‘รองผอ.สพป.’ อีสานฟ้องเกณฑ์เฟ้น ‘บิ๊กเขตฯ’ ส่อทุจริต ล็อกสเปก แฉเรียก 3 ล้าน ซื้อขายตำแหน่ง

รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ยื่นฟ้องศาลปกครองอุบลฯ การออกกฎหลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือก ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ชมรมพิทักษ์ระบบคุณธรรมและสิทธิครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศ นำโดย นายประดู่ นามเหลา รองผู้อำนวยการ สพป.ร้อยเอ็ด เขต 3 พร้อมรองผู้อำนวยการ สพป.หลายจังหวัด เป็นตัวแทนพบนายวิบูลย์ กุลวงศ์ ประธานชมรมชมรมพิทักษ์ระบบคุณธรรมและสิทธิครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายปกครอง เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ สพท. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ภาค ข. และภาค ค. เป็นการออกกฎในรูปของหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะ ส่อไปในทางทุจริต และมีขบวนการตัวกลางในการเรียกรับเงินจากผู้เข้าสอบคัดเลือกคนละกว่า 3 ล้านบาท เพื่อชื้อขายตำแหน่งกัน จนมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันแพร่หลาย

นายประดู่ นามเหลา รองผู้อำนวยการ สพป.ร้อยเอ็ด เขต 3 กล่าวว่า เนื่องจากผลการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯที่ผ่านมา ผลการสอบไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม โดยเฉพาะในเรื่องหลักเกณฑ์ ประวัติและประสบการณ์การทำงาน ในการให้คะแนนไม่ชัดเจน มีการกำหนดตัวชี้วัดมา แต่ไม่กำหนดค่าน้ำหนักมาว่าประสบการณ์ควรให้กี่คะแนน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องอาวุโส หรืออายุราชการ มีน้ำหนักคะแนนเป็นอย่างไรก็ต้องกำหนดมาอย่างนั้น เกณฑ์ทั่วไปจะกำหนดค่าน้ำหนักในการให้ค่าคะแนนในแต่ละองค์ประกอบ เช่น การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาก็มีประกาศของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กำหนดองค์ประกอบตัวชี้วัดระบุว่า ผลงานดีเด่นระดับชาติ มีผลงานในรอบการปฏิบัติหน้าที่ได้เกียรติบัตรได้โล่รางวัล และจะมีค่าคะแนนเท่าไร แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่มี  กำหนดไว้เฉยๆ ว่าผู้อาวุโสหรือไม่อาวุโส เป็นการให้คะแนนตามอำเภอใจไม่ได้มีตัวชี้วัดว่าถ้าอาวุโสรับราชการกี่ปีมีผลงานอย่างไร จะได้รับค่าคะแนนเท่าไหร่ต้องมีกำหนดไว้เพื่อจะให้กรรมการใช้ดุลพินิจ โดยมีข้อเท็จจริงข้อกฎหมายในการสนับสนุน แต่นี่เป็นการใช้ดุลพินิจที่ทำให้ผู้ที่อาวุโสในหลักราชการหรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ พลาดโอกาสในการพิจารณาคัดเลือกในครั้งนี้

นายวิบูลย์ กุลวงศ์ ประธานชมรมชมรมพิทักษ์ระบบคุณธรรมและสิทธิครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จากการที่รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯเดินทางมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับคดีปกครอง เห็นว่าประเด็นข้อร้องเรียนจากรองผู้อำนวยการเขตที่ฯ ซึ่งได้นำพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ มาประกอบการพิจารณา ทางชมรมเห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้รับเรื่องนี้ไว้เพื่อที่จะดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องระบบคุณธรรมในระบบราชการ อย่างไรก็ตาม บรรดารองผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯยังประสงค์ที่จะยื่นคำร้องเรียน กล่าวโทษคณะกรรมการสรรหาดังกล่าวและขบวนการที่เป็นตัวกลางเรียกรับเงินในเรื่องนี้ ต่อ ป.ป.ช. ในเร็วๆ นี้ด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image