วิศวะ มข.ผนึก 5 มหา’ลัย ปั้นบัณฑิตดิจิทัล รองรับภาคอุตสาหกรรม

วิศวะ มข.ผนึก 5 มหา’ลัย ปั้นบัณฑิตดิจิทัล รองรับภาคอุตสาหกรรม ผุดสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์

รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการจัดตั้ง “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (A.I. Engineering)” เนื่องจาก มข.มีความพร้อมในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและประเทศ ซึ่ง A.I.ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจได้นำมาใช้จำนวนมาก ขณะที่บุคลากรด้านดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ กลับขาดแคลน

“14 สาขาวิชาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.จัดการเรียนการสอนที่จะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เข้าถึงระบบ A.I.ได้ โดยมหาวิทยาลัยมีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีความเร็วสูง มีชุดฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และมีคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพสูง รวมถึง มีงานวิจัยเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร การแพทย์พยาบาล หลากหลายสาขาที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาได้ ซึ่งความร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัย ถือเป็นการดำเนินการภายใต้หลักสูตร A.I. Sandbox รวมถึง เป็นแกนกลางช่วยประสานงานระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันจัดการศึกษา แบ่งปันทรัพยากร และเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” รศ.ดร.รัชพลกล่าว

รศ.ดร.รัชพลกล่าวต่อว่า มข.เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยี A.I.มาใช้ 4 ด้านหลักๆ คือ ด้านเกษตรกรรม ด้านการแพทย์ ด้านภาคอุตสาหกรรม และด้านสมาร์ทซิตี้ ความร่วมมือจัดตั้ง A.I.Engineering เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเรียนข้ามมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง โดยทั้ง 6 สถาบัน ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรกลางขึ้น และแลกเปลี่ยนบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปเรียนรู้ข้ามมหาวิทยาลัย และเทียบโอนการเรียนได้

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม การเรียนข้ามมหาวิทยาลัยนั้น 80% ของวิชาที่เรียน จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ผู้เรียนสมัครเรียนตั้งแต่แรก และจะเรียนข้ามมหาวิทยาลัยในรายวิชาที่มหาวิทยาลัยเดิมไม่ได้เปิดสอน เป็นการเรียนแบบโมดูล ที่ผู้เรียนออกแบบการเรียนได้ และมหาวิทยาลัยสามารถร่วมมือจัดการเรียนการสอน แลกเปลี่ยนบุคลากรได้ ช่วยให้ผลิตบุคลากรได้เร็วขึ้น ลดการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัล ขณะที่นักศึกษาก็ได้รับการเพิ่มเติมองค์ความรู้ ทักษะด้าน A.I.เมื่อจบออกไป สามารถทำงานตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม” รศ.ดร.รัชพลกล่าว

รศ.ดร.รัชพลกล่าวต่อว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้นักศึกษาได้หลายปริญญาร่วมกัน และเลือกเรียนได้ โดยหลักสูตรเบื้องต้นจะแบ่ง A.I.เป็นกลุ่มๆ เช่น A.I.ด้านการแพทย์ A.I.ด้านการเกษตร A.I.ภาคอุตสาหกรรม สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น แบ่งเป็นโมดูลให้นักศึกษาเลือกเรียน โดยจะเริ่มในกลุ่มของนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ขณะนี้สามารถเรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้ ส่วนนักศึกษาที่จะเปิดรับในหลักสูตรดังกล่าวโดยตรง คาดว่าจะเริ่มในปีการศึกษา 2566 นอกจากนี้ มข.ได้นำเสนอหลักสูตรระบบรางรถไฟฟ้าความเร็วสูง ให้เป็นหนึ่งในหลักสูตร Sandbox เพื่อผลิตกำลังคนให้เท่าทันกับความต้องการโครงสร้างของประเทศ คาดว่าจะได้รับอนุมัติในปี 2565

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image