นายก ส.ปส.กช.คาด ร.ร.แห่ปิดตัวปี’65 กว่า 1 พันแห่ง เล็งลดจำนวน น.ร.-บุคลากร

นายก ส.ปส.กช.ชี้ ร.ร.เอกชนแห่ลด น.ร.-บุคลากร หลังสถานการณ์ไม่ดีขึ้น คาดปี’65 ส่อปิดตัวอีกกว่าพันแห่ง หลังก่อนหน้านี้ปิดไปแล้วจำนวนมาก จี้รัฐ-ศธ.เพิ่มเงินรายหัว-ค่าอาหารกลางวัน-ช่วยครูเอกชนเทียบเท่ารัฐ ด้าน รมว.ศธ.เล็งชงเพิ่มเงินอุดหนุน จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระบบเข้า ครม. เผย 465 แห่งแห่กู้กองทุนเกือบ 900 ล้าน เสริมสภาพคล่อง

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเตรียมแผนแก้วิกฤตโรงเรียนเอกชน เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาช่วยเหลือ เนื่องจากโรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จนไม่สามารถรักษาสภาพคล่อง และเตรียมปิดตัวอีกหลายแห่ง ว่า ศธ.ช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนมาตลอด เพราะเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบอย่างมาก ที่ผ่านมา ศธ.ได้ดำเนินการช่วยเหลือ ดังนี้ ช่วยเหลือผู้ปกครอง และนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในทุกสังกัด ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของประชาชน จำนวน 2,000 บาทต่อคน ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 พร้อมกับพยายามผลักดันให้สถานศึกษาเปิดเรียนในรูปแบบออนไซต์ และเร่งฉีดวัคซีนให้นักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เด็กได้กลับเข้ามาเรียนในโรงเรียนให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้โรงเรียนเอกชนสามารถอยู่ได้ เพราะหากปิดโรงเรียนเป็นเวลานาน จะทำให้โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบอย่างมาก

“นอกจากนี้ ได้ช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้โรงเรียนเอกชนในระบบ โดยให้โรงเรียนเอกชนในระบบที่รับเงินอุดหนุนรายหัว กู้ยืมเงินจากกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ แห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ 3 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในการบริหารกิจการโรงเรียน ซึ่งมีโรงเรียนกู้แล้ว 465 แห่ง เป็นเงิน 891,662,220 บาท และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้นักเรียนทั้งระบบ เพราะไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2553 พร้อมมอบให้นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) หาแนวทางช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนในด้านต่างๆ อีกทางหนึ่งด้วย” น.ส.ตรีนุชกล่าว

ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) กล่าวว่า สถานการณ์โรงเรียนเอกชนขณะนี้ยังไม่ถือว่าดีขึ้น แม้จะเปิดเรียนได้ช่วงหนึ่ง แต่ขณะนี้บางแห่งต้องปิดเรียนไปแล้ว เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งในปีการศึกษา 2565 อาจจะต้องพิจารณาปรับตัว ทั้งลดจำนวนรับเด็กน้อยลง และปรับลดบุคลากร เพื่อความอยู่รอด ส่วนหนึ่งเพราะจำนวนเด็กน้อยลง ประกอบกับผู้ปกครองตกงานเพราะสถานการณ์แพร่ระบาด ทำให้ต้องย้ายถิ่นฐาน และย้ายที่เรียน เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยปี 2564 มีโรงเรียนเอกชนปิดตัวไปแล้ว และแจ้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) อย่างเป็นทางการไปแล้วกว่า 20 แห่ง แต่มีอีกจำนวนมากที่ปิดโดยไม่ได้แจ้ง เพราะไม่มีเด็กเรียน หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ คาดว่าปี 2565 จะปิดตัวกว่าพันแห่ง โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่มีเด็ก 300-500 คน ที่อาจไม่สามารถพยุงตัวเองได้ไหว

“ปัญหาโรงเรียนเอกชนต้องนำขึ้นมาพูดบนโต๊ะ ผมเองได้หารือ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.หลายครั้ง เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหา โดยยึดประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก เพราะการศึกษาเอกชนเป็นทางเลือกหนึ่งที่เข้ามาช่วยรัฐในการจัดการศึกษา แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งอยากให้รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ทั้งเรื่องเงินอุดหนุนรายหัว และครูโรงเรียนเอกชนที่มีกว่าแสนคนที่ไม่ได้รับการดูแลเท่าครูรัฐบาล ซึ่งอาจไม่ต้องได้รับการดูแลที่เท่ากัน แต่ขอให้ใกล้เคียง ที่สำคัญอยากให้เพิ่มเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน หากได้ในส่วนนี้ เชื่อจะแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image