มข.จับมือหัวเว่ย ผลิตบัณฑิตไอซีที รองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล

มข.จับมือหัวเว่ย ตอบโจทย์ผลิตบัณฑิตไอซีที รองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล

รศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มข.จัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง มข.และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัดมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.นายเควิน เฉิง ประธานกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) บจก.ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เนื่องจากวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มข.ต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ โดยให้บัณฑิตมีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่สอดคล้องตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม และองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึง ทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัย ซึ่งมียุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนทุกด้าน 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ Education Transformation ซึ่งได้กำหนดให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ปรับเปลี่ยนจาก teaching เป็น learning paradigm รวมถึง การจัดการศึกษาการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นทักษะในวิชาชีพ และในอนาคตที่สำคัญ ส่งเสริมทักษะแก่บุคคลทุกช่วงวัย

“วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้ร่วมจัดกิจกรรมในโครงการ Huawei ICT Academy โดยส่งคณาจารย์เข้าร่วมอบรม และสอบใบประกาศนียบัตร Huawei HCIA ในหลายหลักสูตร นอกจากนี้ นักศึกษายังได้เข้าร่วมกิจกรรม Seeds for the Future โครงการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาสู่การเป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ที่มีการนำเสนอแนวคิดในการนำเอาเทคโนโลยีด้าน Computing เพื่อแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ของสังคม ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันระดับโลก Tech4Good ซึ่งในปี 2021 นักศึกษาวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์เป็น 1 ในผู้ร่วมทีมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น คว้ารางวัลที่ 1 ระดับ Gold award มาได้” รศ.ดร.สิรภัทร กล่าว

รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวว่า ความร่วมมือกับบริษัทหัวเว่ยฯ ครั้งนี้ เพื่อจัดการศึกษาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งเน้นทักษะในวิชาชีพ และทักษะในอนาคตที่สำคัญ ผ่านการ Upskill, Reskill หรือ New-skill แก่บุคคลทุกช่วงวัย โดยเฉพาะทักษะทางด้านดิจิทัล หรือ Computing ถือว่าเป็นแนวโน้มของโลก และสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สำคัญมาก ซึ่ง มข.ตระหนัก และเท่าทันกระแสคลื่นด้านเทคโนโลยีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้านปัญญาประดิษฐ์, ด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและประมวลผล Cloud Computing, Blockchain, Defi, NFT, โลกเสมือน Metaverse นอกจากนี้ ยังบูรณาการศาสตร์ Computing เพื่อประยุกต์ในการสร้างความเป็น Intelligence ให้กับศาสตร์อื่นๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร สถาปัตยกรรม สังคม ศิลปะ และต่างๆ ได้อีกมาก และโอกาสของการเกิดทักษะอาชีพใหม่ๆ ในอนาคต

นายเควิน กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มข.มีวิสัยทัศน์ที่จะทรานสฟอร์มตัวเองในยุคดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนในระยะยาว เราจะสนับสนุน มข.ด้วยนวัตกรรมไอซีทีล่าสุด และสนับสนุนให้คณาจารย์ และนักศึกษา ได้รับการรับรองระดับความรู้ด้านไอซีทีจากหัวเว่ย ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก เป็นประโยชน์แก่ชุมชนในวงกว้าง ในการสนับสนุนประเทศด้วยบุคลากรที่มีความสามารถในระดับสูง และรับมือกับความท้าทายของการพัฒนาด้านไอซีทีใหม่ๆ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image