เด็กเกิดใหม่ฮวบ สัญญาณอันตราย

เด็กเกิดใหม่ฮวบ สัญญาณอันตราย

กลายเป็นทั้งประเด็นฮือฮา ชวนจับตา และหวาดหวั่นในสถานการณ์ข้างหน้าจนต้องเร่งหาทางแก้ไขไปพร้อมๆ กัน สำหรับกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่านี่คือครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่อัตราการเกิดของคนไทยลดต่ำกว่า 6 แสนคนต่อปี ทั้งยังมีแนวโน้มลดลงไปอีก โดยเฉพาะในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า

ย้อนกลับไปดูบรรยากาศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำว่า “สังคมผู้สูงวัย” เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งภาพกว้างของโลกรวมถึงประเทศไทย

ครั้นเมื่อข้อมูลในย่อหน้าแรกถูกตีแผ่

ยิ่งต้องขีดเส้นใต้เน้นย้ำให้ตั้งคำถามถึงสิ่งที่จะตามมาเป็นโดมิโน

Advertisement

ก่อนอื่น มาโฟกัสข้อมูลชัดๆ จาก ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปิดเผยผ่านเสวนา “50 ปี ประชากรที่เปลี่ยนไป” เมื่อไม่นานมานี้ ว่า 50 ปีที่ผ่านมา ต้องถือว่าสถานการณ์ประชากรไทยเปลี่ยนแปลงไปมากมาย โดยใน พ.ศ.2513 ไทยมีประชากร 34.4 ล้านคน เมื่อมาถึงปี 2564 ไทยมีประชากรเพิ่มเป็น 66.5 ล้านคน

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรไทย จากปรากฏการณ์คนเกิดน้อยลง และคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น โดยข้อมูลพบว่า ในอดีตไทยมีสัดส่วนประชากรเด็กเป็นส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 45 หรือเกือบครึ่งของประชากรทั้งหมด แต่ปัจจุบันประชากรเด็กมีสัดส่วนร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด ขณะเดียวกันแต่ก่อนประชากรสูงอายุมีน้อยมาก ประมาณร้อยละ 4.9 แต่ปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 18 หรือเรียกว่าเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แล้ว และอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด คือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

“เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่อัตราการเกิดของคนไทยลดต่ำกว่า 6 แสนคนต่อปี ข้อมูลปี 2563 พบว่ามีเด็กไทยเกิด 5.8 แสนคนต่อปี และคาดการณ์ว่าจะมีทิศทางลดลงไปอีก โดยเฉพาะไม่เกิน 10 ปีจากนี้ อัตราการเกิดคนไทยจะลดลงต่ำกว่า 5 แสนคนแน่นอน ขณะที่ปัจจุบันไทยมีอัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี หรือแทบจะไม่เพิ่มเลย ต่างจากในอดีตอยู่ที่

Advertisement

ร้อยละ 3 ต่อปี” ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์กล่าว ก่อนนำสถิติจากกระทรวงสาธารณสุข และสำนักบริการการทะเบียน กระทรวงมหาดไทยมานำเสนอให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แนวโน้มอัตราการเกิดและอัตราการตายของประเทศไทย จะมาเท่ากันประมาณปี 2567 จากนั้นอัตราการตายจะสูงกว่าอัตราการเกิด

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่เรื่องน่าตกอกตกใจแต่อย่างใด เพราะอัตราการเกิดน้อย ไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของการเกิด เช่น การเกิดจากความตั้งใจ เกิดอย่างมีแผน เพื่อปูทางสู่การเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ส่วนข้อกังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์มองว่า สามารถหาแรงงานประเทศเพื่อนบ้านมาทดแทนได้ อีกทั้งใช้ เครื่องจักร เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์มาเสริมได้

แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ประชากรรุ่นเกิดเกินล้านคนต่อปี หรือเกิดระหว่างปี พ.ศ.2506-2526 พบว่า 2 ปีข้างหน้า จะทยอยเข้าสู่วัยสูงอายุจนหมดปีละเกือบ 2 ล้านคน ในเวลา 20 ปี จะทำอย่างไรต่อไป

ขณะที่ รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมองว่า สถานการณ์ เด็กเกิดน้อยจะเขย่าประเทศทั้งระยะสั้น-ยาว จำนวนคน ครอบครัว สภาพสังคม จะเปลี่ยนไป

“ในปี พ.ศ.2554 เรายังมีตัวเลขการเกิดสูงเกือบ 8.5 แสนคน ในขณะที่ 10 ปีผ่านไป ตัวเลขการเกิดต่ำกว่า 5.5 แสนคน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ตัวเลขการเกิดลดลงมากกว่า 1 ใน 3 โดยใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น อีกทั้งยังมีการคาดการณ์กันอีกด้วยว่า จากจำนวนประชากรไทยในปัจจุบันที่มีไม่ถึง 70 ล้านคนนี้นั้น จะลดลงมาเหลือเพียงครึ่งเดียวคือไม่เกิน 35 ล้านคน หรือคนไทยเราจะหายไปครึ่งหนึ่งเพราะเด็กเกิดใหม่น้อย ในขณะที่มีคนสูงอายุที่จะทยอยกันตายไปตามอายุขัยภายในเวลาไม่ถึง

