การเมือง ศีลธรรม อำนาจรัฐ เมื่อ ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ต้องเป็นคนดี?

จากซ้าย ถนอม ชาภักดี, ดร.วิภาช ภูริชานนท์, อติภพ ภัทรเดชไพศาล

กลายเป็นประเด็นให้ถกสนั่นกันครบถ้วนแทบทุกแวดวง ตั้งแต่รัฐศาสตร์การเมืองจนถึงสายงานวัฒนธรรม เมื่อมติ ครม.ไฟเขียวให้ถอดถอน ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ได้ หากมีความประพฤติเสื่อมเสีย กระทรวงวัฒนธรรม ปรับแก้กฎกระทรวงฉับไว ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อไม่กี่วันก่อน ทำเอาหลายฝ่ายขมวดคิ้วสงสัยว่าเป็นความจงใจ ‘ปิดปาก’ ศิลปินแห่งชาติบางรายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือไม่

งานนี้ สปอตไลต์ส่องไปที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อดีตบรรณาธิการรุ่นลายครามผู้หันมา ‘โพสต์เฟซบุ๊ก’ กระตุกปมการเมือง นานนับเนื่องยุคสมัยของ คสช.จนถึงทุกวันนี้

รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ รั้วสามย่าน ผู้สนใจศิลปะร่วมสมัยจนจัดนิทรรศการไปหมาดๆ อย่าง ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ยืนยันว่าในประเทศเจริญแล้ว ไม่มีใคร ‘กำราบ’ ศิลปิน ในขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ รั้วแม่โดม บอกว่า ‘ไม่รู้คิดอะไรอยู่’ ซ้ำทวงถามให้เปิดชื่อกรรมการ ปิดท้ายด้วยการตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการมี ‘กระทรวงวัฒนธรรม’

อย่างไรก็ตาม ศิลปินแห่งชาติ กวีรัตนโกสินทร์ และ 1 ใน 250 ส.ว.อย่าง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เชื่อว่าประเด็นนี้ ‘ไม่เกี่ยวการเมือง’ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เพราะเสี่ยงกลายเป็นการกลั่นแกล้งกันได้

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลกระเส็นกระสายว่าประเด็นนี้ถูกจุดขึ้นจากศิลปินแห่งชาติที่โด่งดังจากเพลงลูกทุ่ง ซึ่งกลับมาดังอีกรอบจากข่าวขึ้นโรงพักกรณีชู้สาวต่างหาก

ทว่า ดูจะไม่ค่อยมีใครเชื่อสักเท่าไหร่ เห็นได้ทั้งจากฝั่งค้านและฝั่งเชียร์ที่โยงปมการเมืองล้วนๆ หรือหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว ทั้งปมนกพิราบและนกเงือกจริยธรรมหรือไม่

ประเด็นถอดถอนศิลปินแห่งชาตินี้ จริงๆ แล้วไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เป็นเสียงจาก ‘ภาคประชาชน’ ซึ่งสุดท้ายไม่ถูกรับลูก ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 ศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่งร่ายบทกลอนคดี ‘หูคุณปี’ ครั้นชาวเน็ตผวนแล้วทดไว้ในใจ ก็เกิดกระแสตั้งคำถามว่าเหตุใดนักเขียนดัง ทั้งยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จึงหยิบถ้อยคำสื่อทางเพศที่เดาง่ายมากว่าสื่อถึงอดีตนายกฯหญิงของไทย จึงมีการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org และเงียบฉี่มาถึงปัจจุบัน

Advertisement

ดังนั้น นอกจากประชาชนไม่มีส่วนตอนยกย่องแล้ว แม้จะถอดถอนก็เหมือนจะไร้สิทธิไร้เสียง แต่รัฐบาลทำได้ ชวนให้สงสัยในนิยาม ‘(แห่ง)ชาติ’ ว่าหมายถึงประชาชนหรือรัฐบาล

ด้าน นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังย้อนเล่าว่า ครั้งนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตนเคยตีตกประเด็นนี้มาแล้ว เพราะไม่เห็นด้วย

