เปิดใจ ‘รศ.ดร.เอมอัชฌา’เจ้าของวิชา’การตายอย่างมีคุณภาพ’เปิดใหม่ครั้งแรกในไทย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาโลกโซเชียลทั้งทางเฟสบุ๊กและทวิตเตอร์ต่างมีการแชร์วิชาการเรียนรู้ใหม่ที่ค่อนข้างแปลก คือวิชาที่ชื่อว่า “การตายอย่างมีคุณภาพ” ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Beautiful Death” สังกัดศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คลิกอ่านข่าวที่นี่)

หลังจากมีภาพชื่อรายวิชาดังกล่าวหลุดออกไป ปรากฏว่ามีการพูดถึงกันอย่างมาก ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตบางส่วนมองว่าเป็นวิชาที่น่าสนใจและไม่เคยได้ยินมาก่อน บ้างก็เห็นว่าการเรียนการสอนอาจคล้ายวิชาธรรมะ บางส่วนก็เห็นว่าเคยเรียนวิชามรณะศึกษา ไม่ค่อยเกี่ยวกับธรรมะเลย แต่เป็นเรื่องการใช้ชีวิต

ว่าไปแล้วการมีรายชื่อว่านี้ติดอยู่ในประวัติการศึกษาเมื่อจบการศึกษา ก็เท่ไม่เบา… มติชนออนไลน์ พูดคุยกับ รศ.ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ อาจารย์พิเศษคณะครุศาสตร์ จุฬาฯและเป็นผู้สอนวิชาดังกล่าว ถึงที่มาที่ไปของวิชานี้ และการเรียนการสอนจะเป็นอย่างไร เป็นวิชาธรรมะจริงหรือไม่

-อาจารย์จบการศึกษาด้านไหน ทำวิจัยด้านใด หรือชำนาญด้านไหน ทำไมกลายมาเป็นเจ้าของวิชานี้ได้

Advertisement

ดิฉันจบปริญญาตรีจากคณะครุศาสตร์ จุฬา สาขาวิชาสุขศึกษาและพละศึกษา จากนั้นก็ไปเรียนต่อคณะสาธารณสุขศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาสุขศึกษาเหมือนกัน จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ Oregon State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องสุขศึกษาในชุมชน ที่ผ่านมาก็ทำวิจัยหลายเรื่องส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องทั้งเรื่องเพศศึกษา การสอนเกี่ยวกับสุขภาพ การสอนวิชามรณะศึกษา การทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัย โดยวิชาแบบนี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการสอนในชื่อวิชามรณะศึกษา ที่คณะครุศาสตร์ เป็นวิชาบังคับของหลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิชาสุขศึกษาและพละศึกษา เปิดในปี 2551 โดยวิชาการตายอย่างมีคุณภาพที่เพิ่งเปิดเป็นครั้งแรกในเทอมนี้ สังกัดศูนย์การศึกษาทั่วไป

– อ.ครับต่างประเทศเขาศึกษาความตายกันไหม ศึกษากันอย่างไรและจริงจังแค่ไหน?

ดิฉันเคยเรียนวิชา Death education และมีวิชาเกี่ยวกับ Death and Dying ที่ตอนเรียนปริญญาเอก จะมีวิชาแบบนี้เยอะมาก โดยเรื่องการศึกษาความตายของต่างประเทศ หลักๆคือเขาจะให้เห็นความสำคัญของการใช้ชีวิต เมืองไทยไม่มีวิชานี้เลย ไปเรียนมานานมากแล้ว มีความตั้งใจไว้ว่าจะกลับมาเปิดที่ประเทศไทย ซึ่งปีที่ดิฉันจบคือปี 2531 แต่กว่าจะได้เปิดวิชานี้คือบี 2551 ส่วนตัวเห็นว่าวิชานี้เป็นวิชาสำคัญและประเทศไทยไม่มีการเรียนการสอนด้านนี้ จะมีเกี่ยวข้องบ้างก็จะเปิดเป็นวิชากว้างๆเช่นวิชาชีวิตกับความตาย โดยเปิดในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวกับสงฆ์เป็นหลัก แต่ในที่นี้เราจะเน้นเรื่องความตายในมิติการศึกษาและสังคม โดยเฉพาะให้นิสิตได้เรียนรู้และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจุดมุ่งหมายของวิชานี้คือการทำให้ทุกคนเข้าใจในเรื่องความตาย และมองความตายว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องยอมรับ เพราะความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์กลัวที่สุด

