กรมศิลป์เร่งบูรณะโบราณสถานอยุธยา หลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 83 แห่ง

กรมศิลป์เร่งบูรณะโบราณสถานอยุธยา หลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 83 แห่ง

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแนวคันกันน้ำที่วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าสถานการณ์อุทกภัยในปี 2565 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางของไทย ทำให้ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และมีแม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน ได้รับผลกระทบ ระดับน้ำได้เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเริ่มลดระดับลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม โดยน้ำที่ท่วมในปีนี้ มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในปี 2554 อยู่ 35 เซนติเมตร ทำให้โบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งอุทยานฯมีโบราณสถานอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ 394 แห่ง แบ่งเป็น ในเกาะเมือง 189 แห่ง และนอกเกาะเมือง 205 แห่ง โดยในปี 2565 มีโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 83 แห่ง แบ่งเป็น ในเกาะเมือง 3 แห่ง และนอกเกาะเมือง 80 แห่ง

นายอิทธิพลกล่าวอีกว่า การป้องกันโบราณสถานจากอุทกภัยของอุทยานฯ กรมศิลปากรได้ร่วมมือกับทางจังหวัด วัด ศาสนสถาน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใน 2 พื้นที่หลักๆ ได้แก่ 1.พื้นที่เกาะเมืองอยุธยา ใช้แนวถนนอู่ทอง (แนวกำแพงเมืองเดิม) รอบเกาะเมืองเป็นคันป้องกันน้ำ โดยในบริเวณที่ถนนมีระดับต่ำ ทางเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาจะเสริมแนวถนนด้วยคันดิน ทำให้โบราณสถานเกือบทั้งหมดในเกาะเมืองไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียงป้อมเพชร ซึ่งอยู่นอกแนวถนนอู่ทอง และระหัสวิดน้ำกับวัดใหม่ชัยวิชิต ที่ถูกน้ำซึมลอดถนนอู่ทองเข้ามา ได้รับผลกระทบ และ 2.พื้นที่นอกเกาะเมือง ในส่วนของโบราณสถานริมแม่น้ำ เป็นโบราณสถานที่เสี่ยงต่อการเสียหายหากถูกน้ำท่วม เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรง และมีคลื่นมากระทบตัวโบราณสถาน จึงต้องป้องกัน โดยใช้แผง หรือกำแพงกันน้ำ ประกอบด้วย วัดไชยวัฒนาราม วัดธรรมราม วัดกษัตราธิราช วัดพนัญเชิง และหมู่บ้านโปรตุเกส รวมถึง โบราณสถานที่ใช้กระสอบทราย หรือคันดินในการป้องกันน้ำ ประกอบด้วย วัดศาลาปูน วัดพรหมนิวาส วัดพนมยงค์ วัดเชิงท่า และวัดท่าการ้อง และโบราณสถานที่ใช้กำแพงโบราณสถานเป็นกำแพงป้องกันน้ำ ได้แก่ วัดพุทไธศวรรย์

“ส่วนโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในทุ่ง เป็นโบราณสถานที่เปิดโล่ง ทำแนวป้องกันน้ำได้ยาก ประกอบกับน้ำในทุ่งจะเป็นน้ำนิ่ง ไม่มีคลื่นที่จะมาทำความเสียหายกับตัวโบราณสถาน ประกอบกับโบราณสถานส่วนใหญ่ได้รับการบูรณะ เสริมความมั่นคงไว้แล้ว จึงมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถถูกน้ำท่วมขังได้ ส่วนโบราณสถานที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ เสริมความมั่นคงในส่วนของโบราณสถานที่เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสูง เสี่ยงต่อการพังทลายอุทยานฯ ได้ตั้งนั่งร้านเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับตัวโบราณสถาน ให้รองรับการถูกน้ำท่วมขังได้” นายอิทธิพลกล่าว

Advertisement

นายอิทธิพลกล่าวต่อว่า ระหว่างน้ำท่วม กรมศิลปากรได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจตรวจตราโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบ หากโบราณสถานแห่งไหนมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหาย ก็จะเข้าไปดำเนินการป้องกันลดผลกระทบ เช่น ที่ป้อมเพชรที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีกระแสน้ำเชี่ยว และมีคลื่นมากระทบตัวโบราณสถาน ได้ผูกทุ่นแพไม้ไผ่ลดความแรงของกระแสน้ำ และคลื่นที่จะมากระทบตัวโบราณสถาน ทั้งนี้ จากผลจากอุทกภัยในปีนี้ ทำให้โบราณสถานในพื้นที่อุทยานฯ ได้รับผลกระทบ 83 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในทุ่งนอกเกาะเมืองด้านทิศเหนือ โดยกรมศิลปากรได้เตรียมการป้องกันลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโบราณสถาน ทำให้ไม่มีโบราณสถานแห่งใดได้รับความเสียหายจนถึงขั้นพังทลายลงมา จะเป็นความเสียหายในส่วนของวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง เช่น อิฐ ปูน ที่เสียหายผุกร่อนจากการถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน กับสิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว เช่น ป้ายต่างๆ ม้านั่ง ถังขยะ ฯลฯ ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งอุทยานฯ จะบูรณะฟื้นฟูต่อไป

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ โบราณสถานส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบแล้ว มีเพียงโบราณสถานประมาณ 20 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในทุ่งที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่บ้าง” นายอิทธิพลกล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image