มติชนมติครู : เหตุเกิดที่ ม.การกีฬาแห่งชาติ

มติชนมติครู : เหตุเกิดที่ ม.การกีฬาแห่งชาติ

สืบเนื่องจากกรณีที่วันเวลาของการได้มาซึ่งผู้นำ หรือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ล่วงเลยมาพอสมควร แต่วันนี้เมื่อสภาวการณ์ยังไม่มีความคืบหน้า ผู้เขียนจึงขออนุญาตที่จะกระชับวงล้อม ปันความคิด เพื่อส่องให้เห็นถึงที่มาที่ไปของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ และ การสรรหาอธิการบดี ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นละครเรื่องยาว

หนึ่งในปรากฎการณ์ หรือหลุมดำ ที่ยังเกาะเกี่ยว และนำความเสียหายมาสู่สังคมอุดมศึกษาของไทยมาอย่างต่อเนื่อง คงจะได้แก่เรื่องของธรรมาภิบาลในรั้วมหาวิทยาลัย ยิ่งวันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลง และเกิดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ใครๆ ก็ไม่คาดคิดว่าสิ่งอันพึงไม่ประสงค์จะวกวนอยู่ในสถาบันการศึกษาของชาติบางแห่งได้

ที่น่าสนใจ เมื่อกล่าวถึงสถาบันอุดมศึกษาน้องใหม่ในบ้านเรา นักการศึกษา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการพลศึกษา คงทราบดีแล้วว่ามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการผลักดันมาจากรัฐบาลในยุค คสช.ด้วยการเปลี่ยนสถานะจากสถาบันการพลศึกษา ภายใต้ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พศ.2562 โดยอยู่ใต้ร่มของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

การก่อเกิดมหาวิทยาลัยดังกล่าว ทำให้เป็นที่สนใจ และคาดหวังของผู้คนในวงการกีฬา และชาวอุดมศึกษาทั้งมวล ว่าสถาบันแห่งนี้จะเป็นต้นทางที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับการกีฬาของชาติแบบครบองค์รวม ภายใต้ความพร้อม หรือศักยภาพของผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นวัตกรรมใหม่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

Advertisement

ที่สำคัญ ในหลักของการบริหารจัดการ เมื่อมีการจัดตั้งองค์กร หรือสถาบันการศึกษาขึ้นมาใหม่ สิ่งหนึ่งที่องค์กรแห่งนั้นจะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปตามพันธกิจ และวัตถุประสงค์ เจริญรุดหน้า มีความพร้อม และทันกับการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล องค์กรนั้นจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในการได้มาซึ่งผู้นำ หรือจอมทัพสำหรับการเคลื่อนกำลังพล

มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติก็เฉกเช่นเดียวกัน หากส่องไปที่ พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็ไม่แตกต่างไปจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ที่กำหนดให้อธิการบดีเป็นผู้บริหารสูงสุด ได้มาด้วยกระบวนการสรรหา ภายใต้ความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งการจะได้มาซึ่งผู้นำ หรืออธิการบดีนั้น จำเป็นอยู่เองที่สภามหาวิทยาลัยจะต้องออกระเบียนข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

และจากระเบียบข้อบังคับดังกล่าว นับแต่ประกาศ พ.ร.บ.อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 สภามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอน จนได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งจำนวน 2 ราย ซึ่งรายชื่อทั้ง 2 ราย ก็ได้มีการนำมาสื่อสาร หรือเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน เพื่อให้สาธารณชน โดยเฉพาะประชาคมของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่เฝ้าลุ้นว่าใครจะมาวิน หรือได้รับโอกาสให้เข้ามากุมบังเหียนองค์กร

Advertisement

แต่ภายหลังที่รายชื่อบุคคลที่ผ่านการสรรหาทั้ง 2 ราย ถูกประกาศออกไป ณ เวลานั้นได้ไม่นาน จู่ๆ กลับมีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีกลุ่มบุคคลในสถาบันแห่งนี้ ออกมายื่นหนังสือถึงเจ้ากระทรวง เพื่อแสดงให้เห็นว่ากลุ่มตนเองไม่เห็นด้วยกับ 2 รายชื่อดังกล่าว ซึ่งนัยยะสำคัญ หรือเหตุผลที่ออกมาคัดค้านนั้น คนในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติที่รักความยุติธรรม และเข้าใจในหลักธรรมาภิบาล เฉลย และซุบซิปให้สังคมทราบว่าเป็นเพราะกลุ่มอำนาจเดิม เห็นว่ากระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง

ดังนั้น ปัญหาที่ส่งผลให้เกิดเกมยื้ออำนาจ เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจ และผลประโยชน์ที่เคยได้รับมาก่อน จึงเกิดขึ้น และนำไปสู่การพิจารณากันใหม่ว่าการดำเนินการสรรหาที่ผ่านมานั้น ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่อย่างไร และจากการเรียกร้องให้ทบทวนการสรรหาบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีในครั้งนั้น ถามว่าผู้ยื่นเรื่องมีสิทธิหรือไม่ คำตอบคือมีสิทธิที่จะกระทำได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับกระแสที่มีให้เห็นกันบ่อยครั้งสำหรับการสรรหาผู้นำ หรืออธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มักจะมีผู้ออกมาฟ้องร้อง และเรียกหาความเป็นธรรมกันอยู่เนืองๆ

