ดีเดย์คลอด ‘245 อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ’ 6 ก.พ.66 หลัง พ.ร.บ.แก้คำสั่ง คสช.มีผลบังคับใช้

ดีเดย์คลอด ‘245 อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ’ 6 ก.พ.66 หลัง พ.ร.บ.แก้คำสั่ง คสช.มีผลบังคับใช้

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว และมีผลให้อํานาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ไปเป็นของคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ประจำเขตพื้นที่ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.ประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า ศธ.เตรียมการรองรับ พ.ร.บ.ฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าให้เป็นไปตามกฎหมาย และดำเนินการให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมฯ และมัธยมฯ รวม 245 เขตพื้นที่ฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ยกร่างจำนวน องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ สอบถามความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณา ทั้งนี้ เมื่อ ก.ค.ศ.เห็นชอบหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ก็ดำเนินการสรรหาเพื่อให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลได้ทันที

“ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เตรียมถ่ายโอนภารกิจเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลไปยังเขตพื้นที่ฯ พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขตเตรียมการรองรับ โดยจัดเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และอบรมความรู้ เพื่อให้ช่วงรอยต่อการถ่ายโอนการบริหารงานบุคคลไม่มีปัญหา ส่วนการบริหารงานบุคคลระหว่างนี้ มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุว่าการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งของ กศจ.ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคล ซึ่งกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูฯ กำหนดไว้ให้เป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ที่ค้างการดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19 /2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 จนกว่าจะมี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ตาม พ.ร.บ.นี้” น.ส.ตรีนุช กล่าว

นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก.ค.ศ.เตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว ทั้งการปรับแก้หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูฯ มีวิทยฐานะ หรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือเกณฑ์ PA ที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม รวมถึง ยกร่างจำนวน องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ โดย ก.ค.ศ.พยายามรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ร่างองค์ประกอบเป็นธรรม โดยองค์ประกอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะมีคณะกรรมการทั้งหมด 11 ราย ประกอบด้วย ประธาน ผู้อำนวยการ สพท.เป็นเลขานุการโดยตำแหน่ง ร่วมด้วยไตรภาคี 3 ส่วน คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ราย ผู้แทนส่วนราชการ 3 ราย และผู้แทนครู 3 ราย เพื่อให้การบริหารงานบุคคลของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ตรวจสอบได้ คาดว่าจะเสนอร่างดังกล่าวให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณาได้ภายในสัปดาห์หน้า จากนั้น สพท.จะดำเนินการสรรหา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ได้ทันที ทั้งนี้ คิดว่าจะสรรหา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ได้ทันภายใน 90 วัน หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้

Advertisement

“ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ อื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้นั้น ก.ค.ศ.ดำเนินการมาโดยตลอด โดยระเบียบ และข้อบังคับที่ต้องปรับแก้ รวม 160 ฉบับ ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่คำสั่ง คสช.มีผลบังคับใช้ ซึ่ง ก.ค.ศ.พยายามปรับแก้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด” นายประวิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image