ผอ.สำนักพิพิธภัณฑ์ฯ ชวนชม ‘อาโรคยปณิธาน’ ครั้งแรกในไทย โชว์ปวศ. ‘การรักษาโรค’ จากหลุมขุดค้นถึงคัมภีร์ลายลักษณ์

นิตยา กนกมงคล

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ห้องกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดกิจกรรม “ห้องเรียนประวัติศาสตร์โรค” พาย้อนสำรวจเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมนุษย์กับการเผชิญหน้าโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาดสมัยโบราณ ที่ต่อเนื่องมาสู่ยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัยใหม่ โดยกิจกรรมภายในงานแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงเสวนา และช่วงนำชมนิทรรศการ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ 13.00 น. น.ส.นิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวเปิดกิจกรรมความว่า สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ยินดีอย่างยิ่งที่ทาง สำนักพิมพ์มติชนเข้ามาร่วมใช้พื้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “อาโรคยปณิธาน” ซึ่งเป็นนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2565 จัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกพิมาน พช. พระนคร

“ถ้าเราไม่รู้ราก ไม่รู้เรื่องที่ผ่านมา เราก็อาจจะเดินไปโดยไร้ทิศทาง คือสิ่งที่กรมศิลป์ทำต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน 2 ปีที่ผ่านมา เราเจอวิกฤต ไม่เฉพาะไทย แต่ทั่วโลก โรคระบาดกลับมาสร้างปัญหาให้เราหลังจากห่างหายมา 10-20 ปี มาอีกครั้งเราแตกตื่น ไม่รู้จะไปอย่างไร กรมศิลป์ในฐานดูแลรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลากหลายประเทศ ไม่ว่าสมุดไทย คัมภีร์รักษาโรค หรือแม้แต่หลักฐานทางโบราณคดีที่เราขุดค้นพบจากแหล่งโบราณคดีทั่วประเทศไทย เหล่านี้สะท้อนให้เราทราบถึงกิจกรรม หรือสิ่งที่มนุษย์ในอดีตได้ผจญมา ประเด็นที่สำคัญคือ มนุษย์เรารู้จักโรคภัยตั้งแต่ยุคที่มนุษย์ยังไม่รู้ว่าโรคมีที่มาจากไหน ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อร่างกายเจ็บปวดก็เชื่อว่า เทพยดา ผีฟ้า ทำร้ายเขา มีเรื่องของหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมนุษย์ในอดีต ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา รัตนโกสินทร์ พยายามหาวิธีจัดการโรค

อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ อาโรคยปณิธาน คือ ความปราถนาของมวลมนุษยชาติที่จะพ้นจากโรคภัยและความทรมานอันเกิดจากโรคภัย ดังนั้น มนุษย์ทุกยุคสมัยมีวิธีจัดการกับโรคภัยมาตลอดเป็นหมื่นปี ในไทยมีหลักฐานบอกเล่าเรื่องนี้อยู่ กรมศิลป์จัดแสดงเรื่องนี้เพื่อส่งต่อความรู้ในอดีตให้กับพวกเราในปัจจุบัน ไม่แน่ประสบการณ์ในอดีต อาจเป็นข้อคิดให้เราจัดการโรคและวิกฤตที่เราเจอกันอยู่ในปัจจุบันและอนาคต” น.ส.นิตยากล่าว

Advertisement

น.ส. นิตยากล่าวว่า นี่คือวัตถุประสงค์ของนิทรรศการครั้งนี้ ไฮไลต์คือ วัตถุจัดแสดงที่ไม่เคยเห็นมาก่อน หรือเคยเห็นแต่ไม่เคยบอกเล่า ถือเป็นนิทรรศการรวมการรักษาโรคที่จัดแสดงในบ้านเราเป็นครั้งแรก ซึ่งจะจบในสัปดาห์หน้า โบราณวัตถุ หลักฐานต่างๆ จะถูกเก็บไปอยู่ในคลัง และถ่ายเก็บไว้ในเว็บไซต์

Advertisement

“ยินดีอย่างยิ่งที่สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์มติชนมาร่วมจัดกิจกรรม พานักวิชาการเฉพาะเรื่อง ไม่ว่า ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง และ รศ.นพ. เอกชัย โควาวิสารัช เข้ามาเสริมเพิ่มเติมจากหนังสือที่อาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้ศึกษาและเขียน

ถือว่าเราได้ตอบสนอง เป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับสังคม เป็นโอกาสที่รับประสบการณ์จากอดีตไปพิจารณาเป็นบทเรียน โดย=jวงนี้จะมีกิจรรมต่อเนื่อง พรุ่งนี้ 31 ก.ค. สำนักพิพิธภัณฑ์มีกิจกรรมสำหรับครอบครัว ‘รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี’ สมุนไพร D.I.Y. ชวนครอบครัวร่วมทำยาสูตรต่างๆ ได้วิทยาการจากบ้าน หมอหวาน ภาสินี ญาโณทัย มาสอนทำยาดม ดร.พท.ป.นรินทร์ กากะทุม อาจารย์สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม สอนทำยาหอมโบราณ ในช่วงบ่าย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Shoot and share ถ่ายภาพวัตถุชิ้นที่เราสนใจ โพสต์ในเฟซบุ๊ก ถึง 31 ก.ค.นี้ โดยจะมีรางวัลมอบให้ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นว่าจาการเที่ยวชมได้รับอะไรบ้าง ซึ่งจะแจ้งรายชื่อในช่วงสัปดาห์หน้า” น.ส.นิตยากล่าว (อ่านข่าว นักปวศ. เล่าเรื่อง ‘กองทัพผี’ ย้อนวิธีจัดการโรคระบาดยุคโบราณ ‘ย้ายเมืองหนี-ทำพิธีปลอบขวัญ’)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image