‘มติชน-กศน.’ คิกออฟ ‘ชุมชนอุดมปัญญา’ มอบหนังสือล็อตแรกผ่านบ้านหนังสือ 84 แห่ง

มติชน-กศน. คิกออฟ โครงการ ‘ชุมชนอุดมปัญญา’ มอบหนังสือล็อตแรก ผ่านบ้านหนังสือ  84 แห่งทั่วประเทศ  ขณะที ‘เลขากศน.’ ปลื้มยอดนักอ่านพุ่ง หวังเอกชน ร่วมมือส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่อาคารสำนักงานบริษัทมติชน จำกัด(มหาชน) นายวัลลพ  สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) พร้อมตัวแทนบ้านหนังสือชุมชน เดินทางมารับมอบหนังสือและนิตยสารในโครงการ “ชุมชนอุดมปัญญา” โดยมีนายวรศักดิ์ ประยูรศุข กรรมการอำนวยการ บริษัทมติชนและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน นายนฤตย์  เสกธีระ กรรมการผู้จัดการ บริษัทงานดี จำกัด นายสรพันธ์ บุนปาน ที่ปรึกษาบริษัทงานดี จำกัด พร้อมผู้บริหาร ให้การต้อนรับ และทำพิธีส่งมอบ

โดยนายวัลลพ กล่าวว่า  กศน. มีบทบาทในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  การศึกษาต่อเนื่องและการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งในส่วนของการส่งเสริมการอ่าน กศน.มีห้องสมุดประชาชน กระจายไปยังอำเภอ และตำบลต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงมีห้องสมุดเคลื่อนที่นำหนังสือไปวางอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผ่านทางผู้นำหมู่บ้าน ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงยังมีกลุ่มประชาชนที่ยังต้องหาความรู้จากการอ่านหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ ส่วนหนึ่งเพราะมีความคุ้นเคย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและยังจำเป็นต้องส่งเสริม ขณะเดียวกัน การส่งเสริมให้หาความรู้ผ่านทางเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป

“สื่อสิ่งพิมพ์ยังถือว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการอ่านของประชาชนในต่างจังหวัด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนชุมชนเมืองเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการเรียนรู้มากขึ้น กศน.พยายามส่งเสริมและจัดหาสื่อสิ่งพิมพ์ดีๆ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ควบคู่ไปกับสื่อทางเทคโนโลยี อย่างเช่น การอ่านข่าว ทางเว็บไซต์จะได้ความรู้สึก ที่แตกต่างจากการอ่านหนังสือพิมพ์ ที่จะได้สัมผัสกับการเรียนรู้อย่างแท้จริง ทางกศน. พยายามปรับให้เกิดสมดุล เพราะต้องยอมรับว่า การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน “นายวัลลพ กล่าว

Advertisement

เลขาธิการกศน. กล่าวต่อว่า จากการประเมินการเรียนรู้แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน โดยสังคมเมืองจะมีอัตราส่วนการอ่านผ่านเทคโนโลยี ทั้งทางสมาร์ทโฟน หรือช่องทางอื่น ๆ มากกว่าสังคมในชนบท ที่ยังนิยมอ่านหนังสือจากสื่อสิ่งพิมพ์อยู่จำนวนมาก โดยจากการส่งเสริมการอ่านที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนมีการอ่านในตัวเลขที่ดีขึ้น จากการรณรงค์ผ่านหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมส่งเสริม รวมถึงมีการจัดหาหนังสือดีๆ ลงไปในชุมชน จัดทำห้องสมุดเคลื่อนที่ เข้าไปจัดวางเพื่อให้ประชาชนรักการอ่านได้หยิบหนังสือขึ้นมาก ส่วนเทรนด์การอ่านหนังสือ นั้น กศน. มีหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ผ่านระบบ กศน. ขณะเดียวกัน การส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต ต่อยอดองค์ความรู้ การศึกษาต่อเนื่องนอกจากส่งเสริมการอ่านแล้วยังมีหลักสูตรระยะสั้นต่อยอดให้ประชาชนที่สนใจได้เข้ามาหาความรู้ เพื่อการมีงานทำ

นายวัลลพ กล่าวด้วยว่า แม้ทาง กศน. จะมีการจัดหาหนังสือให้ประชาชนและผู้เรียนได้ศึกษาเพื่อหาความรู้ในหลายช่องทาง แต่ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณ ถือเป็นเรื่องที่ได้รับร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานเอกชน อย่างเช่น บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน)เข้ามาเป็นแกนนำเชื่อมต่อผู้ใหญ่ใจดี ส่งมอบหนังสือดี มีคุณภาพ ให้กับประชาชนได้อ่าน เพื่อศึกษาหาความรู้ เป็นสิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งต่อไปจะเป็นเทรนด์การเรียนรู้ ที่ต้องมีการส่งเสริมต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะประชาชนทั่วไปเท่านั้น ยังรวมถึงผู้สูงอายุ ที่จะต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงวัยเช่นเดียวกัน  ทั้งนี้ส่วนตัวอยากฝากไปถึงหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชนและผู้ประกอบการ อยากให้มาช่วยส่งเสริมการอ่าน โดยไม่อยากให้คิดว่า เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง อยากให้คิดว่า  การส่งเสริมการเรียนรู้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่อง

