รายงานพิเศษ : ลมหายใจเฮือกสุดท้าย…ของการศึกษาเอกชน ในปี’65

รายงานพิเศษ : ลมหายใจเฮือกสุดท้าย…ของการศึกษาเอกชน ในปี’65

ช่วงสิ้นปี 2564 เหมือนจะสิ้นใจ และอาจเป็นปีที่เป็นปลายทางสำหรับ “โรงเรียนเอกชน” หลายแห่ง เดือนมกราคม 2565 เป็นเดือนแรกของปี 2565 ได้ยินข่าวว่าโรงเรียนอนุบาลขนาดเล็กใกล้ๆ กันนี้ จะปิดกิจการอำลาวงการแล้ว ไม่ว่าจะถ่ายโอนเด็กทันที หรือเตรียมถ่ายโอนในสิ้นภาคเรียนที่ 2/2564 ในเดือนมีนาคม 2565 นี้แล้ว ระเบียบราชการจะว่าอย่างไรก็ช่าง แต่เมื่อไปต่อไม่ไหวแล้ว โรงเรียนเอกชนจำเป็นต้องปิดกิจการ

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-2019 เข้ามาในประเทศไทย ในช่วงปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เราจะพบข่าวเกี่ยวกับโรงเรียนเอกชนประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนสมัครเข้าเรียนน้อยลง โรงเรียนบางแห่ง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ต้องปิดกิจการลง เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว

โรงเรียนเอกชนต่างร้องขอให้ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยื่นมือเข้ามาช่วย เช่น ขอสนับสนุนเงินอุดหนุนรายหัว จากเดิมที่ได้รับ 70% เป็น 100% หรือการขอเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ที่จากเดิมได้รับอุดหนุนเพียง 28% ขอเพิ่มเป็น 100% เพื่อความเสมอภาค เนื่องจากนักเรียนโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาล ต่างเป็นนักเรียนไทย สัญชาติไทยเหมือนกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รับฟังปัญหา นำเสนอผู้เกี่ยวข้อง แต่ยังคงเป็นปัญหา

วิกฤตแรก วิกฤตที่สอง วิกฤตที่สาม ไม่ทันได้รับการแก้ไข โรงเรียนเอกชนกลับประสบปัญหาวิกฤตอีกระลอก เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนอีกมหาศาล

Advertisement

ในฐานะนายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนเอกชนที่สามารถเปิดเรียนแบบ ONSITE ได้เป็นปกติ มีเพียงร้อยละ 7 หรือประมาณ 280 โรงเรียน เนื่องจากสถานที่ตั้งของโรงเรียนเอกชน ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด สิ่งที่โรงเรียนต้องเผชิญคือ เสียงเรียกร้องจากผู้ปกครอง ให้โรงเรียนเอกชนคืนเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่น

ข้อมูลที่ ส.ปส.กช.ได้รวบรวมข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 พบว่า ได้เก็บรวบรวมจากโรงเรียนเอกชนประเภทที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ ในโรงเรียน 2,768 แห่ง จาก 3,204 แห่ง พบข้อมูลดังนี้ ค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นที่เรียกเก็บปกติ แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมการศึกษา 4,558,963,468 บาท และค่าธรรมเนียมอื่น 19,642,148,128 บาท รวม 24,201,111,596 บาท

ขณะนี้โรงเรียนเอกชนได้คืนค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นที่ไม่ได้จัด ให้ผู้ปกครองไปแล้ว เฉลี่ยร้อยละ 49.0 แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมการศึกษา 2,233,892,099 บาท และค่าธรรมเนียมอื่น 9,624,652,583 บาท รวม 11,858,544,682 บาท ผู้ปกครองค้างค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่น เฉลี่ยร้อยละ 25 แบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมการศึกษา 1,139,740,867 บาท และค่าธรรมเนียมอื่น 4,910,537,032 บาท รวม 6,050,277,899 บาท

