‘นักปวศ.’ ชื่นชมอยุธยาฟื้นฟูมะขามยักษ์ 300 ปีที่วัดบรมพุทธาราม เผยเป็น “บ้านเดิม” พระเพทราชา

นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะร่วมกันทำพิธียกต้นมะขามขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ อายุกว่า 300 ปี ภายในโบราณสถานวัดบรมพุทธาราม ที่โค่นล้มพร้อมตัดแต่งกิ่งและทำบายพาสโดยการใช้ต้นมะขามขนาดเล็ก ทาบกับลำต้น เพื่อดูดซับแร่ธาตุมาเลี้ยงต้นมะขามใหญ่ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน (ภาพเล็ก ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง)

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. สืบเนื่องจากกรณี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับนักวิชาการป่าไม้ กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมศิลปากร ช่วยกันฟื้นฟูต้นมะขามยักษ์ อายุกว่า 300 ปี ที่ถูกพายุพัดโค่นล้ม ภายในโบราณสถานวัดบรมพุทธาราม ถนนศรีสรรเพชญ์ ต.ประตูชัย อ.เมืองพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ในเขตรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โดยมีการตัดแต่งกิ่งและทำบายพาสโดยการใช้ต้นมะขามขนาดเล็ก ทาบกับลำต้น เพื่อดูดซับแร่ธาตุมาเลี้ยงต้นมะขามใหญ่ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.นั้น ล่าสุด นายคงศักดิ์ มีแก้ว นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สาเหตุที่ต้นมะขามล้มน่าจะเกิดจากมีอายุมาก ประกอบกับรากเป็นเชื้อรา และเกิดพายุฝนจึงเป็นเหตุให้ล้ม หลังการสำรวจได้ทำการตัดแต่งกิ่งที่ได้รับความเสียหาย และดูแลตามหลักวิชาการซึ่งต้องเฝ้าติดตามการบายพาสต้นไม้เป็นระยะ

มะขามยักษ์ วัดบรมพุทธาราม

นายอรรถสิทธิ์ อินต๊ะ นายช่างโยธาชำนาญงาน สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในส่วนของความเสียหายของโบราณวัดบรมพุทธาราม จากการสำรวจพบว่ามีส่วนของฐานเจดีย์รายได้รับความเสียหายเล็กน้อย เศษปูนแตกหัก ซึ่งจะเร่งดำเนินการซ่อมแซมตามแบบโครงสร้างเดิมซึ่งเคยมีการบูรณะมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีแผ่นป้ายที่แสดงชื่อและประวัติเสียหาย เร่งดำเนินการเช่นกัน

ด้าน นายรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่า การที่ทางจังหวัดดูแลต้นมะขามยักษ์ภายในบริเวณวัดบรมพุทธารามเป็นเรื่องน่าชื่นชม เนื่องจากวัดแห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญ เพราะเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นบ้านเดิมของพระเพทราชา คือเมื่อพระองค์ขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์เมื่อ พ.ศ.2231 ได้ยกที่ดินบริเวณดังกล่าวสร้างวัดขึ้น โดยหลังคาวัดเป็นกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียวซึ่งเป็นของหรูมากยุคนั้น ที่ส่วนใหญ่มุงกระเบื้องดินเผา ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดกระเบื้องเคลือบ เรียกสืบกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา

Advertisement

“วัดแห่งนี้พระเพทราชา โปรดให้สร้างขึ้นที่พระนิเวศน์เดิมของพระองค์ในบริเวณที่เรียกว่าย่านป่าตอง ภายในเขตกำแพงเมือง ระหว่างประตูชัยกับคลองฉะไกรน้อย พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง วัดนี้จึงเปรียบเสมือนวัดประจำราชวงศ์ ชาวบ้านเรียกวัดกระเบื้องเคลือบ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมโกศ ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์และทำบานประตูประดับมุกติดประตูพระอุโบสถ ปัจจุบัน ประตูเหล่านี้อยู่ที่หอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามคู่หนึ่ง ที่วัดเบญจมบพิตรอีกคู่หนึ่ง ส่วนอีกคู่หนึ่งมีผู้นำไปตัดทำเป็นตู้ใส่หนังสือ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงได้มาและประทานให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเก็บรักษา ที่นี่คือโบราณสถานสำคัญมาก การที่จังหวัดให้ความใส่ใจดูแลต้นมะขามเก่าแก่ในวัด จึงเป็นเรื่องน่าชื่นชม” นายรุ่งโรจน์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image