‘ในหลวง รัชกาลที่9’ ในความทรงจำของสมเด็จพระวันรัต

วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ความรู้สึกของปวงชนดั่งฟ้าผ่ากลางใจ เมื่อทราบข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า รัฐบาลไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ถวายราชสักการะเป็นเวลา 1 ปี ในส่วนภาคประชาชนนั้นให้งดงานรื่นเริงเป็นเวลา 30 วัน นอกจากนี้ มหาเถรสมาคม (มส.) มีการประชุมวาระพิเศษ และออกมติให้ทุกวัดทั่วโลกประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเวลา 1 ปี เช่นเดียวกัน

สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ในฐานะกรรมการ มส. ได้เชิญชวนประชาชนร่วมถวายราชสักการะต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และร่วมพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลตามมติ มส. โดยจะนำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชขณะที่ทรงผนวชเมื่อปี 2499 มาตั้งภายในวัดบวรนิเวศฯ ให้ประชาชนมาถวายความอาลัย และร่วมพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นเวลา 1 เดือน โดยเวลา 20.00 น. ประกอบพิธีที่พระอุโบสถ และเพิ่มรอบวันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 15.00 น. ประกอบพิธีที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศฯ

สมเด็จพระวันรัตเล่าถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศฯ ว่า ขณะที่องค์ทรงผนวช 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์นั้น พระองค์ทรงได้รับสมณนามว่า ”ภูมิพโลภิกขุ”Ž จากนั้นเสด็จฯ มาประทับจำพรรษาที่พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศฯ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในขณะนั้นอาตมายังเป็นสามเณร และได้บรรพชาเป็นพระภิกษุสงฆ์พร้อมพระองค์ พำนักอยู่พระตำหนักเดียวกัน อาตมาจึงได้เห็นพระจริยวัตรของพระองค์ขณะที่เป็นพระสงฆ์ แม้พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ แต่พระองค์ทรงเคร่งครัดในพระธรรมวินัยยิ่งกว่าสามัญชน พระองค์ทรงมีขันติมาก 

“ที่กล่าวว่าพระองค์ทรงมีขันตินั้น เห็นได้จากเหตุการณ์ที่พระองค์เสด็จฯ ไปยังพระอุโบสถเพื่อทำวัตรเช้า-เย็นทุกวัน ในพระอุโบสถนั้น เมื่อหันหน้าเข้าหาพระประธาน ทิศตะวันตกจะเป็นพระสงฆ์ที่มีพรรษามากกว่าพระองค์ ส่วนทิศตะวันออกจะเป็นพระสงฆ์ที่บรรพชาตามพระองค์ อาตมาสังเกตเห็นพระองค์ประทับนั่งหันพระบาทไปทางทิศตะวันออก และไม่เคยหันพระบาทไปทางทิศตะวันตกเลย พระองค์จะทรงประทับอยู่ท่าเดียวเช่นนี้ทุกวันที่ลงพระอุโบสถ เพราะพระองค์ทรงให้เกียรติพระสงฆ์ที่มีพรรษามากกว่า ถ้าเป็นพระใหม่รูปอื่น ไม่น่าจะนั่งท่าเดียวได้โดยไม่สลับท่านั่ง นับได้ว่าพระองค์ทรงปฏิบัติเคร่งครัดในศาสนกิจทุกประการอย่างดี”Ž สมเด็จพระวันรัตกล่าว

Advertisement

สมเด็จพระวันรัตเล่าอีกว่า เหตุการณ์ที่อาตมาประทับใจขณะสนทนาธรรมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเหตุการณ์ที่อาตมาเทศน์ในงานพระราชพิธีสำคัญพิธีหนึ่ง หลังจากที่อาตมาลงจากธรรมาสน์ พระองค์ทรงรับสั่งกับอาตมาว่า อาตมาเทศน์ดี แต่คนจะฟังรู้เรื่องหรือ พระองค์ทรงรับสั่งอีกว่า “เทศน์เกี่ยวกับธรรมะดีอย่างไรคนก็ไม่ฟัง”Ž พระองค์จึงทรงแนะนำว่า ”น่าจะนำนิทานชาดกมาเทศน์แฝงธรรมะ คนถึงจะสนใจฟัง”Ž จากนั้นอาตมาได้มาไตร่ตรองตามรับสั่ง และดำเนินรอยตามพระราชดำริของพระองค์มาโดยตลอด โดยนำนิทานชาดกมาผสมผสานในการเทศน์แต่ละกัณฑ์ ปรากฏว่าได้ผล ประชาชนตั้งใจฟังเทศน์มากยิ่งขึ้น

สำหรับอนุสรณ์ที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้กับวัดบวรนิเวศฯ คือการปลูกต้นสักที่พระตำหนักวัดบวรนิเวศฯ และปลูกต้นสนฉัตรภายในวัดบวรนิเวศฯ ในปี 2499 ขณะนี้ต้นไม้ทั้ง 2 ต้น ได้งอกงามและเติบใหญ่ ส่วนวัตถุมงคลนั้น พระองค์ทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเททองปฐมฤกษ์พระกริ่งพระพุทธชินสีห์ หรือพระกริ่ง 7 รอบ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 7 รอบ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระชนมายุ 84 พรรษา เพื่อเป็นที่ระลึกให้แก่วัดบวรนิเวศฯ

นอกจากนี้ สมเด็จพระวันรัตได้มอบแนวทางสำหรับผู้ที่ไม่สามารถมาถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้ว่า เพียงตั้งใจทำความดีตามรอยเบื้องยุคลบาท ก็สามารถน้อมนำมาถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ได้เช่นกัน พร้อมกันนี้ยังสามารถทำบุญสังฆทานถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ได้เช่นเดียวกัน

Advertisement

สำหรับบทสวดคำถวายสังฆทาน เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีดังนี้

“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุ สังโฆ อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ ปะระมินทะมะหาภูมิพะละอะตุละเตชะมหาราชัสสะ เจวะ อัมหากัญจะ ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะŽ”

“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร พร้อมกับของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับซึ่งภัตตาหารกับของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย และแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ด้วยตลอดกาลนานเทอญฯŽ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image