ยังไม่นับความยุ่งเหยิงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตลอดมา ทั้งความสามารถในศิลปินบางท่านที่ถูกตั้งคำถาม จนเกิดการประท้วงมาแล้ว เช่น โนราห์หญิงท่านหนึ่ง ที่น่าสนใจกว่านั่นคือในประวัติศาสตร์การยกย่องศิลปินแห่งชาติเองก็มีผู้ ‘ปฏิเสธ’ มาแล้ว อย่าง ‘อุดมทรงแสง’ หรือ พ่อดม ชวนชื่น ที่ออกตัวว่าตน ‘ไม่คู่ควร’ กับการเป็นศิลปินแห่งชาติ เพราะติดเที่ยวอาบอบนวด ก่อนย้ำว่า ยังไม่มีใครมาเสนอให้ เพียงแต่มีการ ‘เกริ่น’ กัน

หรือย้อนไปไกลกว่านั้น และชัดเจนยิ่งกว่า คือกรณี คอลัมนิสต์ไม่ติดกระดุมบน สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งได้รับเชิดชูเกียรติแล้วอย่างเป็นทางการ มีชื่อในเอกสารว่าเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2545 ทว่า เจ้าตัวยืนยัน ‘ไม่รับ’ ทั้งตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ค่าตอบแทน’ รายเดือน รวมถึงสวัสดิการทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ว่าตน ‘มือไม่ถึงขั้น’ และไม่ต้องการรับเงินจากภาษีจากประชาชน ซึ่งควรนำไปทำอย่างอื่นมากกว่าเอามาให้ตน แต่ทุกวันนี้

สุจิตต์ยังถูกด่าจากคนบางกลุ่มว่ากินเงินเดือนศิลปินแห่งชาติ แต่เป็นพวก ‘ชังชาติ’ ทั้งจากข้อเขียนและบทกลอนที่ไม่เข้าแถวตามระเบียบพัก

นี่เป็นอีกครั้งที่ปมปัญหาเหล่านี้ ควรถูกยกมาถกเถียงกันอย่างจริงจัง

‘สุจิตต์’ ปฏิเสธรับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ โดยเฉพาะค่าตอบแทนรายเดือน รวมถึงสวัสดิการทั้งหมด พร้อมให้เหตุผลว่ามือไม่ถึงขั้น

ศิลปิน ‘แห่งชาติ’ ผูก ‘อุดมการณ์รัฐ’
ศีลธรรมกำกับ ‘ห้ามนอกลู่นอกทาง’?

ย้อนกลับมาในความคลางใจของสังคม ว่าปมถอดถอนศิลปินแห่งชาติเกี่ยวการเมืองหรือไม่ หากลองสมมุติว่าไม่เกี่ยวกับการวิพากษ์รัฐบาล แต่เป็นเรื่อง จริยธรรม ศีลธรรม ความดี อย่างแท้จริง จะกล่าวได้อย่างไรว่าสุดท้ายนี่ไม่ใช่อุดมการณ์รัฐ ?

อติภพ ภัทรเดชไพศาล นักแต่งเพลง เจ้าของผลงาน ‘ดนตรี พื้นที่เวลา : มองการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ผ่านดนตรี’ ยกตัวอย่าง โซเวียตยูเนียน หรือประเทศสังคมนิยม ซึ่งการได้รับรางวัลใดรางวัลหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าตัวศิลปินทำตามอุดมการณ์ของรัฐหรือไม่

“เป็นที่รู้กันว่าศิลปินที่ได้รางวัลใหญ่ๆ ในโซเวียตสมัยก่อน คนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือหลักการของคอมมิวนิสต์บ่อยๆ จะไม่มีทางได้รับรางวัล ‘People’s Artist’ เด็ดขาด ต้องอยู่ฝ่ายรัฐเท่านั้น ถ้ามาเทียบกับอุดมการณ์ของรัฐไทยจะพบว่าไทยเป็นรัฐที่ค่อนข้างมีภาพลักษณ์แบบศีลธรรมจัด เพราะฉะนั้นความคิดที่จะควบคุม กำกับศีลธรรมของตัวคนทำงานศิลปะ ก็เกิดขึ้นจากอุดมการณ์รัฐไทยที่พยายามผูกโยงตัวเองเข้ากับศาสนาอย่างมาก

