“ไพบูลย์” ยื่น “ปปช.-ดีเอสไอ” เอาผิดมาตรา 157 “สมเด็จช่วง-พศ.” ละเว้นคดี “ธัมมชโย”

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นางสำอาง นุชชมภู แกนนำเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา กล่าวในงานเสวนา “ทรัพย์สินพระ ทรัพย์วัด ทรัพย์สินของใคร” จัดโดยเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา ว่า ปัจจุบันเกิดวิกฤตศรัทธาต่อพระสงฆ์ และองค์กรสงฆ์บางองค์กร ที่นำหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาบิดเบือน และประพฤติผิดในพระธรรมวินัย และยังชักชวนให้พุทธศาสนิกชนมาทำบุญอย่างหมดเนื้อหมดตัว สร้างมิจฉาทิฏฐิแก่คนจำนวนมาก นอกจากนี้ มีการเล่นการเมืองในคณะสงฆ์ และคบคิดกับนักการเมือง เพื่อสร้างเครือข่ายของตน และพวกพ้องให้เป็นกลุ่มอิทธิพลที่สังคมต้องเฝ้าระวัง เครือข่ายสตรีฯ จึงรวมตัวเพื่อปกป้องพระธรรมวินัย

ธัมชโย2

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้ฟื้นพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชขึ้น เพื่อเรียกร้องให้มหาเถรสมาคม (มส.) หยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ เรื่องพระดำริที่ระบุให้พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายอาบัติปาราชิก ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พระพรหมเมธี โฆษก มส.แถลงว่าพระธัมมชโยไม่ปาราชิก จนมาถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แถลงว่าพระธัมชมโยไม่ปาราชิกเช่นเดียวกัน จนทำให้ประชาชนเกิดวิกฤตศรัทธาใน มส.เพราะอุ้มพระธัมมชโยชัดเจน ส่วนปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวิกฤต เพราะพระสงฆ์หลายรูปไม่ยึดพระธรรมวินัย โดยเฉพาะในข้อรับและยินดีในทรัพย์สิน เท่าที่ทราบพระสงฆ์ระดับเจ้าคณะผู้ปกครอง ใช้เงินวิ่งเต้นเลื่อนตำแหน่ง นี่คือความหย่อนยานของโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ ที่เปิดช่องให้พระสงฆ์มีเงินได้โดยถูกกฎหมาย อีกกรณีหนึ่งเมื่อพระสงฆ์เมื่อมรณภาพ ตามกฎหมายสงฆ์ทรัพย์สินต้องตกเป็นของวัด แต่เท่าที่สังเกตส่วนมากพระสงฆ์จะโอนทรัพย์สินที่สะสมไว้ให้ญาติจนหมด ปรากฏการณ์นี้บ่งบอกว่าพระสงฆ์ที่บวชเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา ไม่ได้มุ่งมาบวชเพื่อหลุดพ้น แต่ที่มาบวชเพื่อลาภสักการะ จนโยงไปถึงโครงสร้างของคณะสงฆ์ที่มี มส.เป็นผู้กำกับ

“วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น.ผมจะไปยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้สืบสวนสอบสวนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ท่านละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 หรือไม่ ในกรณีที่ไม่พิจารณาเรื่องปาราชิกพระธัมมชโย รวมทั้ง ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กรณี พศ.ในมาตรา 157 เช่นเดียวกัน”นายไพบูลย์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image