กสอ.ผนึกคณะเทคโนฯ มข.ติวเข้มเกษตรกร ยกระดับมะม่วงอีสานสู่สินค้าแปรรูป

กสอ.ผนึกคณะเทคโนฯ มข.ติวเข้มเกษตรกร ยกระดับมะม่วงอีสานสู่สินค้าแปรรูป นำร่องมะม่วงผง-เพียวเร่

ดร.อริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และตน ร่วมเป็นประธานเปิดการฝึกอบรการถ่ายทอดองค์ความรู้ และทักษะกระบวนการแปรรูปมะม่วงผงอบแห้ง และมะม่วงเพียวเร่ จัดโดยกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กสอ.ตามโครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจการผลิตผลไม้ไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 มีเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในพื้นที่ จ.ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา เข้าร่วมรับการฝึกอบรมรวมกว่า 60 คน ว่า มะม่วงเป็นพืชที่มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกมากที่สุด ปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกมะม่วงรวมทั้งประเทศกว่า 200,830 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูก 913,788.60 ไร่ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 433,474.66 ไร่ มีผลผลิตรวมประมาณ 1 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 2,082 กิโลกรัมต่อไร่ ที่ผ่านมาการผลิตมะม่วงมีอัตราการขยายตัวของแต่ละพื้นที่ และมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น จนเกิดปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ และล้นตลาด กสอ.จึงกำหนดนโยบาย และแผนปฏิบัติการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยยกระดับสินค้าเกษตรสู่อุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยในระดับสากล

“ขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนที่ 1 ที่คณะทำงานร่วมระหว่าง กสอ.กับ มข.ได้จัดฝึกอบรมที่ มข.มีเกษตรกรเป้าหมาย 60 คน และทั้งประเทศ คือกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงประมาณ 400 คน จะเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ในการแปรรูปมะม่วงตามสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งภาคอีสานจะเด่นเรื่องมะม่วงน้ำดอกไม้ และมะม่วงแก้วขมิ้น จึงกลายมาเป็นที่มาของการฝึกอบรมในการทำมะม่วงผง และมะม่วงเพียวเร่ ซึ่งเป็นการแปรรูปผลไม้ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัตถุดิบแปรรูปเบื้องต้นให้มีอายุเก็บรักษาที่นานขึ้น นำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และธุรกิจบริการอาหารเครื่องดื่ม เมื่อการอบรมกลุ่มเป้าหมาย 400 คนครบแล้ว จะคัดเลือกให้เหลือ 15 คน เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ในการยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปเป็นเมนูอาหาร และเครื่องดื่ม ตามแผนการเชื่อมโยงมะม่วงในการเข้าสู่ธุรกิจอาหารที่สมบูรณ์แบบ และเกิดความยั่งยืนให้กับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่” ดร.อริยาพร กล่าว

ดร.อริยาพรกล่าวอีกว่า การจัดกระบวนการการเรียนการสอนครั้งนี้ สูตรการทำต่างๆ ที่ได้ถ่ายทอด และพากันลงมือทำเพื่อปฏิบัติจริง ทุกสูตรจะส่งมอบให้เกษตรกรทุกคน เรียกได้ว่าไม่หวงสูตร และไม่สงวนลิขสิทธิ์ เพราะมะม่วงเป็นผลไม้ที่มีอายุสั้น ดังนั้น การแปรรูป และแปรสภาพ ที่ถูกต้อง ตรงตามหลักวิชาการ มีคุณภาพ และมาตรฐาน โดยที่เกษตรกรสามารถดำเนินการได้ ควบคู่กับการส่งออกมะม่วงสด ทั้งหมดจะก่อให้เกิดความยั่งยืนกับเกษตรกรไทย ที่สำคัญการต่อยอดผลิตภัณฑ์มะม่วงไทย โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งมีรสชาติดี อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ และแหล่งของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินชนิดต่างๆ มีสรรพคุณทางยา และเป็นที่ต้องการของตลาดผลไม้ทั่วโลก

Advertisement

“เมื่อการอบรมดังกล่าวเสร็จสิ้น หากจะเติมสูตรเด็ดเฉพาะภูมิภาค หรือสูตรเด็ดประจำถิ่นเข้าไป จะสร้างมูลค่าของมะม่วงแปรรูปตามความต้องการของตลาดได้อย่างดีอีกด้วย” ดร.อริยาพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image