-การสอนเรื่องความตายในต่างประเทศมีการเน้นไปในเรื่องธรรมะไหม?

Advertisement

เขาไม่ได้สอนให้เราชัดเจน แต่เขาจะสอนเรื่องความตาย โดยเฉพาะในมิตินานาชาติ ในเชิงพิธีกรรม พิธีศพ แต่สิ่งที่เราสอนคือเราจะมองว่าความตายคือสิ่งที่ดับสูญไป ทั้งในมุมมองการแพทย์ มุมมองทางกฏหมาย และทางสังคม เป็นการมองความตายจากมุมมองต่างๆ มีความหลากหลาย โดยในวิชานี้เราจะพูดถึงเรื่องของคุณภาพชีวิต เราจะทำอย่างไรให้เราตายอย่างสมศักดิ์ศรี มิใช่การตายก่อนวัยอันควร การให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของชีวิตตนเองและผู้อื่น ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและมีสติ พอเราพบเจอความตายกับคนใกล้ตัว เราต้องยอมรับความจริง อยากร้องไห้ก็ร้องไป แต่หลังจากนั้นต้องมีสติ จริงๆหลักธรรมทางพุทธศาสนาก็ช่วยได้ เกี่ยวกับเรื่องการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องนึกถึงความตายตลอดเวลา เพราะจะทำให้เรามีความทุกข์และขอแค่เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและมีคุณค่า สามารถใช้ชีวิตโดยทำความดีให้กับสังคม เมื่อตายไปสังคมจะนึกถึง

-โดยพื้นฐาน คนไทยส่วนใหญ่โตมาแบบวิถีพุทธ วิชานี้จะอธิบายความตายต่างกับกรอบคิดแบบพุทธอย่างไรบ้าง?

หมายความว่าเราจะมองความตายอย่างชัดขึ้น ตายแน่นอน แต่ไม่ต้องกลัว เพราะต้องมีสติ ซึ่งธรรมะเองก็มีส่วนช่วยด้วย นอกจากนี้มันยังเป็นเรื่องของการให้ความรักกับผู้อื่น รวมทั้งการทำความดีไว้สร้างคุณค่าให้กับสังคมในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ สิ่งที่จะทำให้ผู้เรียนได้คือจะจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนเข้าใจว่าสมมุติเรามีของสิ่งหนึ่งหายไป ถามว่าเสียใจไหมก็เสียใจ แต่คุณก็ต้องรู้ว่า ทำไมมันถึงหาย แล้วคุณจะทำอย่างไร คุณดูแลตัวเองไหม คุณดูแลสิ่งของเหล่านั้นไหม แม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เรารักตายไป ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเมื่อของที่เรารักตายไป จะจัดการอารมณ์อย่างไร ไม่ใช่ว่าเศร้าโศกไปตลอดจนไม่รู้จะทำอะไร

-มรณะศึกษาที่อาจารย์สอนนิสิตคณะครุศาสตร์ ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