ด้านนายนฤตย์ กล่าวว่า รู้สึกอบอุ่นและดีใจ ที่โครงการชุมชนอุดมปัญญาของมติชนได้รับความสนใจจาก บ้านหนังสือของกศน. อย่างเต็มที่ ทั้งนี้แม้กศน.จะมีข้อจำกัดทางงบประมาณในเรื่องการจัดหาหนังสือ แต่ก็ยังมีหน่วยงานที่ดูแลจัดหาหนังสือเพื่อห้องสมุดชุมชน ซึ่งทางมติชน ได้จัดส่งหนังสือล็อตแรกให้กับบ้านหนังสือชุมชน เป็นนิมิตหมายที่ดีในการเริ่มต้น หากหน่วยงานใด สนใจซื้อหนังสือ เพื่อส่งมอบให้ชุมชน ทางมติชนก็ยินดีที่จะเป็นสื่อกลางในการส่งต่อความรู้ต่อไป

Advertisement

สำหรับ โครงการ  “ชุมชนอุดมปัญญา” เริ่มต้นขึ้นในเดือนสิงหาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนจัดซื้อหนังสือและนิตยสารมอบให้ชุมชนนำไปส่งเสริมการอ่าน เนื่องจากเห็นว่า ชุมชนมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของประเทศ ถ้าชุมชนเข้มแข็งประเทศชาติจะเข้มแข็งตามไปด้วย เช่นเดียวกัน หากต้องการความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ก็ต้องช่วยกันสนับสนุนชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง   ชุมชนที่เข้มแข็งจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ในหลายด้าน การแสวงหาความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เครือมติชน เห็นความสำคัญของชุมชน และเห็นความสำคัญของหนังสือซึ่งเป็นแหล่งความรู้ จึงตั้งโครงการ “ชุมชนอุดมปัญญา” ขึ้นมา เพื่อระดมทุนจากผู้มีความเห็นสอดคล้องกันว่าหนังสือคือภูมิปัญญาของชุมชน จัดซื้อหนังสือและนิตยสารมอบให้ชุมชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้หลังจากเปิดตัวโครงการไป 1 เดือน มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจนสามารถจัดซื้อหนังสือและนิตยสารเพื่อส่งมอบให้ชุมชนที่ต้องการส่งเสริมการอ่าน เครือมติชนได้ร่วมมือกับสำนักงานกศน.คัดเลือกบ้านหนังสือชุมชน  โดยเบื้องต้นได้จำนวน 84 แห่ง จึงดำเนินการส่งมอบหนังสือและนิตยสารให้

สำหรับบ้านหนังสือชุมชน แต่เดิมเป็นที่อ่านหนังสือของ กศน.  ภายหลังมีการโอนงบประมาณจัดซื้อหนังสือให้ท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นหลายแห่งไม่ได้ใช้งบประมาณดังกล่าวไปจัดซื้อหนังสือ ทำให้ที่อ่านหนังสือ จำนวนหลายหมื่นแห่ง มีหนังสือและนิตยสารไม่เพียงพอ  กระทั่งกว่าครึ่งหนึ่งต้องยุติการดำเนินการ คงเหลือเป็นบ้านหนังสือชุมชนประมาณ 24,000 แห่งทั่วประเทศ เครือมติชนจึงนำหนังสือและนิตยสารในโครงการมอบให้ โดยหวังว่าชุมชนจะนำหนังสือและนิตยสารดังกล่าวไปส่งเสริมการอ่าน และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน

เครือมติชนได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านมาตลอด เพราะเห็นความสำคัญของหนังสือและการอ่านหนังสือ จึงขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านภายใต้โครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” โดยจัดโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการห้องสมุดพร้อมปัญญา โครงการระดมทุนช่วยโรงเรียน I see U  โครงการตู้หนังสือพร้อมปัญญา  โครงการ 10 เล่ม  100 โรงเรียน  เป็นต้น

เมื่อปี 2563 เครือมติชนเริ่มโครงการ“ส่งมอบความรู้สู่สังคมไทย” ชวนเชิญผู้รักหนังสือและเห็นประโยชน์ของการอ่านจัดซื้อหนังสือและนิตยสาร รวมมูลค่า มากกว่า 5 ล้านบาทให้โรงเรียน  และในปีนี้เครือมติชนจัดโครงการ “ชุมชนอุดมปัญญา” ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็งและอุดมด้วยปัญญาตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนโครงการฯ ได้ที่
ไลน์ : @matichonbook
หรือติดต่อ คุณคมสันต์ สินสุขสุภัณฑ์
โทร. 02-5890020 ต่อ 3353 หรือ 086-810-2173
อีเมล์ : [email protected]

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image