้าใจปัจจุบัน ก็จะไม่เข้าใจอนาคต” นายเนาวรัตน์ กล่าว

ขณะที่นักวิชาการ นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ กล่าวว่า จากที่ติดตามการทำงานของ วธ.ในช่วง 6 เดือนแรก อาจจะสอบตก แต่พบว่าในช่วง 6 เดือนหลัง วธ.มีพัฒนาการทำงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการอนุรักษ์ และพัฒนาโดยนำเอาวัฒนธรรมเริ่มเข้าสู่ชุมชน ดังนั้น หากให้คะแนนภาพรวมการทำงานตลอดปี 2564 ขอให้ 7 จากคะแนนเต็ม

 นายสมฤทธิ์ยังมองว่า อย่างประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า การทำงานโดยการนำวัฒนธรรมเข้าสู่ชุมชน วธ.ยังเจาะไม่ถึง เพราะการทำงานของ วธ.ที่ผ่านมา เน้นวัฒนธรรมที่รวมศูนย์อยู่ในส่วนกลาง แต่ตนมองว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องของทุกฝ่าย ทั้งข้างบน และข้างล่าง ไม่ใช่เป็นเรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น วธ.จะต้องให้ความสำคัญทั้ง 2 ส่วน คือการให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมส่วนบน

ซึ่งที่ผ่านมา วธ.ก็ให้ความสำคัญมาตลอด และวัฒนธรรมส่วนล่าง คือวัฒนธรรมชุมชน เมื่อ วธ.ได้นำการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มาขับเคลื่อนในโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ที่นำอัตลักษณ์วิถีชีวิตวัฒนธรรม และประเพณีของชุมชน มาให้นักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างได้ศึกษาเรียนรู้ ซึ่ง นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ.มีแผนที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชนให้มากขึ้นในปี 2565 ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี หากสามารถทำตามที่วางแผนไว้ได้ วธ.ถือว่าเริ่มเดินมาถูกทางแล้ว

“สาเหตุที่ทำไมไม่ให้คะแนนการทำงาน 8 เต็ม 10 คะแนน เพราะยังไม่เห็นการทำงานภาพรวมทั้งประเทศ แต่ผมเห็นทิศทางการทำงานของ วธ.ที่จะเกิดขึ้นต่อไป ว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่ดีขึ้น จากที่ผมเดินทางไปพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่ผ่านมาผมวิจารณ์ตลอดว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่โกดังเก็บสินค้า หรือโกดังเก็บของเก่า ซึ่งที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์ของเราเป็นแบบนั้น แต่พิพิธภัณฑ์ควรจะเน้นการจัดแสดงที่เอื้อต่อการเข้าไปชม มีความสวยงาม สามารถดึงดูดคนเข้ามาชมได้ ปัจจุบันพบว่าพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงที่ดีมาก ขอชื่นชมการทำงานของ วธ.ในประเด็นนี้ด้วย” นายสมฤทธิ์ กล่าว

จะเห็นว่าแนวโน้มการทำงานของ วธ.ดีขึ้น แน่นอนว่าอาจจะยังมีข้อติดขัดบ้าง โดยเฉพาะระเบียบ และวิธีการของราชการ ซึ่งเชื่อว่าต่อไปการทำงานของ วธ.จะดีขึ้นแน่นอน หากติดตามที่ตนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ วธ.มาตลอด จะเห็นว่าอยากให้ วธ.ทำงานในแนวนี้มากขึ้น และข้ามพ้นวัฒนธรรมที่มองเฉพาะข้างบน และวัฒนธรรมส่วนกลาง

“อีกเรื่องที่ผมอยากจะฝากคือ หากวธ.สามารถกระจายเข้าถึงวัฒนธรรมชาติพันธุ์ได้ จะทำให้ข้ามพ้นคำว่าวัฒนธรรมไทย และจะทำให้การตีความวัฒนธรรมไทยว่าเป็นวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทันที แม้ปัจจุบัน วธ.จะพยายามตีประเด็นนี้ให้แตก แต่ทั้งหมดยังไม่หลุดพ้นคำว่าไทย เพราะเน้นย้ำคำว่าวัฒนธรรมไทย-เหนือ ไทย-อีสาน ไทย-ใต้ อยู่ตลอด แต่วัฒนธรรมของกระเหรี่ยง วัฒธรรมจีนฮ่อ และวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้คือความเป็นไทยด้วย ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายการทำงานของ วธ.อย่างมาาก ถ้า วธ.สามารถเจาะการทำงานและพัฒนาวัฒนธรรมด้านนี้ได้ ผมจะให้คะแนนวธ.เพิ่มขึ้นเป็น 9 หรือ 10 คะแนน” นายสมฤทธิ์ กล่าว

นายสมฤทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการทำงานของ วธ.ที่ยังไม่ชัดเจน คือ การสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่อาจจะไม่เคยมีวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นในประเทศ แต่วัฒนธรรมเหล่านี้ เป็นวัฒนธรรมที่อิงกับอารยธรรมโลก เช่น การเข้าคิว คือวัฒธรรมโลก ซึ่งเรายังไม่สามารถสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ หาก วธ.สามารถสร้างวัฒธรรมนี้ได้ เมื่อไปต่างประเทศ จะไม่ถูกใครดูถูก เหยียดหยามได้ และเมื่อชาวต่างชาติมาที่ประเทศไทย ก็จะไม่ดูถูกเหยียดหยามคนไทย หมายความว่าจะต้องมีวัฒนธรรมชุดใหม่ที่ วธ.ต้องคิดค้น และสร้างขึ้นมา เพื่อเชื่อมต่อวัฒนธรรมสากล ซึ่งจะทำให้วัฒนธรรมไทยไม่ใช่แค่เรื่องอดีต ความงาม และมาชื่นชมกันเองในประเทศ แต่ วธ.ควรสร้างวัฒนธรรมไทยชุดใหม่ที่อิงแอบกับวัฒนธรรมสากล ทำให้ประเทศมีความเป็นสากลมากขึ้น

ต้องจับตาดูปี 2565 วธ.จะ “ยกเครื่อง” รูปแบบการทำงานอย่างไรให้ผู้คนเข้าถึงได้ จับต้องได้ รวมทั้ง จะขับเคลื่อน และพัฒนางานวัฒนธรรมอย่างไร โดยคาดหวังว่า นายอิทธิพลจะไม่ทำงานในรูปแบบเดิมๆ คือวนลูปอยู่กับการตามทวงโบราณวัตถุ และการเสนอวัฒนธรรม ประเพณีไทยให้เป็นมรดกโลก…

เพราะต้องไม่ลืมว่า วธ.เป็นกระทรวงหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ รวมถึง ต้องสร้างภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image