สอนตั้งแต่ปี 2551 คนเรียนเยอะมาก ที่เพิ่งเปิดเพราะมันเพิ่งเข้ามาอยู่ในหลักสูตร ต้องต่อสู้กว่าจะได้มา แม้จะเป็นความตั้งใจตั้งแต่สมัยเรียน คณะสหเวชศาสตร์ไม่มีหรือแม้แต่ภาควิชาปรัชญาก็ไม่เป็นแบบนี้ คือเราต้องการเน้นการให้ความรู้ มีวิธีการสอนเสนอแนะว่าจะสอนอย่างไร สอนตั้งแต่เด็กเล็ก เช่นสมมุติว่าไปงานศพทำไมถึงไม่ให้เด็กไปเพราะเขากลัวติดตา ก็จะมองในสิ่งที่ไม่ดี นอกจากนี้ยังมีความเชื่อหลายอย่างในสังคมเช่นบอกว่าถ้าคุณใส่เสื้อกลับด้านจะเป็นคนที่ตายไปแล้ว หรือเวลากลับจากงานศพก็ให้เอาน้ำล้างหน้าเพราะจะติดตา มันมีหลายเรื่องตามวัฒนธรรมซึ่งไม่เหมือนกัน

โดยตลอดที่สอนนิสิตก็ตอบรับดี คนมาเรียนหลัก 100 คน เพราะเด็กคณะอื่นมาเรียนจากปกติซึ่งเป็นวิชาบังคับในคณะเปิดแค่ 30 คน ในห้องเรียนก็สนุกพยายามตั้งคำถามเรื่องความตาย เช่นสมมุติว่าถ้าคุณจะตายภายในเย็นวันนี้คุณจะทำอย่างไรบ้าง บางคนก็จะไปเที่ยวกับแฟน หรือทำกิจกรรมต่างๆ แต่ที่สุดแล้วทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ากลับบ้านไปหาพ่อแม่และคนที่รัก วิชานี้เป้าหมายหลักคือเรื่องความรักและการเห็นคุณค่าในชีวิตรวมถึงความรักในชีวิตของคนอื่นด้วย

-อาจารย์เปิดวิชานี้ได้อย่างไร

ตอนนั้นเป็นประธานหลักสูตรในระดับปริญญาตรีของสาขา ก็คิดว่าเราเรียนเรื่องเพศศึกษาและเรื่องเกิดแล้ว ทำไมเราจะเรียนเรื่องความตายไม่ได้ โดยในต่างประเทศเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาสอนกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว อาจจะเป็นวิชาเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับความตายหรือ วิชาภาวะความตาย มีการพูดถึงทฤษฎีในเรื่องนี้จำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องหลักที่อธิบายเกี่ยวกับความตายเช่นเวลาใกล้ตาย มนุษย์จะพยายามปฏิเสธว่าไม่อยากตาย จนเกิดความเก็บกดและพยายามต่อรอง มีแรงกดดัน กระทั่งท้ายที่สุดคือการยอมรับ

-วิชากำลังจะเปิดนี้สอนอะไรบ้าง พอเล่าให้ฟังได้ไหม?

วิชานี้จะมุ่งเน้นไปที่ความหมายและความสำคัญของการตาย ภาวะใกล้ตายและการตายอย่างมีคุณภาพ โดยเรามองในแง่ความเชื่อ ความคิดเกี่ยวกับเรื่องความตาย มุ่งเน้นให้เราสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ ให้ตายอย่างสมศักดิ์ศรีมิใช่ตายแล้วก็แล้วกันไป โดยเฉพาะการทำสิ่งที่ดีที่จะทำให้คนนึกถึง และการตายด้วยเงื่อนไขของชีวิต มิใช่การตายก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ยังจะพาไปดูเรื่องของพิธีกรรม งานศพในระดับนานาชาติว่าเป็นอย่างไรบ้าง หลักคิดของความแตกต่างในแต่ละภูมิภาค ที่มีการจัดการเกี่ยวกับการตายต่างกัน โดยเฉพาะปัจจัยทางศาสนาที่มีผลต่อการจัดการเกี่ยวกับความตาย เช่นวิธีการแบบศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ หรือแบบของชาวจีน ซึ่งนิสิตจะต้องเรียนรู้ถึงความหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎหมาย โดยตลอดการสอนก็มีกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้ เช่นการอภิปรายกลุ่ม และโดยเฉพาะการให้แสดงความรู้สึก การระบายความรู้สึก มีการให้นิสิตเขียนบันทึกคล้ายกับ death note ที่สอนให้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องความรักความเมตตา มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงกันเรื่องความเชื่อ และประสบการณ์ต่างๆ ด้วยเหตุด้วยผล มีการบูรณาการทางหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาและความรู้ทางวิทยาศาสตร์

