สกศ. เผยหนทางพัฒนาแรงงานอย่างยั่งยืน รับการเปลี่ยนแปลงในโลกผันผวน 

สกศ. เผยหนทางพัฒนาแรงงานอย่างยั่งยืน รับการเปลี่ยนแปลงในโลกผันผวน 

เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า การยกระดับอันดับความสามารถแข่งขันที่จัดโดย IMD ให้ดีขึ้น 3 อันดับ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ประเทศไทยสามารถทำให้ดีขึ้นได้ถึง 3 อันดับในปี 2565 เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาการศึกษาของไทยเข้าสู่เส้นทางที่ดีแล้ว อย่างไรก็ดี ไทยยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในโลกที่ผันผวนอีกหลายมิติ ได้แก่ 1. ความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในอัตราเร่ง โดยเราอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีหมุนเร็วกว่าเมื่อก่อนถึง 20 เท่า และโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด– 19 จะหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม 2.อัตราการเกิดลดลงต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบกับปี 2538 แล้วในปี 2564 อัตราการเกิดลดลงเหลือครึ่งเดียว 3.จำนวนประชากรวัยแรงงานเริ่มลดลงมาตั้งแต่ปี 2558 จากสังคมสูงวัย และ 4.รายงานของ ILO แสดงว่าอัตราการว่างงานทั่วโลกยังสูงกว่าช่วงก่อนกรระบาดโควิด-19 อย่างน้อยถึงปี 2023 และรายงานแนวโน้มการจ้างงานทั่วโลกยังมีความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศมากขึ้น

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า สำหรับแรงงานกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างงานกลุ่มแรกๆ มักเป็นกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งส่วนใหญ่มีการย้ายกลับต่างจังหวัดและต้องหางานอื่นทำ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานชั่วคราว และยังคงมีความเสี่ยงตกงาน ในขณะที่กลุ่มแรงงานที่ยังคงอยู่ในระบบ อำนาจในการต่อรองกับนายจ้างลดลง และภาระงานเพิ่มขึ้นส่งผลให้การ Reskill และ Upskill เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ ทั้งนี้ ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้มีงานทำ 37.7 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 18.1 ล้านคนหรือ คิดเป็นเพียง 48% ในขณะที่มีแรงงานนอกระบบ (ซึ่งไม่มีสวัสดิการ) มากถึง 19.6 ล้านคน หรือ 52% สถานการณ์ข้างต้น ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลการวิจัยของ สกศ. ชี้ชัดว่าหากเราต้องการรักษาการเติบโตเศรษฐกิจเทียบเท่าปัจจุบัน คน/แรงงานของเราต้องเก่งขึ้น 2.2 เท่า และหากต้องพัฒนาประเทศให้มีอัตราการเติบโต มีรายได้ต่อหัวของจังหวัดเพิ่มขึ้น ประชากรต้องมีความสามารถมากกว่าปัจจุบัน ไม่น้อยกว่า 2.5 เท่า การแก้ปัญหาและการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องทำควบคู่กัน 2 ด้าน ได้แก่ 1.ระบบการศึกษา ต้องเร่งปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาคนสมรรถนะสูงเพื่อยกระดับความสามารถให้สูงขึ้น และ 2.การพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญ และรายได้หนทางแก้ปัญหในโลกที่ผันผวนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนคือต้องเร่งพัฒนาคนและแรงงานให้โดดเด่น ทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานในปัจจุบันและอนาคต 

โดยกลุ่มแรงงานในระบบ ต้องเร่งส่งเสริมและมีมาตรการให้พัฒนาตนเองให้มี ได้แก่ 1.มีองค์ความรู้พื้นฐาน ในสายงานของตนเองอย่างลึกซึ้ง 2. มีทักษะหลัก  และทักษะเสริม 3.รู้จักแก้ปัญหาที่ซับซ้อน โดยใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ควบคู่กับความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์ 4.เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อยกระดับความสามารถในการทำงาน 5.เป็นนวัตกรในองค์กร สามารถคิดค้นสิ่งที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถขององค์กร 6. มีทักษะในการสื่อสารด้วยการเรียนและการพูดที่ดีเยี่ยม 7. เรียนรู้ด้วยตนเองรวดเร็ว สามารถปิดช่องว่างทักษะ ที่เกิดขึ้นในการทำงานได้กลุ่มแรงงานนอกระบบ ต้องเร่งส่งเสริมให้พัฒนาทักษะสำคัญ คือ 1.ทักษะการสร้างงาน เพื่อสามารถนำทักษะและองค์ความรู้ที่มีสร้างอาชีพให้กับตนเองได้ ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน และ 2.ทักษะในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างงาน ให้สามารถยกระดับงานที่ทำอยู่ให้มีคุณค่ามากขึ้นนายอรรถพล กล่าว 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image