ศธจ.ห่วงถูกยุบ บุกศธ.จี้แก้ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ หวั่น 4 พันคนถูกลอยแพ

ศธจ.ห่วงถูกยุบ บุกศธ. จี้กมธ.แก้มาตรา 3 ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ หวั่น กว่า 4 พันคนในพื้นที่ถูกลอยแพ กระทบเลื่อนขั้นเงินเดือน ประเมินวิทยฐานะ  ‘ตรีนุช’ ยาหอม มอบสกศ. ทำข้อเสนอกมธ.

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)นำโดย นายณัทชัย ใจเย็น ศธจ.นนทบุรี และคณะ ได้เข้าพบ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขอให้ศธ.เสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ …. ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญฯ โดยน.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ถือเป็นกฎหมายสำคัญ เหมือนเป็นธรรนูญของการศึกษา รัฐบาลใช้เวลากว่า 5 ปีในการยกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้รับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกมธ.วิสามัญฯ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกัน จนถึงจุดที่เห็นว่า ต้องมีการทบทวน โดยศธ. ถือเป็นหน่วยปฏิบัติ ซึ่งมีหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ประกอบกับได้รับเสียงสะท้อน จากหลายหน่วยงาน รวมถึงศธจ. และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ที่มีข้อกังวล บางมาตราที่อาจส่งผลกระทบให้บางหน่วยงานอาจจะถูกยุบ ทำให้การบูรณาการงานในพื้นที่มีปัญหา

“ทางศธจ.ได้นำข้อกังวล ในมาตรา 3 ที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของศธ. อาจส่งผลให้ต้องยกเลิกศธจ. และศธภ. กระทบต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการภาคทั่วประเทศ  ซึ่งในส่วนของ ศธ.เห็นว่ายังจำเป็นต้องมีหน่วยงานนี้อยู่ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยบูรณาการงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดพัฒนาการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่ และหากต้องยุบศธจ.และศธภ. ไปก็จะกระทบทั้งกับบุคลากรที่ได้รับความเดือนร้อนหลายพันคน รวมถึงกระทบกับการทำงานพัฒนาการจัดการศึกษาในพื้นที่ด้วย โดยที่ผ่านมาได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รวบรวมความคิดเห็น เพื่อเสนอให้กมธ.วิสามัญฯ พิจารณา ปรับแก้ให้เหมาะสมต่อไป“ น.ส.ตรีนุชกล่าว

Advertisement

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ ก็ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ต่อไปจะไม่มีเงินวิทยฐานะให้แก่กลุ่มดังกล่าว ซึ่ง ศธ.เห็นว่าจำเป็นที่ต้องปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้ทุกคนได้คงสิทธิตามเดิม พร้อมกันนี้ยังมีอีกหลายมาตราที่จำเป็นต้องปรับปรุง เช่น การให้โรงเรียนมี่สถานะเป็นนิติบุคคล ที่จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ

นายณัทชัย  กล่าวว่า ส่วนตัวมั่นใจในตัวรัฐมนตรีว่าการศธ. แต่ยังกังวล เพราะการเมืองยังไม่มีความแน่นอน จากนี้ตัวแทนศธจ.เตรียมยื่นหนังสือ ถึงพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายชวน  หลีกภัย ประธานรัฐสภา และผู้ที่เกี่ยวข้อง กับการยกร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และให้การทำงานในพื้นที่สามารถทำงานต่อไปได้ โดยมีผู้ร่วมลงชื่อขอให้แก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว กว่า 4,437 คน ซึ่งมีทั้งข้าราชการ บุคากรศธจ. ศธภ. ลูกจ้าง และบุคาลกรครูโรงเรียนเอกชน ฯลฯ ทั้งนี้หากร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับนี้ประกาศใช้ โดยที่ยังไม่ยกเลิก มาตรา 3(10) จะส่งผลให้ศธจ.และศธภ.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ตามกฎหมาย เพราะกฎหมายที่ให้อำนาจถูกยกเลิก กระทบต่อการทำงานในพื้นที่  กศจ. จะไม่สามารถอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ การจัดการศึกษาในรูปแบบโฮมสคูล ที่ให้อำนาจกศจ.ในการอนุมัติ จะหยุดชะงักทันที รวมถึงงานที่ได้ทำความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ก็จะต้องยุติ ขณะเดียวกัน ยังส่งผลให้ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษาฯ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เนื่องขาดองค์ประกอบหลัก คือ ผู้แทนจากกศจ. ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนขั้นเงินเดือน การเลื่อนวิทยฐานะต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image