IMG_3374
รศ.ดร.เอมอัชฌา วัฒนบุรานนท์ อาจารย์ผู้สอนวิชาการตายอย่างมีคุณภาพ

-ทำไมคนในยุคปัจจุบันฆ่าตัวตายเยอะ?

มันเป็นปัญหาเรื่องสติ พอมีปัญหาก็คิดวนเวียนไปมาและหาทางออกไม่ได้ ก็เลือกที่จะจบชีวิต ดิฉันจะบอกนิสิตเลยว่าการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ไม่ฉลาด ในเชิงเศรษฐศาสตร์พ่อกับแม่ต้องใช้เงินจำนวนมากแค่ไหนกว่าจะทำให้เราโตมาขนาดนี้ ในเชิงนามธรรมก็ถือว่าเป็นบาป เวลาเราฆ่าสัตว์หนึ่งตัวก็ถือว่าเป็นบาป และหากเราฆ่าตัวเองก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกเช่นกัน คุณควรจะหาทางแก้ปัญหา การพยายามยกตัวเลือกขึ้นมา มีการนำปัญหาไปปรึกษากับคนที่รู้จัก ก่อนที่เราจะตัดสินใจอะไร นอกจากนี้เราเองก็ต้องฝึกจิตว่าเราจะต้องไม่ประมาท วันหนึ่งเราก็ต้องตาย ให้เรามีสติและมีสมาธิ แต่ประเด็นสำคัญคือเราจะตายอย่างไรให้มีคุณค่า ดิฉันจะมีกิจกรรมอันนึง ให้นิสิตเขียนคำไว้อาลัย ตัวเอง แบบในหลุมฝังศพที่มีการเขียนไว้อาลัย ซึ่งนิสิตก็จะเขียนเรื่องดีๆ

ตอนที่ฉันไปเรียนที่สหรัฐฯ อาจารย์เคยให้จับคู่กัน ในตอนกลางคืน อาจารย์ให้พกไฟฉายแล้วพากันเดินไปที่หลุมฝังศพ ก่อนสำรวจที่หน้าหลุมฝังศพแล้วให้ดูคำไว้อาลัยหน้าหลุม เพื่อให้ดูวิธีการเขียนไว้อาลัยว่าเขียนอย่างไร เขาเรียนกันแบบนี้ เพื่อให้เรารู้และกล้าที่จะเผชิญความจริง เพราะเรื่องความตายไม่มีใครอยากพูดถึงเป็น สิ่งที่น่ากลัว แต่คนก็ดิ้นรนเพื่อไม่ให้ตัวเองตาย เป็นเรื่องหลักของชีวิต เหมือนกับเรื่องสุขภาพที่คนไม่พูดถึงกระทั่งไปอยู่โรงพยาบาลถึงพูดถึง เราควรเรียนรู้ให้มันเป็นวิถีชีวิตของเราไปเลย

-ที่จุฬาเปิดสองวิชาแล้วเกี่ยวกับความตาย มันต่างกันอย่างไร?

วิชามรณะศึกษาจะเกี่ยวกับการสอน สอนนิสิตคณะครุศาสตร์ วิชาความตายอย่างมีคุณภาพ จะมุ่งเน้นเรื่องการใช้ชีวิต เห็นคุณค่าของตัวเองกับคนอื่น จะไม่เน้นการสอนมาก เทอมนี้เป็นเทอมแรกเปิดเป็นวิชาการศึกษาทั่วไป นิสิตนอกคณะมาลงทะเบียนเรียนได้ รับนิสิตจำนวน 50 คน หากมีคนลงเรียนเกินก็สามารถเพิ่มได้

-คนไทยเรามีความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับความตายอย่างไรบ้าง?

