ชี้โควิดทำเด็กไทยถดถอย 1 ปีครึ่ง เรียน ‘ออนไลน์-ใบงาน’ ส่งผลภาวะการเรียนรู้

ชี้โควิดทำเด็กไทยถดถอย 1 ปีครึ่ง เรียน ‘ออนไลน์-ใบงาน’ ส่งผลภาวะการเรียนรู้ จี้ ‘ตรีนุช’ อย่าแค่ออกนโยบาย-ต้องติดตามผล

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า กรณีที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดนโยบายการจัดการเรียนการสอน ในปีการศึกษา 2565 ว่าเป็นปีที่เน้นการซ่อมสร้างให้เด็กมีคุณภาพ ไม่เน้นการสอนที่ต่อยอดสู่ความเป็นเลิศ เนื่องจากนักเรียนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ตนมองว่านโยบายนี้ดี แต่ทำอย่างไรที่จะสอนซ่อม และสร้างคุณภาพให้เด็ก จะดำเนินการด้วยวิธีการใด ใช้อุปกรณ์การเรียนการสอน และเตรียมงบประมาณเท่าใดในการดำเนินการ เพราะขณะนี้เห็นแต่นโยบายออกมาเท่านั้น ยังไม่มีวิธีปฏิบัติออกมาให้เห็น

“ที่ผ่านมา พบว่า ศธ.มีนโยบายที่ดีออกมาทุกสัปดาห์ เช่น การสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา สอนซ่อมสร้างให้นักเรียนมีคุณภาพหลังเด็กมีภาวะการเรียนรู้ถดถอย เป็นต้น แต่ไม่เห็นว่า ศธ.จะมีมาตรการอะไรมารองรับนโยบายที่ให้ไป จะติดตามผลการปฏิบัติอย่างไร จะอบรมพัฒนาครูอย่างไร มีงบอะไรมาสนับสนุนเพื่อให้ครูทำงานดีขึ้น และง่ายขึ้น ถ้า ศธ.ไม่วางแผน หรือเตรียมการให้ดี นโยบายที่ออกมาจะกลายเป็นนโยบายลอยลม คือเป็นนโยบายที่ดูดี ทำให้เห็นว่า ศธ.ตระหนักถึงปัญหาเท่านั้น แต่จะรู้ได้อย่างไรว่านโยบายที่ให้โรงเรียนกว่า 30,000 แห่ง นำไปปฏิบัตินั้น มีการขับเคลื่อนทำให้เปลี่ยนแปลงจริงๆ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ภาวะการเรียนรู้ถดถอย เป็นปัญหาของโลก รวมทั้ง ไทย อย่างไทยในภาพรวม จะพบว่าเด็กมีความถดถอยด้านการศึกษา 1-1.5 ปี ทำให้เห็นว่าการเรียนออนไลน์ และเรียนผ่านใบงาน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีประสิทธิผล ทำให้ภาวะการเรียนรู้ถดถอยเพิ่มมากขึ้น จากที่ตนลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่างๆ มาตลอด พบว่านโยบายที่ ศธ.ให้ไว้ ในระดับพื้นที่นำไปสู่การปฏิบัติน้อยมาก มองว่าภาวะการเรียนรู้ถดถอย ควรจะเป็นวาระของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งทุ่มเทแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ขอให้ น.ส.ตรีนุช อย่าออกแต่นโยบายมาเท่านั้น แต่ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร และจะติดตามผลอย่างไร ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าออกนโยบายแก้ไขภาพลักษณ์เท่านั้น

ด้าน น.ส.วาสนา สังข์พุ่ม คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ธนบุรี กล่าวว่า นักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประสบปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยอย่างมาก ส่วนผู้เรียนในมหาวิทยาลัยก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน โดยทางมหาวิทยาลัยปรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่เป็นรูปแบบ Hybrid learning หรือการเรียนรู้แบบผสมผสานแทน มองว่าเด็กแต่ละคนแตกต่าง การที่ ศธ.ออกนโยบายมาว่าในปีการศึกษา 2565 ให้เน้นการสอนซ่อมสร้างเน้นคุณภาพ มากกว่าการสอนสู่ความเป็นเลิศ เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งสำคัญคือครู ต้องปรับกระบวนการเรียนการสอน

Advertisement

“การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยอย่างมาก ซึ่ง มรภ.ทั้ง 38 แห่ง เห็นปัญหานี้ และร่วมกันเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้ให้กับโรงเรียนในพื้นที่ อย่าง มรภ.ธนบุรี จัดโครงการยกระดับการเรียนรู้ด้านการอ่าน การเขียน และการวิเคราะห์ของนักเรียนในระดับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วม และกำลังจะขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ด้วย” น.ส.วาสนา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image