ผอ.ศูนย์อาเซียนฯ มธ.เชื่อ’คลินตัน’ชนะเลือกตั้ง แจงยิบ 4 ปัจจัยกำหนดแพ้-ชนะ

รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มธ. (ภาพจาก http://www.drprapat.com)

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมบุญชูโรจนเสถียร ตึกอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ศูนย์อาเซียนศึกษา มธ. และสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง โค้งสุดท้ายสู่ทำเนียบขาว ผลกระทบต่ออาเซียนและไทย

รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มธ. กล่าวว่า นโยบายของคลินตันวิเคราะห์ไม่ยาก เพราะหลักแล้วจะสานต่อนโยบายของโอบามา ผลกระทบต่อไทยอาจจะต่างไปเล็กน้อย ในแง่ของนางคลินตัน ซึ่งเป็นพรรคเดโมแครต จะมองโลกในแง่ดี การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างมาตรการทางการทูตในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ แต่คลินตันก็รู้ดีว่านี่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้อเมริกาอ่อนแอ ขณะที่ทรัมป์ชูธงว่าจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คลินตันก็รู้ตัวว่าถ้าจะปิดช่องโหว่ตรงนี้ก็ต้องมีการนำเสนอนโยบายที่แข็งกร้าวกว่านโยบายของโอบามา เช่น นโยบายต่อตะวันออกกลางน่าจะเป็นเรื่องหลัก เรื่องใหญ่คือ ไอซิส โอบามาพยายามจัดการมาหลายปีแต่ปัญหายังคาราคาซัง คลินตันได้เปรียบตรงที่เคยเป็น รมต.ต่างประเทศ ฉะนั้นเรื่องนโยบายหรือมาตรการอะไรสามารถอธิบายรายละเอียดได้ นี่คือข้อได้เปรียบทรัมป์มาก

ส่วนนโยบายทางการค้า ทรัมป์ต่อต้านทีพีพีเต็มที่ ในระยะหลังๆ คลินตันเองก็มีท่าทีที่สนับสนุนก็มาต่อต้าน เพราะต้องการเอาใจคนงานอเมริกันส่วนใหญ่ที่เชื่อว่า เอฟทีเอ ทำให้อเมริกันตกงาน คลินตันจึงมามีนโยบายนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นก็ตาม จะมีนโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้น

นโยบายต่อเอเชีย อาเซียน และไทย ของคลินตัน สานต่อนโยบายของโอบามา ผลกระทบคงไม่ต่างจากโอบามา คือเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน ขณะที่ทรัมป์มีแนวนโยบายขวาจัดสุดโต่ง ชาตินิยมสุดโต่ง นโยบายแบบนี้เราไม่ได้เห็นมาหลายสิบปี คิดว่าไม่เคยมีคนที่มีนโยบายสุดโต่งเช่นทรัมป์ แต่น่าจะเคยเกิดขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่มีลัทธิฟาสซิสต์ กับนาซี เพราะปัจจุบันพรรคนีโอนาซี นีโอฟาสซิสต์ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในยุโรป ฉะนั้น คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็เอียงขวาไปแบบตกขอบ

Advertisement

หัวใจสำคัญของนโยบายแบบนี้ของทรัมป์คือ ทรัมป์คิดว่าขณะนี้อเมริกาตกต่ำมากๆ เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงานเยอะ ปัญหาต่างๆ มากมาย ระบบการศึกษาเสื่อม ประกันสุขภาพเสื่อม สังคมมีปัญหา อาชญากรรมสูง โครงสร้างพื้นฐานเสื่อม คนส่วนใหญ่คิดว่าปัจจจุบันไม่มีอเมริกันดรีมแล้ว คนรุ่นลูกไม่ได้ดีกว่าพ่อ แต่คนอเมริกันกำลังโกรธในปัญหาต่างๆ บทบาทในเวทีโลกก็ตก ทำอะไรก็ล้มเหลว ปัญหาก่อการร้ายแก้ไม่ได้ จีนและรัสเซียมีบทบาทมากขึ้น