เราจะบอกตรงๆไม่ได้ทั้งหมดเพราะอาจจะมีเรื่องความเชื่อศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง บางคนก็อยากรู้เรื่องชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร ซึ่งเราไม่สามารถบอกได้และเราไม่สอนแบบนั้น วิชานี้อาจจะช่วยให้เราลดความสูญเสียจากความรู้สึกให้มากที่สุด มองทุกอย่างอย่างเป็นธรรมชาติ

-เมืองไทยมีคนจบด้านนี้โดยตรงหรือไม่ หรือมีนักวิชาการที่สนใจด้านนี้?

ไม่ค่อยมี อย่างที่บอกว่ามันจะมีการสอนเน้นในมหาวิทยาลัยของสงฆ์ จะเน้นไปที่เรื่องชีวิตและความตาย

– Death Studies เมืองนอก มีที่ไหนน่าสนใจอีก

ส่วนใหญ่วิชานี้จะเกิดขึ้นอย่างมากในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เขาสอนกันมานานแล้ว แต่เมืองไทยไม่มี หนังสือเมืองไทยที่ออกมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็พอมีบ้างแต่จะเน้นหนักในเรื่องศาสนามากกว่า บางทีบางคนอาจไม่ชอบหรือคิดว่ายากเกินไป

20
หนังสือมรณศึกษา หนังสือเล่มหลักที่อธิบาย “ความตาย”ในมุมมองวิชาการ

-หลายคนแปลกใจไม่เคยได้ยินวิชานี้มาก่อนอาจารย์จะบอกเขาอย่างไรดี

อยากให้ลองมาศึกษา ความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแก่เราโดยธรรมชาติ คำถามคือเราจะยอมรับได้ไหม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจแต่คุณอาจจะไม่สนใจก็ได้ แต่ความตายก็เป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมนุษย์จะทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติและมีคุณค่า มีคุณภาพ วิชานี้จะสอนให้เราไม่กลัวแต่จะกล้าเผชิญความตาย ว่ามันต้องเกิดขึ้น กับคุณและคนที่คุณรัก ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อถึงตอนนั้นแล้วคุณจะทำอย่างไร ถ้าเราไม่เรียนรู้และพยายามเข้าใจอย่างมีสติ คุณก็จะทำใจไม่ได้ เกิดเป็นความทุกข์บางคนอยากตายตามหรือเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยไปอีก วิชานี้จะสอนให้คุณ รู้จัก เข้าใจและป้องกัน จัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น

เรื่องความตายยังมีอะไรที่น่าสนใจและเรียนรู้อีกเยอะ คนไทยมีวิธีจัดการกับความตายต่างกันในแต่ละภูมิภาค เป็นไปตามความเชื่อของแต่ละครอบครัว และท้องถิ่น ขณะที่คนต่างชาติอย่างอาจารย์ชาวสหรัฐฯที่อาจารย์รู้จักติดต่อกัน ตอนนี้เขาก็เล่าว่าเริ่มหันมาใช้วิธีการเผาแล้วเพราะมีต้นทุนถูกกว่า หรือแม้แต่การจัดการความตายของคนชนบท และคนเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน เรื่องธุรกิจการจัดการเกี่ยวกับความตาย เป็นต้น

-ที่มาชื่อวิชา Beautiful death ทำไมดูไพเราะจัง

อาจารย์ที่เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาทั่วไปเป็นคนตั้ง ทีแรกจะตั้งชื่อว่าวิชาชีวิตหลังความตาย ก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่นอกเหนือกว่าเด็กควรจะรู้ ควรจะทำวิชาให้เป็นสิ่งที่เด็กนำไปใช้ได้ดีกว่า จึงกลายเป็นชื่อวิชา Beautiful death

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image