ทูตไทยได้ไปวังวินด์เซอร์เข้าเฝ้า ‘ควีนวิกตอเรีย’ แห่งอังกฤษชุดแรก

​ต้นสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการทำสนธิสัญญาครั้งสำคัญกับอังกฤษ โดยมีเซอร์จอห์น เบาว์ริง เป็นทูตอังกฤษเดินทางมายังบางกอก การทำสนธิสัญญานี้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเมษายน 2398 หลังจากสนธิสัญญาบังคับใช้เพียงปีแรก ปรากฏว่ามีเรือฝรั่งเข้ามาค้าขายกับไทยมากขึ้น จนเงินเหรียญฝรั่งหลั่งไหลมาสู่ท้องพระคลังของกษัตริย์แห่งบางกอกอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

​เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับอังกฤษ รัชกาลที่ 4 จึงได้ส่งคณะทูตเพื่อเชิญพระราชสาส์นของสองพระมหากษัตริย์แห่งบางกอก พระจอมเกล้าฯ วังหลวง และพระปิ่นเกล้าฯ วังหน้า ไปยังราชสำนักของพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ

​วันที่ 19 พฤศจิกายน (วันพฤหัสขึ้นสามค่ำเดือนอ้าย 2401 นับอย่างเก่า หรือ ค.ศ.1857) คณะทูตไทยพร้อมล่าม 8 คน ได้เดินทางไปยังวังวินด์เซอร์ (Windsor Castle) อยู่ชานกรุงอังกฤษทางตะวันตกห่างออกไปราว 40 ก.ม. เพื่อถวายพระราชสาส์นแก่พระราชินีวิกตอเรีย กษัตริย์แห่งเกรทบริเตน (ครองราชย์ปี 2380-2444/1837-1901)

ทั้งนี้ คณะทูตนั่งรถไฟจากลอนดอน แล้วมีขบวนรถม้ามารับเข้าพระราชวัง
​หม่อมราโชทัยผู้เป็นล่ามคณะทูต ได้แต่งเล่าไว้ในเรื่อง “นิราศลอนดอน” โดยบรรยายฉากแห่งความภาคภูมิใจนี้ไว้ว่า เวลาบ่ายโมง ดนตรีบรรเลงเริ่มพิธี คณะทูตเดินเข้าไปยังห้องพิธี

Advertisement

​“ครั้นเข้าไปในทวารที่ชั้นสาม
​ก็คลานตามลดหลั่นค่อยผันผาย
​เจ้าคุณถือพานเดินดำเนินกราย
​แต่เจ็ดนายกราบก้มประนมกร”

​พระยามนตรีสุริยวงศ์ ราชทูต เดินถือพานมีพระราชสาส์นของสองกษัตริย์ ขณะที่ทีมทูตไทยอีก 7 คนจะคลานเข้าไปเป็นอันดับ โดย “ทั้งเจ็ดนายคลานตามดูงามงด เป็นหลั่นลดกันลงมาอยู่หน้าหลัง”
​เมื่อไปถึงหน้าควีนอังกฤษที่นั่งแล้ว พระยามนตรีสุริยวงศ์ ราชทูต ก็วางพานราชสาส์นตั้งบนโต๊ะ ถัดจากนั้น ก็ก้มหมอบลงที่พื้น “แล้วคลานคล้อยถอยมาตำแหน่งเฝ้า” แล้วคณะทูตก็ก้มกราบสมเด็จพระราชินีอังกฤษอย่างพร้อมกัน ในขณะที่ฝ่ายอังกฤษยืนอยู่โดยรอบห้อง

​ฝ่ายชนชั้นนำอังกฤษจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรกับการหมอบคลานของคณะทูตไทยในครั้งนี้ อาจพิจารณาได้จากงานบันทึกของเซอร์จอห์น เบาว์ริง เมื่อมาทำสนธิสัญญากับไทย และหลังจากนั้นอีกสองปี คือปีเดียวกันกับที่คณะทูตไทยมาอังกฤษ หนังสือของเบาว์ริงเล่มขนาดใหญ่ก็ตีพิมพ์และวางขายในอังกฤษ ชื่อ The Kingdom and People of Siam

