มติชนมติครู : ปันความคิด..การสอบทีแคส กับมิติการชี้โพรงให้กระรอก

มติชนมติครู : ปันความคิด..การสอบทีแคส กับมิติการชี้โพรงให้กระรอก

จากปรากฎการณ์ที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกาศรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา 2566 ผ่านระบบการคัดเลือกกลางคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (ทีแคส) และเปิดกว้างให้ผู้เข้าสอบแต่งชุดอะไรก็ ได้ขอแค่สุภาพ จะทำสีผม ทำเล็บได้ทุกสีสวมแว่น และอื่นๆ อย่างอิสระเสรีโดยไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักเรียนเข้าสอบดังที่เคยปฏิบัติ

ที่มาของการเปิดกว้าง ผู้จัดการระบบทีแคส ปี 2566 แจงว่า ทปอ.ได้รับการร้องขอจากนักเรียน เช่น ทำไมอนุญาตให้ทาเล็บสีอะไรเข้าห้องสอบได้ และสีผม ทำไมไม่อนุญาตเหมือนทาสีเล็บบ้าง ดังนั้น การสอบ TGAT และ TPAT2-5 ในปีนี้ ทปอ.เปิดกว้างมาก โดยผู้เข้าสอบแต่งชุดนักเรียน หรือชุดพละ หรือชุดนักศึกษา เข้ามาสอบก็ได้ หรือไม่มีตราสถาบันการศึกษาก็ได้ และฯลฯ (มติชนออนไลน์ 3พฤศจิกายน 2565)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปิดกว้าง ผลที่ตามมาเกิดกระแส หรือมุมมองของผู้คนตามมาในหลากหลายมิติ ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ที่น่าสนใจการร้องขอของนักเรียนที่ต้องการให้เปิดกว้าง หรือมีอิสระกับการแต่งกายเข้าสอบนั้น ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้แจ้งข้อมูล หรือตัวเลขให้สังคมได้ประจักษ์ว่ามีมากน้อยแค่ไหน

ต่อกรณีการเรียกร้องของนักเรียน (บางกลุ่ม) หรือการส่งกระแสผ่านสังคม โดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกาย ทรงผมหรืออื่นๆ ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเป็นเพียงส่วนน้อย ในขณะที่นักเรียนอีกกลุ่ม ทั้งในเมืองกรุง และต่างจังหวัด ที่ไม่แสดงออก หรือเรียกร้องนั้น มีให้เห็นเช่นกัน

Advertisement

ที่น่าสนใจเมื่อกล่าวถึงการสร้างกฎระเบียบ หรือวิถีปฏิบัติให้กับนักเรียน นักศึกษา ในขณะอยู่ในสถาบันนั้น สังคมไทยได้นำมาเป็นแนวทางสำหรับการปลูกฝังเด็กและเยาวชนมาอย่างยาวนาน ดูเหมือนว่ามิติดังกล่าวเป็นหนึ่งในจารีต หรือวัฒนธรรมที่พึงปฏิบัติ และให้การยอมรับ

แต่วันนี้เมื่อสังคมเปลี่ยน โดยเฉพาะในยุคกระแสดิจิทัล ที่กลายเป็นปรากฎการณ์ที่เกาะเกี่ยวกับวิถีชีวิต โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ รวมทั้ง การถ่ายทอดแนวคิดผ่านไอดอลของตนเอง กระแสการเรียกร้องในมิติที่เกี่ยวข้องกับอิสระเสรี หรือรูปแบบที่แตกต่างจากอดีต จึงลามเข้าสู่ในสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในมุมมองของผู้ใหญ่ที่เด็กๆ อาจจะคิดว่าเชย หรือโบราณ ไม่ตอบโจทย์บริบทการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน สำหรับโอกาสที่นักเรียนได้รับการเปิดกว้างในการเข้าสอบ TGAT ปี 2566 หรือไม่อย่างไร เมื่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แสดงทัศนะส่วนตัวว่าไม่เห็นด้วย เพราะกังวลเรื่องความมีระเบียบวินัยของนักเรียน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความมีวินัย มีคุณธรรม จริยธรรม จบออกไปแล้วเป็นคนดี มีคุณภาพ ช่วยพัฒนาประเทศ การที่ ทปอ.ออกระเบียบจัดสอบดังกล่าว ต้องตั้งคำถามว่ามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับสิ่งเหลานี้หรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะต้องบ่มเพาะตั้งแต่อยู่ในสถาบันการศึกษา

Advertisement

จากมุมมองของปลัด ศธ.หากส่องไปที่ในมหาวิทยาลัย ต้องยอมรับว่าในสังคมอุดมปัญญาวันนี้ แตกต่างจากอดีต วิธีคิด หรือรูปแบบการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการถ่ายทอดของอาจารย์ยุคใหม่ จะเน้นไปที่เสรีภาพ และการเปิดกว้างเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งมิติที่สอดคล้องกับการเปิดกว้าง เมื่อผู้บริหารระดับอธิการบดีบางสถาบัน ส่งเสียงให้เห็นว่าไม่มีความขัดแย้ง หรือคัดค้านกับ ทปอ.เช่นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มองว่านักเรียนน่าจะเกิดความสบายใจในการสอบ ถือเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้ง ทปอ.ก็ระบุชัดเจนว่าต้องเป็นชุดสุภาพเรียบร้อย ส่วนการจะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนขาดวินัยเมื่อเข้าเรียนหรือไม่ ไม่กังวล

จากปรากฎการณ์ดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าจากนี้ไป หนึ่งในมิติที่ผู้จัดสอบ และผู้กำกับห้องสอบ จะต้องตั้งรับ และให้ความกระจ่างกับนักเรียน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หรือความโกลาหลในวันสอบ คือการแต่งกายอย่างไร คือ สุภาพ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสอบ

เหนืออื่นใด หากผู้กำหนดกฎเกณฑ์ไม่สามารถแก้ปัญหา หรือรับกับสิ่งที่จะตามมาได้ปัญหานี้ ก็จะเป็นหนึ่งในหลุมดำที่จะเป็นหนึ่งในมิติที่ต้องแก้กันร่ำไป หรือต้องกลับไปถอดบทเรียนว่าแนวคิดนั้น ตอบโจทย์กับความต้องการของนักเรียนส่วนใหญ่ทั้งประเทศหรือไม่

หรือหากสังคมฝากการบ้าน พร้อมโยนคำถามกลับไปว่าความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ว่าดี หากมองต่างมุมมิติดังว่า อาจจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ก้าวเดินไปสู่ทิศทางที่ผิดพลาด แล้วท่านจะมีคำตอบให้สังคมอย่างไร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image