ทรัมป์บอกว่าสาเหตุมาจากโลกาภิวัตน์ การเปิดประเทศของอเมริกา ขณะที่คนอื่นเขาปิด เอฟทีเอทำให้บริษัทต่างๆ ย้ายฐานไปที่อื่น จีนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาตกต่ำ โรงงานปิดกว่า 5 หมื่นแห่ง คนงานตกงาน 10 ล้านคนเพราะจีนไม่แฟร์ มาตรฐานแรงงานต่ำ มาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่ำ จึงอยากเล่นงานจีนเพราะจีนไม่แฟร์ และยังเสื่อมเพราะใช้จ่ายทางทหาร ยุ่งกับทั่วโลกมากเกินไปเลยทำให้เป็นหนี้มหาศาล ใช้จ่ายเกินดุล แล้วพันธมิตรเหล่านี้ก็เอาเปรียบ ให้อเมริกาจ่ายคนเดียวในเรื่องการป้องกันประเทศ ยังมีเรื่องของแรงงานเถื่อนมากกว่า 10 ล้านคน โดยเฉพาะจากเม็กซิโกที่มาแย่งงาน
ทางแก้คือ ต้องเล่นงานจีน เลิกเอฟทีเอ ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ให้พันธมิตรช่วยเหลือตัวเอง สร้างกำแพงต่อต้านแรงงานเถื่อน ซึ่งสิ่งที่เขาคิดโดนใจคนอเมริกันเยอะมาก ถึงมาสนับสนุนทรัมป์ เพราะเขาเชื่อว่านี่คือสาเหตุและทางแก้ที่เหมาะสม

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดว่าใครจะแพ้-ชนะ มองว่ามี 4-5 ปัจจัย
1.วัฏจักรการเมืองของอเมริกา เก้าอี้ประธานาธิบดีวนอยู่ที่ 2 พรรคเป็นเวลานับร้อยปี ปัจจุบัน เดโมแครตเป็นรัฐบาลมาแล้ว 8 ปี คนอเมริกันเบื่อหรือยัง ถ้าเบื่อแล้วก็เป็นทีของทรัมป์ซึ่งเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน เท่าที่ดูแนวโน้ม น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของรีพับลิกัน
2.ความไม่พอใจของคนอเมริกัน ที่ไม่พอใจที่อเมริกาเสื่อมลง คิดแบบทรัมป์ซึ่งเขาเสนอคำตอบทุกอย่างว่าอะไรคือสาเหตุให้อเมริกาเสื่อม และจะทำให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้อย่างไร ซึ่งทรัมป์จะได้เปรียบ เพราะโลกตะวันตกเอียงขวาไปมาก แม้แต่ในยุโรปเอง ซึ่งเบรกซิทเป็นตัวอย่างที่ดีของการเอียงขวา
3.ปัญหาการก่อการร้ายที่มีการเตือนว่าจะเกิดในวันที่ 8 ถ้ามีความรู้สึกว่าก่อการร้ายจะหนักขึ้น ก็เข้าทางทรัมป์เพราะคนมองว่าเดโมแครตอ่อนแอ จอร์ช บุช เองยังเคยพูดว่า ถ้าต้องการให้เกิด 11 กันยาครั้งใหม่ก็เลือกเดโมแครต
4.ปัจจัยด้านบุคลิกภาพที่เป็นตัวกำหนด จากการดีเบตทั้ง 3 ครั้ง คลินตันพยายามโจมตีเรื่องส่วนตัวและบุคลิกของทรัมป์ แม้จะเสียคะแนนแต่ไม่ถึงกับน็อก ขณะที่คลินตันมีปัญหาเรื่องอีเมล์ จากที่มีคะแนนนำก็กลับมาสูสีแอลเอไทม์บอกว่าทรัมป์ชนะ ขณะที่ฟ็อกส์และเอ็นบีซีบอกว่าคลินตันชนะ

Advertisement

ทั้งนี้ จากคำอธิบายต่างๆ ข้างต้น มองว่าชัยชนะจะตกเป็นของคลินตัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image