Advertisement

​เบาว์ริงกล่าวว่า ในประเทศนี้ “ทุกคนจะหมอบราบต่อผู้มีอำนาจ” ซึ่งเบาว์ริงเห็นว่าเป็น “สภาพอันน่าสังเวชของแต่ละปัจเจกชน เป็นเรื่องเหลือเชื่อ”
เบาว์ริงพบว่าขุนนางไทยที่ประเมินว่าตนนั้นมีศักดิ์ต่ำกว่าเบาว์ริงจะ “นั่งพับเพียบและหมอบตัวลงรอบๆ เราด้วยอาการเยี่ยงทาส”

​ที่ท่าเรือพระประแดง เมื่อเรือของราชทูตเบาว์ริงมาถึง เขาพบว่ามี “นายพลผู้หนึ่งแต่งกายในชุดราชสำนักอังกฤษแบบเก่า กองทหารตั้งแถวรับพร้อมด้วยวงดนตรีซึ่งมีหน้าตาแปลก” แต่ภาพที่เบาว์ริงเห็นแบบประหลาดคือ “คนนับพันๆ มารอรับ ทุกคนต่างอยู่ในท่าหมอบคลาน” โดยมีอัครเสนาบดีกลาโหม “อยู่บนเวทีสูงสุดของสถานที่รับรอง”

​เมื่อเบาว์ริงได้เข้าไปยังพระราชวังหลวงบางกอก เขาจึงได้ข้อสรุปว่า “ในขณะที่อยู่ต่อหน้าขุนนางชนชั้นสูง ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทั้งหมดจะอยู่ในท่าหมอบก้มกราบด้วยเคารพ ตัวขุนนางเองเมื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องแสดงการคำนับด้วยวิธีการหมอบคลานด้วยเช่นกัน”

​อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะทูตของไทยชุดแรกไปยังอังกฤษครั้งนี้แล้ว อีกเพียง 16 ปีต่อมา เราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรงและสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างมาก กล่าวคือ เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชอำนาจสมบูรณ์ พระองค์อายุ 20 ปี 2416 ประกาศฉบับแรกๆ ในพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์คือ ทรงยกเลิกการหมอบคลานทั้งแผ่นดิน รวมทั้งการหมอบคลานต่อหน้าพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะพระองค์กล่าวว่าเป็นวัฒนธรรมที่กดขี่ข่มเหงกัน ที่ประเทศใหญ่ๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม และอินเดีย ก็ยกเลิกวัฒนธรรมหมอบคลานไปหมดแล้ว โดยทรงให้ใช้การยืนและโค้งคำนับแสดงความเคารพพระองค์ ทั้งคณะราชทูตไทยก็ไม่มีการหมอบคลานเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นต่อกษัตริย์ประเทศใดอีกต่อไป

ส่วนพระราชวังวินด์เซอร์ที่คณะราชทูตไทยชุดนี้ไปเห็นมา น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างวังให้มกุฎราชกุมารองค์แรก เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่ทุ่งพญาไทเมื่อปี 2424 จึงเรียกกันว่า วังวินด์เซอร์ เพราะเชื่อกันว่าหน้าตาละหม้ายคล้ายวังวินด์เซอร์ที่อังกฤษ

เชิญร่วมกิจกรรม บางกอก Walking Tour : หัวลำโพง คลองผดุงกรุงเกษม พระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตร เสาร์ 17 กันยายน 2565 : 13.00-15.30
เที่ยวศูนย์กลางคมนาคมทางรางของสยามเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ที่เป็นเครือข่ายรวมศูนย์อำนาจอีสานเหนือใต้เข้าสู่ส่วนกลางวังหลวงกรุงเทพฯ ดูการขยายเมืองกรุงด้วยคลองสมัยพระจอมเกล้าเมื่อ 170 ปีก่อน และพระพุทธรูปทองคำ

จัดโดย กลุ่มกรุงเทพศึกษา และกลุ่ม Young Citizen วิทยากร รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต และ รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ค่าสมัคร 300฿ นักเรียนนักศึกษา 75฿ สมัครได้ที่ ID Line : golf.youngcitizen

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image