เคาะแล้ว! น.ร.ติดโควิด-เสี่ยงสูง เข้าสอบ GAT-PAT ได้ ให้จังหวัดประสานจัดสถานที่รองรับ

เคาะแล้ว! น.ร.ติดโควิด-เสี่ยงสูง เข้าสอบ GAT-PAT ได้ ให้จังหวัดประสานจัดสถานที่รองรับ

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศธ.ประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อเตรียมการแนวทางการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และการสอบวิชาสามัญของนักเรียนที่อยู่ระหว่างการรักษาอาการจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพื่อให้ได้เข้าสอบ

โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยรวมทั้งทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทุกคนมีความกังวล เพราะต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาจึงมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกมิติ โดยพยายามหาแนวทาง มาตรการ การดำเนินการเพื่อให้นักเรียนไม่ขาดกระบวนการเรียนรู้และโอกาส

โดยที่ประชุมหารือเพื่อเตรียมการและหาแนวทางร่วมกันเพื่อให้นักเรียนได้เข้าสอบ ไม่เสียสิทธิ ไม่ว่าจะเสี่ยงสูงหรืออยู่ระหว่างการรักษาโควิด-19 โดยที่สามารถมาสอบได้และได้รับการยินยอมจากแพทย์ เพราะเราเห็นร่วมกันว่าอนาคตและความมุ่งมั่น มุ่งหวังของนักเรียนในการร่วมสร้างโอกาสเป็นสิ่งสำคัญ

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันวางแผนและกำหนดแนวทางการเตรียมความพร้อมเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักเรียนที่ติดเชื้อและผู้มีความเสี่ยงสูงในการเข้าสอบคัดเลือกระบบทีแคส โดยมีข้อสรุปว่า เห็นควรส่งข้อมูลมาตรการการจัดสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ สำหรับผู้ติดเชื้อให้ทุกจังหวัดพิจารณา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สาธารณสุข ศึกษาธิการ ทปอ.พื้นที่ อำนวยความสะดวกในการจัดสถานที่สอบ อาจใช้ CI หรือสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อขยายศูนย์สอบทั้ง 6 ศูนย์

Advertisement

และให้นักเรียนที่ติดเชื้อที่ประสงค์สอบ ประสานลงทะเบียนศูนย์สอบได้ระหว่างก่อนการสอบ และให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาการดูแล ที่พัก การเดินทาง ให้เหมาะสมปลอดภัย และระหว่างนี้ผู้ปกครอง นักเรียน ดูแลสุขภาพโดยยกระดับมาตรการส่วนบุคคลขั้นสูงสุดเพื่อลดการติดเชื้อ

ด้านผู้แทน ทปอ.กล่าวว่า ปฏิทินการสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญ ปีการศึกษา 2565 กำหนดสอบ GAT/PAT ในระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม ประกาศผลสอบวันที่ 18 เมษายน ส่วนสอบวิชาสามัญ ระหว่างวันที่ 19-20 มีนาคม ประกาศผลสอบวันที่ 20 เมษายน

Advertisement

มีจำนวนผู้สมัคร GAT/PAT และวิชาสามัญ รวม 183,228 คน แบ่งเป็น การสอบ GAT/PAT จำนวน 177,853 คน และสอบวิชาสามัญ จำนวน 155,282 คน โดย 5 วิชาที่มีผู้สมัครสูงสุด ได้แก่ 1.วิชา GAT ความถนัดทั่วไป จำนวน 173,125 คน 2.วิชาสามัญ ภาษาอังกฤษ จำนวน 149,712 คน 3.วิชาสามัญ ภาษาไทย จำนวน 139,711 คน 4.วิชาสามัญ สังคมศึกษา จำนวน 137,372 คน และ 5.วิชา PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ จำนวน 121,055 คน

“จากสถิติการสมัครในปีนี้พบว่าวิชาที่มีผู้สมัครมากสุดคือ GAT ความถนัดทั่วไป แต่เมื่อเทียบยอดการสมัคร GAT/PAT ในปีก่อนๆ พบว่ามีจำนวนลดลงจำนวนมาก เนื่องจากการปรับปรุงกระบวนการรับสมัครให้สามารถสมัครหลังทราบผลการคัดเลือกรอบ 1 หรือรอบแฟ้มสะสมผลงาน จึงทำให้นักเรียนกว่า 80,000 คน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบเผื่อไว้ก่อน นอกจากนี้ยังปรับปรุงการเลือกสนามสอบให้ผู้สมัครเลือกสนามสอบเองตามลำดับความต้องการ 5 ลำดับ ผลการจัดสนามสอบพบว่า 97.2% ได้สนามสอบลำดับ 1 ที่เลือกไว้ 2.4% ได้สนามสอบลำดับที่ 2-5 ที่เลือกไว้ 0.4% ได้สนามสอบที่ไม่ได้เลือกไว้ และมีสนามสอบทั้งหมด 213 สนามสอบทั่วประเทศ” ผู้แทน ทปอ.กล่าว