“ในขณะที่ประเทศ อื่นๆ โดยเฉพาะทางตะวันตก ปัญหานี้อาจไม่รุนแรง เพราะเขามองว่าการทำงานศิลปะเป็นคนละเรื่องกับชีวิตส่วนตัว นี่คือหลักการที่สากลยอมรับอยู่แล้ว สำหรับในไทยถ้ามีคนอ้างเหตุผลว่าศิลปินบางคนที่ ‘ออกนอกลู่นอกทาง’ ในเชิงศีลธรรม สุดท้ายตำแหน่งนี้คือการรับใช้อุดมการณ์ของรัฐนั่นเอง”

ถามว่าการมีมติถอดถอนได้ จะไปจำกัดสิทธิ เสรีภาพของศิลปินในการพูด การวิจารณ์การเมืองหรือเปล่า ?

“ก็แน่นอน (หัวเราะ) ต้องดูต่อไปว่าจะมีการทำอะไรกับศิลปินเหล่านั้นอย่างไร เราบอกไม่ได้ว่ารัฐบาลตั้งใจอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า แต่โดยรวมคือเป็นความพยายามควบคุมให้อยู่ในอำนาจรัฐให้มากกว่าเดิม ที่ผ่านมาอาจรู้สึกว่าหละหลวมไปหน่อย” อติภพวิเคราะห์

แม้ศิลปินแห่งชาติของไทย จะไม่ใช่ ‘รางวัล’ แต่เป็นการยกย่องที่มีภาระผูกพันดังที่กล่าวมาข้างต้น ความเห็นนี้ก็เทียบเคียงให้เห็นภาพบางอย่างที่น่าสนใจยิ่ง

ศูนย์กลาง ‘อำนาจ’ ทางวัฒนธรรม คุมขังในนิยาม ‘ชาตินิยม’

อีกมุมมองต้องขยายคำนิยาม ‘แห่งชาติ’ ที่พ่วงท้ายศิลปินผู้ได้รับการยกย่อง ซึ่ง ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง มองว่า ความที่ศิลปินแห่งชาติเป็นลักษณะการสร้างศูนย์กลางอำนาจทางศิลปวัฒนธรรม ทำให้ศิลปินถูกตีกรอบไว้ในความเป็นชาติ แต่ “ชาติ” ในนิยามของบ้านเรามีลักษณะความเป็นชาตินิยม ปัญหานี้จึงทำให้พลังของกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะ หรือแนวคิดจินตนาการทางศิลปะของศิลปินถูกขมวดดึงเข้าไปในความเป็นศิลปินแห่งชาติ

“ผมว่าประเด็นนี้น่ากลัวตรงที่ว่าระหว่างโควิด-19 กำลังระบาดอยู่ สิ่งที่ต้องการที่สุดคือพลวัตทางการสร้างสรรค์ หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเราต้องการพลังเหล่านี้ในเรื่องการทำงานด้านศิลปะ

“ในระเบียบความเป็นศิลปินแห่งชาติมีลักษณะของการเซ็นเซอร์เยอะอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มหมวดการถอดถอนเข้ามา ผมรู้สึกว่ามันไม่เหลืออะไรแล้ว จะได้ความเชื่อง หรือกระบวนการการคัดสรรตามที่รัฐต้องการมากกว่า”

ประเด็นความ ‘เชื่อง’ หรือถูกทำให้เชื่องนี้

ถนอม ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่แคร์ว่าศิลปินจะมีแนวคิดต่อต้านรัฐหรือไม่

“ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ เขามีฐานะที่มีพลวัต ไม่ได้แคร์ว่าคุณจะมีแนวคิดในเชิงปฏิเสธ หรือมีลักษณะของการต่อต้านในกลไกของรัฐหรือไม่ ไม่เกี่ยวกันเลย ซึ่งผมว่าเสรีภาพตรงนี้ดีกว่า ประเทศฟิลิปปินส์มีศิลปิน 4 แสนคน รัฐเข้าไปอุ้ม ทั้งๆ ที่ดูแตร์เตก็ไม่ได้มีความคิดต่างจากบ้านเราเท่าไหร่ แต่ในแง่กระบวนการทำงานศิลปะเขาเข้มแข็ง

