ศธ.ดีเดย์เริ่มแยกสอนวิชาประวัติศาสตร์ ภาค 1/66 มุ่งเรียนรู้รากเหง้าตัวเอง เน้นคิด-แก้ปัญหา

ศธ.ดีเดย์เริ่มสอนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ เทอม 1/66 เป็นต้นไป เลขาฯ กพฐ.แจงรูปแบบใหม่เน้นกระบวนการเรียนรู้หลากหลาย มุ่งเรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง-ต่อยอดให้ดีขึ้น เน้นคิด-แก้ปัญหา พร้อมปรับวิธีประเมินผลใหม่ ด้านผู้จัดการทีแคส ชี้ ทปอ.ไม่ซีเรียส ศธ.แยกรายวิชา ปวศ.ยังไม่เพิ่มวิชาสอบ หวั่นเป็นภาระ น.ร.

จากกรณีที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เตรียมลงนามในประกาศ ศธ.เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติเห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอ ขณะที่นักวิชาการมีทั้งเห็นด้วย และคัดค้าน ส่วนใหญ่มองว่าปัญหาอยู่ที่วิธีการสอน เนื่องจากโรงเรียนจัดการเรียนการสอนตามอุดมคติของรัฐ ทั้งที่การสอนประวัติศาสตร์ ต้องให้เด็กตั้งคำถาม และวิพากษ์ข้อมูลหลักฐานได้ ขณะที่นักเรียนไม่มีปัญหา แต่ต้องเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจบริบทของสังคม ไม่ใช่เพื่อรักชาติ โดยอยากให้ปรับกระบวนการเรียนการสอน เน้นการคิด วิเคราะห์ และตั้งคำถามนั้น

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.เปิดเผยว่า ขณะนี้ สพฐ.อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดประกาศ ศธ.เรื่องการบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาลงนาม อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ สพฐ.ออกแบบใหม่นั้น จะมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งไม่ใช่การเรียนประวัติศาสตร์ทุกเรื่องราว ทุกสิ่งอย่าง แต่จะสอนให้ผู้เรียนรู้เรื่องตนเอง ครอบครัว สังคม ชุมชน และวิถีชีวิต เพื่อให้รู้รากเหง้าของตนเองว่ามีความเป็นมาอย่างไร และจะต่อยอดให้ดีขึ้นอย่างไร

“การแยกวิชาประวัติศาสตร์เป็นรายวิชาพื้นฐาน จะต้องปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ใหม่ เพราะเดิมสอนวิชาประวัติศาสตร์แบบท่องจำ แต่ต่อไปจะจัดกระบวนการเรียนประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชีวิต เพื่อนำสิ่งที่เรียนมาใช้ประกอบความคิด ใช้แก้ปัญหา และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ดังนั้น ต่อไปจะปรับโครงสร้างวิชาประวัติศาสตร์ให้เน้นเฉพาะมากขึ้น พร้อมกับปรับวิธีการเรียนรู้ใหม่ เมื่อปรับวิธีเรียนแล้ว จะต้องปรับวิธีการวัด และประเมินผลใหม่ โดยจะประเมินความคิดนักเรียน ว่านักเรียนสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ แก้ปัญหาโดยคำนึงถึงอดีต เอาอดีตมาเป็นบทเรียนหรือไม่ ปัญหาชุมชน สังคม ลดลงหรือไม่ ประเทศพัฒนาไปดีกว่าเดิมหรือไม่” ดร.อัมพร กล่าว

ดร.อัมพรกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การแยกรายวิชาประวัติศาสตร์เป็นรายวิชาพื้นฐานในครั้งนี้ จะมีผลกับการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 เป็นต้นไป

Advertisement

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2566 หรือทีแคส 66 ของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับการแยกรายวิชาประวัติศาสตร์ คิดว่า ศธ.ทำได้ ไม่ว่าจะแยกเพราะทำตามนโยบายของรัฐบาล หรือแยกเพราะต้องการให้การเรียนวิชาประวัติศาสตร์มีความสำคัญขึ้น เพราะตามโครงสร้างหลักสูตรแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

รศ.ดร.ชาลีกล่าวต่อว่า ส่วน ทปอ.จะต้องปรับข้อสอบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2567 โดยเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์เข้าไปด้วยหรือไม่นั้น เบื้องต้น คิดว่ายังไม่จำเป็น เพราะข้อสอบที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จะอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม อยู่แล้ว เพราะโดยหลักการ ทปอ.มีแต่จะลดจำนวนวิชาที่เด็กต้องสอบลง ดังนั้น การเพิ่มวิชาสอบเข้าไปอีก ก็อาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับเด็กมากเกินไป อีกทั้ง ข้อสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย จะวัดการคิดวิเคราะห์ของเด็กอยู่แล้ว ดังนั้น คิดว่าคงยังไม่จำเป็นต้องปรับข้อสอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image