ผู้แทน ทปอ.กล่าวต่อว่า ในการจัดห้องสอบสำหรับผู้ติดเชื้อที่ทีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ หรือมีความเสี่ยงสูง ตามที่กำหนดในที่ประชุม ศบค.ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ให้เข้าสอบในสนามที่มีการกำหนดเพิ่มขึ้นเป็นการเฉพาะ ไม่สามารถเลือกสนามสอบได้เอง ได้แก่ 1.สนามสอบพิเศษจังหวัดจันทบุรี สำหรับนักเรียนในจังหวัดจันทบุรีที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับศูนย์สอบมหาวิทยาลัยบูรพา และ 2.สนามสอบพิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ที่ดำเนินการโดย มธ. ซึ่งผู้ประสงค์จะเข้าสอบให้ลงทะเบียนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนการสอบ และสามารถเข้าพักในศูนย์สอบพิเศษจนกว่าจะสอบเสร็จสิ้นทุกวิชา
โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การเดินทางมายังสนามสอบด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถยนต์ที่จัดให้เป็นการเฉพาะจากหน่วยบริการสาธารณสุข หรือจากสนามสอบจัดให้เท่านั้น

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีเปลี่ยนแปลงปฏิทินการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2565 เฉพาะในส่วนของนักเรียนความสามารถพิเศษ และในส่วนของโรงเรียนที่จัดห้องเรียนพิเศษ เพื่อให้โรงเรียนสามารถเป็นสถานที่จัดสอบรายการต่างๆ และได้ขอให้โรงเรียนให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการเป็นสถานที่จัดสอบตามรายการและวันดังกล่าว โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

นายอัมพรกล่าวต่อว่า สำหรับนักเรียนที่กำลังอยู่ในระหว่างการรักษาอาการป่วยนั้น จัดห้องสอบให้เป็นการเฉพาะตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และสร้างความมั่นใจและปลอดภัย ไม่เป็นสถานที่แพร่เชื้อ รวมทั้งต้องเน้นย้ำให้นักเรียนที่ป่วยเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือรถยนต์ที่จัดให้เป็นการเฉพาะจากหน่วยบริการสาธารณสุขหรือจากสนามสอบจัดให้เช่นกัน เพราะการดำเนินการในครั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้ใช้สิทธิในการสอบเพื่อการศึกษาต่ออย่างไม่มีอุปสรรคใดๆ ซึ่งก่อนวันสอบนั้นต้องมีการรายงานรายชื่อ จำนวน และสถานที่พักรักษาตัวให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่มีสถานศึกษาเป็นสนามสอบได้ทราบก่อนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าสอบ จะเห็นได้ว่า เราสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้หากปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งมีแผนเผชิญเหตุรองรับ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ

“สพฐ.เห็นว่านักเรียนไม่ควรเสียโอกาสตรงนี้ หากเราสามารถช่วยเหลือให้เด็กนักเรียนได้เข้าสอบก็จะเป็นการพัฒนาการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง ตามนโยบายของรัฐบาลที่ว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายอัมพรกล่าว

ด้าน นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การจัดการสอบ GAT/PAT ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติของ ศบค.วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ชึ่งประกอบด้วย มาตรการด้านสถานที่สอบ ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบอนามัยโรงเรียนในการคัดกรองและให้คำแนะนำด้านสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุด จัดให้มีพื้นที่แยกสำหรับจัดการสอบเป็นสัดส่วนแยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มผู้ติดเชื้อ เน้นการระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบห่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร

ด้านผู้เข้าสอบ เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังการเข้าสอบ งดการพูดคุย เว้นระยะห่าง การเดินทางไปสนามสอบควรใช้รถส่วนตัว หรือประสานหน่วยสถานที่สอบ หน่วยบริการสาธาณสุขกรณีไม่มีรถส่วนตัว

นพ.สราวุฒิกล่าวต่อว่า ด้านผู้คุมสอบ ปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ใช้เวลาในการคุมสอบในห้องสอบให้น้อยที่สุด รวมถึงการวางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม ทั้งนี้ สนับสนุนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในนามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์อนามัย ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทปอ.จังหวัด ดำเนินการจัดการสอบให้ เป็นไปตามมาตรการ รวมไปถึงการใช้พื้นที่แยกกัก ชุมชน ในการสนับสนุนการสอบ การจัดที่พัก การรับส่งผู้ติดเชื้อ ในส่วน กทม.และปริมณฑล ได้ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีในการจัดTAXI ฉุกเฉินให้บริการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อ ส่วนในต่างจังหวัดให้พิจารณาให้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดดำเนินการร่วมกับผู้จัดสอบในพื้นที่ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image