“ญี่ปุ่นเองยิ่งไม่มีใครไปแตะ เพราะศิลปินถือเป็นสมบัติที่มีชีวิตของชาติ ให้เสรีภาพในการทำงาน ดังนั้น กระบวนการสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้นได้อย่างไม่จำกัด ไม่ไปตีกรอบว่าคุณจะต้องประพฤติหรือไม่ประพฤติแบบไหน ถ้าจะมาเอาแนวคิดเรื่องของจริยธรรม ศีลธรรม มากองกันก็ไม่มีใครได้ เพราะนั่นคือคุณไปเล่นในวิธีคิด เล่นกับความคิดในความเป็นปัจเจกจนไม่เหลืออะไรเลย ซึ่งไม่มีใครอยู่ในโลกของความเป็นอุดมคติในทางจริยธรรมหรือศีลธรรมได้อยู่แล้ว ดังนั้นที่ให้กันมาก็ต้องถอดถอนกันหมด”

 

ถนอม ชาภักดี

‘ถ้ากำราบได้ ก็จบกัน’
แนะใช้ ‘ศิลปินแห่งรัฐ’ ไม่ใช่ ‘แห่งชาติ’

ส่วนประเด็นศิลปะกับการเมือง ถนอม ยืนยันมาตลอดว่าศิลปะเกี่ยวข้องกับการเมืองทุกระดับอยู่แล้ว เพราะศิลปะคือภาพหรือกระจกสะท้อนการเมืองและวัฒนธรรมอยู่แล้ว เราจะดีไซน์ได้อย่างไรว่าศิลปะมันบริสุทธิ์ ไม่มีหรอก แม้แต่งาน Abstract เองก็เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่มันซ่อนในกระบวนการการแสดงออกเฉยๆ สำหรับผมไม่เชื่ออยู่แล้วว่าศิลปะจะปลอดจากการเมืองนี่คือสิ่งที่ตนสงสัยอยู่ตลอดเวลา

“สำหรับผมแล้วกระบวนการการสร้างสรรค์ หรือแนวความคิดเรื่องการทำงานทางศิลปะไม่สามารถนำเรื่องศีลธรรม จริยธรรม มากำราบกันได้ ถ้ากำราบได้ก็จบกัน สามารถให้ใครก็ได้ตามที่คิดว่าอยู่ฝั่งฝ่ายที่สนับสนุนในลักษณะความเป็นชาติตามทัศนคติของรัฐมากกว่า น่าจะเปลี่ยนเป็นศิลปินแห่งรัฐ ไม่น่าจะเป็นแห่งชาติ

“หากอำนาจทางศิลปวัฒนธรรมอ่อนแอไปแล้ว ผมว่าเรื่องอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง เราไม่สามารถทำอะไรได้อยู่แล้ว ซึ่งหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมคือการดูแล สนับสนุนคนที่ทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ทางศิลปะ ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่าละอายทีเดียวที่ทำไมหน่วยงานของรัฐโดยตรงอย่าง วธ.ไม่เข้ามายื่นมือช่วยเหลือ ในทางกลับกันกลับมีมาตรการกำราบ สร้างความหวาดผวาให้ศิลปินมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจ”

มอง ‘โลก’ เรียกคืน ‘รางวัล’ สวัสดิการ-หน้าที่รับใช้รัฐ ไม่มี

จากศิลปินแห่งชาติไทย ลองมองไกลไปในโลกสากล ซึ่ง ดร.วิภาช ภูริชานนท์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ให้ข้อมูลว่า ในต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการให้ ‘รางวัลทางศิลปวัฒนธรรม’ กับผู้ทำนุบำรุง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนสัญชาติตัวเอง และมักเป็น ‘อวอร์ด’ หรือรางวัล