Advertisement

ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนขาดสภาพคล่อง เกิดความระส่ำระสาย เพราะไม่รู้ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีการเลิกจ้างครู และบุคลากร เพื่อรักษาสภาพคล่อง ไม่ให้ครู และบุคลากรไปทำงานแบบปกติ และทำการปรับลดเงินเดือนครู ตั้งแต่ 10-50% เพื่อให้โรงเรียนสามารถอยู่ไปก่อนได้ แม้ภาครัฐจะส่งเงินอุดหนุนรายหัว เพื่อจ่ายค่าจ้างครู และบุคลากรตรงเวลา แต่มีครูบางส่วนที่โรงเรียนไม่ได้ใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐจ้างงาน แต่ใช้เงินจากค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่น มาจ่ายค่าจ้างตอบแทน รวมถึง ค่าสาธารณูปโภค ในปัจจุบันที่โรงเรียนเปิดเรียนแบบ ONSITE ไม่ได้ จึงไม่มีเงินจ้างครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเหล่านี้

โดย ส.ปส.กช.ได้สำรวจ และรวบรวมข้อมูลเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 พบว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลโรงเรียนเอกชน ในโรงเรียน 2,768 แห่ง จาก 3,204 แห่ง พบข้อมูลว่ามีการเลิกจ้างงานครู และบุคลากรทางการศึกษา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2564 เป็นจำนวน 12,841 คน

ในการประชุมประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ได้สอบถามข้อมูลในแต่ละจังหวัด พบว่า ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนเอกชนที่สามารถเปิดเรียนแบบ ONSITE ได้เป็นปกติ มีถึงร้อยละ 87 ไม่ว่าจะเป็นการเปิดแบบ Onsite และแบบผสมผสาน ประมาณ 3,480 โรงเรียน ยังเหลืออีก ร้อยละ 13 ที่สามารถเปิดได้ในเดือนมกราคม 2565

โดยปัญหาที่พบคือ 1) นักเรียนได้ลาออกไปเรียนที่โรงเรียนรัฐบาล หรือไม่เรียนต่อ ออกจากระบบประมาณ 31,000 คน (นำข้อมูลจากวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เปรียบเทียบกับ 10 พฤศจิกายน 2564) คิดเป็นร้อยละ 1.50 ของนักเรียนโรงเรียนเอกชนทั้งหมด 2) ผู้ปกครองขอชะลอการจ่ายค่าธรรมเนียมบางส่วน เพราะกลัวโรงเรียนต้องกลับไปเรียนในระบบอื่นอีก ซึ่งเป็นไปตามกลไกของธุรกิจ ถ้าผู้ปกครองนักเรียนไม่พอใจการบริหาร ต้องเลิกจ้างครู และบุคลากร รวมถึง ถ้ายื้อต่อไปไม่ไหว จะปิดกิจการลง ถ้าในสถานการณ์ปกติ หรือเกิดกับกิจการประเภทอื่น คงเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่บังเอิญโรงเรียนเอกชนนั้น เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ส่งผลกระทบกับนักเรียน และประชาชนจำนวนมาก

ทิศทางการศึกษาเอกชนที่จะอยู่ได้ในปี 2565 หรือปีต่อไป โรงเรียนเอกชนต้องปรับตัวให้ผ่านวิกฤตการณ์โรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยต้องเป็นโรงเรียนเอกชนมิติใหม่ ที่จัดการเรียนการสอนตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองเน้นในทุกด้าน โดยการเน้นทักษะชีวิตที่จะบูรณาการไปสู่อาชีพในฝันของนักเรียน อาจกล่าวว่าจุดเริ่มต้นของอาชีพในฝันเริ่มต้นที่โรงเรียนเอกชน

ดังนั้น ในปี 2565 เพื่อให้โรงเรียนเอกชนไปรอด ในฐานะนายก ส.ปส.กช.ใคร่วิงวอนไปถึงนายกรัฐมนตรี รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ ช่วยจัดสรรงบประมาณมาดูแลครู และบุคลากรของโรงเรียนเอกชน ให้ได้ใกล้เคียงครู และบุคลากรในภาครัฐ ลำพังหากปล่อยให้โรงเรียนเอกชนดูแลกันเอง อาจจะกลายเป็นปัญหาที่สำคัญต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image