จากปัญหาข้อเรียกร้องของกลุ่มบุคคลในรั้วมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ รวมทั้ง ความล่าช้าในการได้มาซึ่งอธิการบดี จึงนำไปสู่การพิจารณาหาทางออกโดยคณะกรรมาธิการการกีฬาฯ ของสภาผู้แทน และสมาชิกวุฒิสภามาด้วยแล้ว ซึ่งที่ประชุมของกรรมาธิการฯ ทั้งสภาล่าง และสภาบน ต่างเสนอให้ผู้มีอำนาจในกระทรวงเร่งดำเนินการหาทางออกโดยเร็ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ภายหลังที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำข้อเรียกร้องไปพิจารณา จนได้บทสรุปแล้วว่า การสรรหาบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของมหาวิทยาลัยที่ผ่านมานั้น ดำเนินไปด้วยความถูกต้อง และชอบธรรม จึงนำไปสู่การนำรายชื่อบุคคลจำนวน 2 ราย ที่ผ่านกระบวนการสรรหามาก่อนหน้านี้ เข้าสู่วาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง

แต่แล้วแสงสว่างเพื่ออนาคตสำหรับการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยที่ทุกภาคส่วนพึงประสงค์ กลับต้องสะดุดลงอีกครั้ง เมื่อกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เข้าประชุม จากจำนวน 22 รายนั้น ข่าวว่า 1 ราย เดินออกจากห้องประชุม และ 18 ราย งดออกเสียง ขณะที่ 3 ราย ลงมติเห็นชอบให้กับผู้ผ่านการสรรหารายหนึ่งเหมาะกับการนั่งในเก้าอี้อธิการบดี

จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น วันนี้จึงยังไม่ทราบได้ว่ากระทรวงฯ จะหาทางออกอย่างไร และต่อกรณีนี้ อันที่จริงถ้าคนในองค์กรซึ่งเป็นแหล่งที่รวมของชาวพลศึกษา ผู้ที่เคยผ่านการร้องเพลงกราวกีฬามาแล้วเกือบทั้งสิ้น หากตระหนัก และให้ความสำคัญกับคำว่า “สปิริต” หรือ การมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะรู้อภัย ยอมรับในผลการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหา ที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง เรื่องก็น่าจะจบ และมหาวิทยาลัยก็ควรจะได้ผู้นำ หรือกัปตันไปนานแล้ว

ดังนั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิขององค์กร หรือมหาวิทยาลัยน้องใหม่ ที่สังคมคาดหวัง เชื่อว่าโจทย์ และการบ้าน หรือปัญหานี้ สังคมคงต้องจับจ้องไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเจ้ากระทรวง สำหรับการคลายปม และหาทางออกที่เป็นประโยชน์แก่สังคม และประเทศชาติ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งหมดทั้งปวงที่ได้ปันความคิดมานั้น ก็มิได้มีเจตนาที่จะตำหนิผู้ออกมาเรียกร้อง หรือก่อให้เกิดปัญหาแต่ประการใดไม่ และเหนือสิ่งอื่นใด ก็ต้องขอชื่นชมทุกภาคส่วนในมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นผู้รักษาการอธิการบดี และนายกสภาฯ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ที่ได้ทำหน้าที่ผนึกพลังร่วมในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยดีเสมอมา แต่วันนี้เมื่อสังคมกังขาต่อกรณีที่ไม่สามารถคลอดจอมทัพ หรือผู้นำองค์กรได้ คำว่า “สปิริต” ที่คนในสถาบันการพลศึกษาได้รับการถ่ายทอดมาอย่างยาวนาน คงจะเป็นหนึ่งในมิติที่คนในองค์กรนี้ จะได้หาทางออกร่วมกัน และจบลงอย่างสง่างาม

วันนี้ เพื่อให้มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ สามารถขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ หรือบริหารจัดการให้เป็นไปตามพันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง และเป็นที่พึ่งของสังคมไทยสืบไป จึงขอส่งเสียงมายังประชาคมผู้ซึ่งเปี่ยมไปด้วย “ความเป็นตัวตนของผู้มีน้ำใจนักกีฬา” ดังเพลงกราวกีฬาที่ “ครูเทพ” หรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีไ ด้ประพันธ์ฝากไว้ให้เป็นอนุสรณ์ ได้พินิจพิจารณาว่าอะไรคือความถูกต้องชอบธรรม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง

หรือจะยื้อไว้ซึ่งเกมแห่งอำนาจ และปล่อยให้องค์กรต้องมัวหมองอีกต่อไป นี่คือโจทย์ และการบ้าน ที่ทุกภาคส่วนต้องสะสางร่วมกัน เพื่อให้มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ เป็นหนึ่งในสังคมอุดมปัญญา และเข้าไปรังสรรค์ประโยชน์เพื่อวงการศึกษาไทยสืบไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image