“ญี่ปุ่น มี National Tresure ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับศิลปินแห่งชาติของไทย ตัวบุคคล และทักษะความรู้ของเขาเป็นของชาติ แต่รู้สึกว่าจะไม่ได้มีหน้าที่ทำนุบำรุงรัฐมาเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่รางวัลพวกนี้เหมือน ‘โนเบล’ คือ สามารถเรียกคืนได้ เหมือน ออง ซาน ซูจี ที่พอไปเกี่ยวกับเรื่องโรฮีนจา แล้วโดนเรียกคืน

อีกรางวัลหนึ่งคือ รางวัลฟูกุโอกะ คนไทยเคยได้หลายคน โดยสาขาเกี่ยวกับศิลปะนั้น อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เคยได้รับ”

สำหรับฝั่งยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่ให้ความสำคัญกับศิลปะมาก ดร.วิภาช บอกว่า มีการให้อวยยศเป็น ‘อัศวิน’ แต่ไม่ได้ให้เฉพาะคนในชาติตัวเองเท่านั้น ถ้าทำงานด้านวัฒนธรรมโดดเด่น ไม่ว่าถือสัญชาติอะไรก็ให้ คนไทยก็ได้หลายคน เช่น แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนชื่อดัง

รวมถึง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 63 และ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ในฐานะบุคคลที่โดดเด่นในการเผยแพร่วัฒนธรรมของฝรั่งเศสทั้งในและต่างประเทศ ซึ่ง 2 รายหลังนี้ ได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ฝรั่งเศส ชั้น Officier สาขา des Arts et des Lettres (ศิลปะและวรรณกรรม) จากกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐฝรั่งเศส

‘เจ้ย อภิชาติพงศ์’ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ครั้งที่ 63


สำหรับของเนเธอร์แลนด์ก็คล้ายๆ กัน คือให้ชาวต่างชาติด้วย และให้ทุกปี แบ่งเป็นสาขาต่างๆ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ รางวัลเหล่านี้ ไม่ได้มาพร้อมหน้าที่ สวัสดิการ และการรับใช้รัฐ

“พอเป็นรางวัลจึงไม่ได้มาพร้อมหน้าที่และสวัสดิการ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับกรณีศิลปินแห่งชาติของไทย หลายครั้งศิลปินแห่งชาติจะได้รับเชิญไปเป็นบอร์ดตัดสินรางวัลต่างๆ ทำหน้าที่เป็นผู้ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ในขณะที่มีเงินเดือนด้วย เหมือนเป็นการทำงานรับใช้รัฐ ในขณะที่อวอร์ดคือได้แล้วจบ”

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของความคิด ความเห็นในประเด็นศิลปินแห่งชาติที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวโยงกับการเมืองเรื่องรัฐชาติ ไม่ว่าการกดปุ่มไฟเขียวถอดถอนได้นั้น จะมาจากแนวคิด ‘ปิดปาก’ อย่างที่สังคมตั้งคำถามหรือไม่ก็ตาม



เปิดโพล ‘มติชนออนไลน์’ ถอดศิลปินแห่งชาติ เกี่ยว ‘การเมือง’ หรือไม่?

สืบเนื่องกรณี ครม.มีมติเห็นชอบให้สามารถถอดถอนศิลปินแห่งชาติที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมได้ โดยกระทรวงวัฒนธรรมแก้ไขกฎเรื่องคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ การคัดเลือก กระทั่งเกิดการตั้งคำถามว่า อาจมีความเกี่ยวโยงกับ ‘การเมือง’ เพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นและการแสดงออกของศิลปินแห่งชาติบางราย

‘มติชนออนไลน์’ ได้สอบถามว่า ท่านเชื่อว่ากรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ ‘การเมือง’ หรือไม่

โดยให้สามารถแสดงความคิดเห็นได้ทาง เฟซบุ๊กมติชนออนไลน์ ผลปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ ประมาณ 91% มองว่า “เกี่ยวการเมือง” และอีก 9% มองว่า “ไม่เกี่ยวการเมือง”

ขณะที่การแสดงความเห็นทาง ทวิตเตอร์มติชนออนไลน์ เสียงส่วนใหญ่ 88.9% มองว่า “เกี่ยวการเมือง” และอีก 11.1% มองว่า “ไม่เกี่ยวการเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image