รายงานการศึกษา : ลุยสำรวจ..ทะเลระยอง ส่อง ‘ปะการัง’ หลังวิกฤตน้ำมันรั่ว

รายงานการศึกษา : ลุยสำรวจ..ทะเลระยอง ส่อง ‘ปะการัง’ หลังวิกฤตน้ำมันรั่ว

จากเหตุการณ์ “น้ำมันรั่ว” ที่ จ.ระยอง เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกสำรวจเก็บตัวอย่าง เพื่อดูถึงผลกระทบของคราบน้ำมัน และสารขจัดคราบน้ำมันที่อาจจะมีผลต่อระบบนิเวศทางทะเล และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล โดยทางทีมสำรวจได้เก็บตัวอย่างดินตะกอน น้ำทะเล และสิ่งมีชีวิตทางทะเลชนิดต่างๆ เพื่อศึกษาการสะสมของสารไฮโดรคาร์บอนที่มาจากน้ำมันในตัวอย่างชนิดต่างๆ

จากที่ทีมวิจัยมีประสบการณ์ศึกษาผลกระทบของคราบน้ำมัน และสารขจัดคราบน้ำมันที่มีต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น พบว่า ผลกระทบของคราบน้ำมันที่มีต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเล อาจจะไม่เห็นทันทีใน 1-2 สัปดาห์ แต่อาจจะใช้เวลานาน อย่างน้อย 1 ปี จึงจะเห็นผลกระทบอย่างแบบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ

ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า หลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุสารเคมีปริมาณมหาศาลปนเปื้อนในทะเล มักจะเห็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ลงลึกในรายละเอียด และรอบด้านเท่าที่ควร โดยเฉพาะปะการังมักถูกประเมินว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะดูจากภายนอกของปะการังเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว ภายในของปะการังได้รับผลกระทบมาก แต่ผู้คนในสังคมไม่ทราบ เพราะไม่ได้ดูอย่างละเอียด

Advertisement

“ไม่ว่าในน้ำมัน หรือสารขจัดคราบน้ำมัน ล้วนเป็นส่วนผสมของสารเคมีต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และใช้เวลานาน กว่าจะได้เห็นถึงผลเสียที่สะสม และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลกระทบต่อบริเวณใกล้เคียง ถึงแม้จะไม่พบคราบน้ำมัน หรือการปนเปื้อนก็ตาม เนื่องจากเป็นน้ำทะเลมวลเเดียวกัน ปะการัง และสิ่งมีชีวิตในบริเวณใกล้เคียง จึงได้รับผลกระทบเช่นกัน” ศ.ดร.วรณพ กล่าว

จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่า น้ำมัน หรือคราบน้ำมัน รวมทั้ง สารขจัดคราบน้ำมัน อาจจะทำให้ปะการัง “เป็นหมัน” โดยปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่ และสเปิร์มได้ หรือถึงแม้ปะการังจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่ และสเปิร์มได้ แต่คราบน้ำมัน และสารขจัดคราบน้ำมัน จะทำให้เซลล์สืบพันธุ์ที่ถูกปล่อยออกมามีรูปร่างที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถปฏิสนธิกันได้ จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ปะการังเป็นหมันเฉียบพลัน และมีผลกระทบต่อปะการังอย่างมาก เพราะการที่ปะการังจะเพิ่มจำนวนประชากรให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้น จำเป็นต้องมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ

Advertisement

ซึ่ง ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ เล่าว่า ปะการังเป็นหมันทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนประชากรออกลูกออกหลานได้ อาจส่งผลให้ปะการังลดลง และสูญพันธุ์ไปในที่สุด การเป็นหมันชั่วคราวนี้ ถึงแม้สิ่งแวดล้อมจะกลับมาเหมือนเดิม ก็อาจจะใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี กว่าปะการังจะกลับมาปล่อยไข่ และสเปิร์มได้เหมือนเดิมบางส่วน แต่ปะการังส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ ก็ไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ 100%

“เวลาที่เราดูผลกระทบของคราบน้ำมันที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อปะการัง ต้องใช้เวลาติดตามอย่างยาวนาน ไม่ใช่แค่ดูในระยะสั้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูถึงผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ และการเติบโตของสิ่งมีชีวิตด้วย แม้ว่าปัจจุบันจะมีวิธีฟื้นฟูปะการัง แต่วิธีการส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัด” รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์น้ำมันรั่วนี้ เกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนที่ปะการังกำลังจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ คือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วงว่าอัตราการเป็นหมันของปะการังจะเกิดสูง ทำให้ทีมวิจัยจะต้องติดตามศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เข้ามาร่วมมือกันป้องกันแก้ไขในระยะยาว เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image