วงการศิลปะสูญเสีย ‘ถนอม ชาภักดี’ นักวิจารณ์ชื่อดัง นักสู้เพื่อประชาธิปไตย

ดร.ถนอม ร่วมกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” คืนอำนาจประชาชน ของกลุ่มราษฎร และ People Go Network ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบเดินเท้า จาก จ.นครราชสีมา ถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564

วงการศิลปะสูญเสีย ‘ถนอม ชาภักดี’ นักวิจารณ์ชื่อดัง นักสู้เพื่อประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน มีรายงานว่า ดร.ถนอม ชาภักดี อาจารย์ ศิลปิน และนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง เสียชีวิตแล้ววันนี้ (27 มิ.ย.) เมื่อเวลา 14.23 น. หลังจากป่วยด้วยอาการเส้นเลือดตีบ มีอาการแทรกซ้อนเรื่องการติดเชื้อ โดยได้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว

โดย นายสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ศิลปินอาวุโส เจ้าของรางวัลศรีบูรพา 2562 ได้โพสต์ภาพเขียน ใบหน้า ดร.ถนอม พร้อมข้อความ ด้วยความอาลัยรักอย่างยิ่ง เวลา 14.23 น. ดร.ถนอม ชาภักดี ได้ละสังขารจากไปอย่างสงบ ที่บ้านเกิด ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ #ขอให้จงสู่สุคติภพอันนิรันดร

สำหรับ ดร.ถนอม จบการศึกษาจากวิทยาลัยช่างศิลป์ ศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จบปริญญาโททางการวิจารณ์และทฤษฎีศิลปะ จาก The Kent Institute of Art & Design (KIAD), University of Kent at Canterbury (UKC), England และปริญญาเอก สาขาทัศนศิลป์ : การวิจารณ์ศิลปะ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนดำรงการเป็นนักวิจารณ์ศิลปะและเป็นพนักงานสอนทฤษฎีแนวคิดเชิงการวิจารณ์ศิลปะ วัฒนธรรม ที่สาขาวิชาทัศนศิลป์ : ศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ควบคู่ไปกับการเขียนวิจารณ์ศิลปะในสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ช่วงปลาย พ.ศ.2520 จนถึง พ.ศ.2550

Advertisement
ดร.ถนอม ชาภักดี

ดังปรากฏในนิตยสารรายสัปดาห์การเมืองต่างๆ เช่น สู่อนาคต ดอกเบี้ยการเมือง เนชั่นสุดสัปดาห์ หรือรายเดือน Decade สารคดี คลุกคลีอยู่ในแวดวงศิลปะในฐานะนักวิจารณ์มาตั้งแต่ยุคแสวงหาราคาของชีวิต ศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน จนกระทั่งยุคศิลปะเพื่อราคาทางการค้า เคยนำเสนอผลงานในเชิงศิลปะสื่อการแสดงสด (Performance art) ในช่วงทศวรรษ พ.ศ.2530-2540 ร่วมกับกลุ่มอุกกาบาต

สำหรับมุมมองทางการเมือง ดร.ถนอม เชื่อและตระหนักว่าการวิจารณ์ศิลปะเป็นวิถีทางการสร้างสรรค์บรรยากาศประชาธิปไตย และเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างงานศิลปะที่เปิดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางการวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียง แลกเปลี่ยน ในรูปแบบของศิลปะการมีส่วนร่วม (Participatory art)

โดยในช่วงที่ผ่านมา ดร.ถนอม ได้ปรากฏตัวตามวงเสวนาที่มีเนื้อหาว่าด้วยศิลปะกับประชาธิปไตย รวมถึงได้เข้าร่วมการชุมนุมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในนั้นคือการร่วม “เดินทะลุฟ้า” คืนอำนาจประชาชน ร่วมกับกลุ่มราษฎร และ People Go Network ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบเดินเท้า จาก จ.นครราชสีมา ถึงกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 247.5 กิโลเมตร เพื่อขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมเรียกร้องให้ปล่อย 4 แกนนำที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564

ดร.ถนอม ร่วมกิจกรรม “เดินทะลุฟ้า” คืนอำนาจประชาชน ของกลุ่มราษฎร และ People Go Network ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบเดินเท้า จาก จ.นครราชสีมา ถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564

โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดร.ถนอมได้ปรากฏตัวเข้าร่วมกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่หน้าศาลฎีกาหลายครั้ง รวมถึงร่วม “เดิน หยุด ขัง” เรียกร้องสิทธิการประกันตัวชั่วคราวให้กับเยาวชนและนักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งถูกคุมขังมากกว่า 10 ราย ในปี 2565

