ศธ.ถกร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ปมยกเลิกคำสั่งคสช.ยุบ ‘ศธจ.-ศธภ.’หวั่นขรก.กว่า 3 พันคนถูกลอยแพ

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็น ร่าง พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำลังพิจารณาทบทวนประเด็นต่าง ๆ ใน 4 มาตรา ว่า วันนี้ได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาเชิญ ผู้เกี่ยวข้อง หน่วยงานปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการภาค(ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) รวมถึงนักวิชาการมาสะท้อนความคิดเห็น เพราะร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้จะเป็นธรรมนูญการศึกษาซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทด้านการศึกษาที่สำคัญ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญรัฐสภา ก็ถือว่าเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่เพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สามารถนำไปปฏิบัติได้และลดความเหลื่อมล้ำได้จริง จึงได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนอีกครั้งหนึ่ง  โดยหลังจากได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯต่อไป

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดศธ. กล่าวว่า ประเด็นสำคัญประการหนึ่งคือในมาตรา 3 การยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ประเด็นการยกเลิกศธจ. จะมีผลกระทบในการปฏิบัติงานระดับจังหวัดหรือไม่ รวมถึงการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 17/2560 ประเด็นองค์ประกอบคณะกรรมการสกสค./ คุรุสภา ซึ่งเกิดข้อห่วงใยว่าการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไม่เพียงกระทบกับศธจ. ศธภ. ยังมีสกสค. คุรุสภา องค์การค้าของสกสค.ยังมีหน่วยงานอื่นที่จะอาจจะเคว้ง เพราะจะไม่ได้กลับไปยังจุดเดิมก่อนมีคำสั่ง คสช. ดังนั้นจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าองค์กรเหล่านั้นจะอยู่ในบทบาทใด โดยเฉพาะ ศธจ.ถ้าไม่มีแล้วจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในพื้นที่อย่างไร เพราะหน่วยงานที่จัดการศึกษาไม่ได้มีแค่ศธ. แต่ยังมีหน่วยงานอื่นอีก รวมแล้ว 11 หน่วยงาน ซึ่งศธจ.มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน

“ถ้ายกเลิกคำสั่ง คสช.ดังกล่าว คนที่ได้รับผลกระทบจะมีมากถึง 3 พันคน และถ้าต้องยกเลิกจริง ๆ เราก็ต้องดูแลว่าจะเอาคนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน โดยต้องให้มีระดับเท่าเดิมซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก”ปลัดศธ.กล่าว

ด้าน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ  คือ มาตรา 3 การยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ซึ่งจะมีการยกเลิกศึกษาธิการจังหวัด จะมีผลกระทบในการปฏิบัติงานระดับจังหวัดหรือไม่ และ การยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 17/2560 ประเด็นองค์ประกอบคณะกรรมการสกสค./ คุรุสภา   มาตรา 8   เป้าหมายของการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามช่วงวัย 7 ช่วงวัย  มาตรา 13 การจัดการศึกษาโดยครอบครัว  มาตรา 20 สถานะของสถานศึกษาของรัฐให้เป็นนิติบุคคลทุกสังกัด และมาตรา 42 คุรุสภาทำหน้าที่การประกอบวิชาชีพครูและการช่วยเหลือด้านสวัสดิการ รวมทั้งการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา/รองผู้บริหารสถานศึกษาและครู ซึ่งวันนี้สภาการศึกษาได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่าง ๆ มาสะท้อนความคิดเห็น อย่างไรก็ตามจากการรับฟังความเห็นยังมีข้อกังวลใน มาตรา 4 เรื่องคำจำกัดความซึ่งหายไป 1 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาอื่น  ศึกษานิเทศก์ที่ไม่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งหลังจากนี้สภาการศึกษาจะรวบรวมประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับข้อคิดเห็นมาสรุปและนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการศธ.เพื่อขอความเห็นชอบก่อนเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image