100 ปี ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้น

เฉพาะประเทศไทย ในหลายประเทศก็อยู่ในภาวการณ์เช่นเดียวกัน

ผลกระทบระยะสั้น คือ คนจะลดลง ส่งผลให้อะไรก็ตามที่ตระเตรียมไว้สำหรับการรองรับคนจำนวนที่มากขึ้นหรือเพิ่มขึ้นก็จะไม่เป็นเช่นนั้น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย ธุรกิจร้านค้าและบริการต่างๆ ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงเกษตรกรรมจะขาดแคลนแรงงาน การลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้งานสำหรับคนจำนวนมากๆ จะเสียเปล่า ครอบครัวจะเปลี่ยนไป ครอบครัวขยายจะหายไปกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันไม่กี่รุ่น การอยู่ลำพังและตายจากอย่างโดดเดี่ยวหรือมีแต่เพื่อนญาติห่างๆ จะมีมากขึ้น ความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่นที่จะถูกถ่างขยายออกมากขึ้นด้วยสาเหตุจากการเลื่อนอายุสมรส การอยู่เป็นโสด หรือความไม่พร้อมในการมีบุตร รวมถึงความต้องการชีวิตส่วนตัวและมีอิสระมากขึ้น” รศ.ดร.ธีระกล่าว

แน่นอนว่า อีกหนึ่งผลกระทบที่จะตามมาคือ การเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่ง รศ.ดร.ธีระคาดการณ์ว่า นอกจากความสำคัญของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตแล้ว การที่คนลดน้อยลง มีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ หากไม่เกิดการรวมกลุ่มใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์กันบนโลกเสมือนแทนกันมากยิ่งขึ้น สังคมจะถูกผลักให้ออกห่างจากกันมากขึ้นด้วยความไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องใดๆ ต่อกันดังเช่นสังคมในอดีตที่ใกล้ชิดในเชิงเครือญาติ

ส่วนผลกระทบระยะยาวนั้น จะเกิด

ภาวการณ์หลายอย่างที่ต้องเตรียมรับมือ เช่น ปัญหาความมั่นคง ขาดทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศ ปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

“ผมเข้าใจว่ารัฐบาลทุกชุดรับทราบสถานการณ์นี้ดี แต่ยังไม่สู้จะมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนและต่อเนื่องเด็ดขาด จนเมื่อได้เห็นตัวเลขการเกิดที่ลดลงและต่ำกว่าการตายจึงเริ่มที่จะเป็นกระแสอีกครั้ง สิ่งที่สามารถทำได้และหลายประเทศได้ดำเนินการไปก่อนหน้ามีหลายอย่าง เช่น ส่งเสริมการเกิดผ่านมาตรการจูงใจทางภาษี สนับสนุนให้มีบุตรโดยรัฐดูแลค่าใช้จ่ายในการคลอดและสงเคราะห์บุตร ให้ทุนการศึกษา ให้สิทธิการเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับเงินเดือนทั้งพ่อและแม่ ส่งเสริมการสร้างสัมพันธ์ทำความรู้จักก่อนเข้าสู่การทำงาน กองทุน หรือรูปแบบอื่นใด เพื่อให้ใช้ชีวิตในยามสูงวัยอย่างมีอัตภาพและคุณภาพ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดโดยส่วนตัวในการตั้งรับและเตรียมรุกสำหรับสถานการณ์นี้คือ กรอบความคิด (mindset)” รศ.ดร.ธีระกล่าว

ประเด็นเรื่องกรอบความคิดที่ว่านี้ พูดง่ายๆ ก็คือ ทัศนคติต่อการมีลูก ซึ่งนักวิชาการท่านนี้มองว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา เกิดความคิดในทำนองว่า การมีลูกเป็นภาระ ลูกมากยากจน เกิดวลี “รักสนุกแต่ไม่ผูกพัน” และอีกหลายวาทะที่อยู่ในความรับรู้ของคนยุคพ่อแม่ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่

“การปรับเปลี่ยนกรอบคิดจึงความสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ไม่เพียงเพื่อให้ประชากรกลับมาอยู่ในภาวะสมดุลหรืออยู่ในระดับภาวะทดแทนได้ แต่ยังช่วยให้เห็นสังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยประชากรที่เกิดมาใหม่นั้นเป็นพลังบวกและเป็นความหวังให้กับคนรุ่นก่อนได้อีกด้วย แม้ไม่อาจทำให้เปลี่ยนได้ในทันทีแต่ต้องเริ่มในทันที” รศ.ดร.ธีระกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image