นิสิตสถาปัตย์จุฬาฯ จับมือ ประชานฤมิตร พัฒนาชุมชนผ่านนิทรรศการ บางโพซิเบิ้ล

นิสิตสถาปัตย์จุฬาฯ จับมือ ประชานฤมิตร พัฒนาชุมชนผ่านนิทรรศการ บางโพซิเบิ้ล

ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการ “ค่ายสถาปัตย์ Arch CU Summer ปฏิบัติการออกแบบสหศาสตร์ภาคฤดูร้อนร่วมกับชุมชนประชานฤมิตร เพื่ออนุรักษ์พัฒนาชุมชนยั่งยืน 2565” เปิดเผยว่า ชุมชนเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ที่ประกอบอาชีพต่างๆ ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ต้องปรับตัเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง จากการขยายตัวของเมือง และธุรกิจการค้าในโลกยุคใหม่ ประกอบกับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจซบเซา หนึ่งในนั้นคือ ชุมชนประชานฤมิตร ชุมชนเก่าแก่ย่านบางโพ ที่รู้จักกันดีในฐานะแหล่งรวมผู้ประกอบการงานไม้มายาวนานกว่า 80 ปี โครงการนี้เปิดโอกาสให้นิสิตคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ 40 คน ใช้เวลาช่วงปิดเทอม ลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ ออกแบบปรับปรุงแก้ปัญหา และลงมือสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับชาวชุมชน บูรณาการการทำงานร่วมกัน จนกลายเป็นนิทรรศการ “บางโพซิเบิ้ล” หรือ BANG PO (SSIBLE) จัดแสดงที่ศูนย์การเรียนรู้ นิทรรศการถนนสายไม้บางโพ ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม

ผศ.ดร.ปริญญ์กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากชุมชนประชานฤมิตร บางโพ ติดต่อมา เนื่องจากธุรกิจงานไม้ของชุมชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึง สภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ช่างฝีมืองานไม้ในชุมชนขาดคนรุ่นใหม่สืบทอด ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดิมๆ นอกจากนี้ ชุมชนยังต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ จากการพูดคุยกับชาวชุมชนประชานฤมิตร เห็นว่าศักยภาพของชุมชนจะต้องปรับเปลี่ยนจากการขายวัสดุงานไม้ ไปสู่การออกแบบที่เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ โดยคณะได้ลงนามความร่วมมือกับชุมชนเป็นระยะเวลา 3 ปี โดย 2 ปีแรก ได้นำเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนนิสิตในคณะ และใช้เวลา 1 เดือนที่นิสิตปิดเทอม จัดโครงการค่ายสถาปัตย์ฯ ซึ่งนำโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากชุมชนเมืองมาให้นิสิตร่วมกันคิด ทำงานร่วมกับชุมชน จัดทำข้อเสนอ และเชิญชุมชนมาให้ข้อคิดเห็น จนเป็นนิทรรศการบางโพซิเบิ้ล

Advertisement

“นิทรรศการครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่นิสิตกับช่างฝีมือในชุมชนจับมือทำงานร่วมกัน ให้ข้อเสนอแนะ เกิดเป็นผลผลิตที่จับต้องได้ ประชานฤมิตรเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีหลายเจเนอเรชั่น ความท้าทายอยู่ที่ทำให้คนในชุมชนมาพูดคุยในเรื่องเดียวกัน เกิดความเห็น และผลักดันโครงการที่นิสิตนำเสนอ นอกจากนี้ ข้อเสนอของนิสิตในการปรับปรุงในเชิงพื้นที่ไปสู่อนาคต ชุมชนทำเองไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ และกลุ่มที่สนับสนุน ความยั่งยืนต้องเกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่เริ่มแรก และสถาบันการศึกษาเข้าไปช่วยสนับสนุน นิทรรศการครั้งนี้ จะทำให้คนในชุมชนเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่จะเกิดในอนาคต บุคคลภายนอกจะได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของเมือง ได้สัมผัสบรรยากาศของชุมชนที่เป็นแหล่งรวมงานไม้ที่ครบวงจรที่เดียวในกรุงเทพฯ ขณะที่เยาวชนได้แรงบันดาลใจในเรียนต่อคณะสถาปัตย์” ผศ.ดร.ปริญญ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image