ดร.ถนอมเคยกล่าวไว้ในวงเสวนา “15 ปี แห่งเสรีภาพและศิลปะร่วมสมัยหลังรัฐประหาร” ซึ่งจัดขึ้นโดย กลุ่ม “ศิลปะปลดแอก” เมื่อ 12 กันยายน พ.ศ.2563 เพื่อสะท้อนมุมมองและผลกระทบจากการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ที่มีต่อวงการศิลปะไทย ความว่า

“ถ้าบ้านเมืองมีประชาธิปไตย ถ้าบ้านเมืองมีเสรีภาพ เราคงไม่มานั่งตากแดด ถ้าบ้านเมืองมีประชาธิปไตย การเมืองดี ศิลปะก็ไปแสดงทุกที่ ถ้าบ้านเมืองดี เราก็ได้แสดงหอศิลป์

“เกือบ 70 ปีแล้ว ไม่เคยมีศิลปะไปแสดงอยู่ทุ่งกุลา ไม่เคยมีศิลปะไปแสดงอยู่ดอยทางภาคเหนือ ไม่เคยมีศิลปะไปแสดงอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศิลปะไปกองอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำเหมือนว่าคนบ้านอื่น ภาคอื่น ไม่ใช่คน นี่คือปัญหาใหญ่ เพราะบ้านเราไม่มีประชาธิปไตย เพราะบ้านเราปกครองโดยเผด็จการมาตลอด ศิลปะถูกรับใช้ในเรื่องของศาสนา สถาบันหลักๆ มาตลอด ศิลปะไม่ได้ทำให้เราดู ทำให้เราบูชา ทำให้เรากราบไหว้ ทำให้เราไม่สามารถเข้าหาศิลปะได้เลย ตลอดเวลา นี่คือปัญหานับแต่ 6 ตุลาฯ เป็นต้นมา

“และก่อนหน้านั้น ศิลปะเคยถูกบอกว่าเป็นศิลปะเพื่อชีวิต แต่ไม่รู้ว่าเพื่อชีวิตใคร ต่อมาก็มาเป็นอาร์ตเลน (Art Lane) ยุคกลาง ถนนราชดำเนิน ก็ไม่รู้ว่าทำเพื่อใคร จนกระทั่งทุกวันนี้ ฟ้าต่ำลงเรื่อยๆ กดคนให้ยังอยู่แบบนี้ ศิลปินแสดงออก กลายเป็นอาชญากร ผลงานศิลปะกลายเป็นอาชญากรรมของรัฐ ไม่ต่างกับสมัยปี 1930-1945 ยุคฮิตเลอร์ศิลปะถูกเซ็นเซอร์ ไม่สามารถที่จะลืมตาอ้าปากได้ ศิลปินถูกฆ่าตาย ต้องอพยพไปอยู่ประเทศอื่นเป็นจำนวนมหาศาล ไม่ต่างกัน นี่คือปัญหาใหญ่

“รสนิยมการรับรู้ศิลปะ ก็รู้แต่อย่างเดียว อย่างอื่นก็ไม่ดี คือปัญหาที่เราถูกเหลามาตลอด ภาษาลาวก็พูดไม่ได้ เขาดูถูก ภาษาภาคอื่นก็พูดไม่ได้ เขาก็ว่า พูดได้แต่ภาษาไทย เขาพยายามแยกศิลปะออกจากการเมืองอยู่ตลอดเวลา

“ความจริงแล้ว ศิลปะคือการเมือง คือลมหายใจของเรา คือการ กิน ขี้ ปี้ นอน ของเราทุกวันนั่นแหละ นี่คือศิลปะ ไม่ได้หนีไปไหน อยู่กับตัวเราแท้ๆ

“นี่คือเจตนารมณ์ของศิลปะ เจตนารมณ์ของเราที่ต้องการแสดงออกอย่างมีเสรีภาพ โดยที่ไม่มีตำรวจ-ทหาร มาคอยดู คอยจับ ไม่ต้องมีใครมาระวาดระแวง อยากทำอะไรก็ทำ เรารู้ว่าเสรีภาพเรามีเท่าไหน เรารู้ว่าความคิดเรามีเท่าไหน

“ตอนนี้เราติดดินอยู่ เชื่อว่าอีกไม่นาน เราจะได้ทำอย่างที่เราปรารถนา”

 

ดร.ถนอม ร่วมกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” บริเวณสะพานลอยหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image