เปิดภาพชุดพร้อมข้อมูล “หุ่นปริศนา” ที่วัดไพชยนต์ฯ นักปวศ.เชื่อเป็นเทวดาประดับพระเมรุ “วังหน้า” ร.3

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า ที่วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีกลุ่มประติมากรรมรูปเทวดาซึ่งมีสีกายต่างๆ รวมถึงพระพรหมซึ่งมีสี่หน้า อยู่ภายในวิหารของวัดดังกล่าว โดยตั้งอยู่บริเวณฐานทั้ง 2 ข้างของพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ ตนเคยทราบข้อมูลจากพระสงฆ์รูปหนึ่งในวัดว่าเป็นประติมากรรมที่ใช้สำหรับเป็นเครื่องประดับพระเมรุของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ผู้เป็น “วังหน้า” สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจากพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น

ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

นอกจากนี้ ประติมากรรมมีรูปแบบศิลปะเก่าไปถึงสมัยรัชกาลที่ 3 หรือ ต้นรัชกาลที่ 4 และเมื่อพิจารณาจากโบราณวัตถุสถานในวัดและพระวิหารเอง เทวดาเหล่านี้ มีรูปแบบไม่เข้ากันกับส่วนประกอบอื่นๆ จึงน่าจะถูกนำจากที่อื่นมากกว่า ที่สำคัญคือ ตามขนบแล้ว ไม่เคยมีการสร้างประติมากรรมชุดเทวดาเพื่อประดับบริเวณฐานพระพุทธรูปประธานมาก่อน อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการค้นคว้าเอกสารประกอบ อาทิ หมายรับสั่งที่เกี่ยวข้องกับงานพระศพในช่วงเวลานั้น

เทวดาพระเมรุ

เทวดาวัดไพชยนต์

Advertisement

“เทวดาพวกนี้ มีรูปแบบเก่าไปถึงรัชกาลที่ 3 หรือต้นรัชกาลที่ 4 ลักษณะโดยรวมไม่เข้ากันกับสิ่งอื่นๆในวิหารเลย เชื่อว่าน่าจะถูกนำมาจากที่อื่น ตามขนบโบราณก็ไม่เคยพบว่ามีการสร้างเทวดามาวางไว้ที่ฐานพระประธาน ข้อมูลที่เคยทราบมาว่า เป็นเทวดาประดับพระเมรุของวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีความเป็นไปได้ เพราะท่านเป็นผู้สร้างวัด ถ้าจะให้มีความแน่ชัดต้องค้นข้อมูลเพ่ิมเติมจากหมายรับสั่งในช่วงงานพระเมรุ” ผศ.ดร. รุ่งโรจน์กล่าว

พระครูสิริธรรมธาดา อายุ 67 ปี  เจ้าอาวาสวัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร กล่าวว่า ตนบวชที่วัดแห่งนี้มานาน 45 พรรษา ได้เห็นประติมากรรมชุดดังกล่าวมาตั้งแต่แรก โดยตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโยกย้าย อย่างไรก็ตาม ไม่เคยได้ยินเรื่องเครื่องประดับพระเมรุวังหน้ามาก่อน จึงอยากให้ผู้รู้ค้นคว้าเอกสารเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน

“อาตมาเห็นประติมากรรมชุดนี้มานานกว่า 45 ปีที่บวชอีก เพราะเป็นชาวบางพึ่ง เกิด โต และเรียนหนังสือที่นี่ แต่ไม่เคยได้ยินเรื่องที่ว่ารูปปั้นเทวดาเป็นเครื่องประดับพระเมรุมาก่อน ถ้ามีคนค้นคว้าเอกสารให้ชัดเจน ก็เป็นเรื่องทื่ดี จะได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติวัด นอกจากนี้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุอื่นๆในวัดเพิ่มเติมด้วย เช่น เรื่องบุษบกพระพุทธสิหิงค์ เวลาตีพิมพ์ประวัติวัดจะได้ถูกต้องชัดเจน วัดนี้เดิมกรมศิลป์ไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เพราะตกสำรวจ เพิ่งขึ้นทะเบียนในภายหลัง” เจ้าอาวาสกล่าว

Advertisement
พระครูสิริธรรมธาดา
พระครูสิริธรรมธาดา

พระนนทชัย ชยานันโท พระลูกวัดซึ่งรับหน้าที่ดูแลและนำชมโบราณสถานในวัดกล่าวว่า โดยปกติ วิหารแห่งนี้จะถูกปิดไว้ตลอด เว้นแต่มีงาน หรือมีผู้เดินทางมาทัศนศึกษา หรือมีผู้ขอเข้าเยี่ยมชม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการ  สำหรับพระสงฆ์ที่ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลว่าเทวดาเป็นเครื่องประดับพระเมรุนั้น เข้าใจว่าเป็นรูปที่พำนักอยู่ต่างประเทศในขณะนี้ เดิมเป็นผู้ดูแลนำชมมาโดยตลอด ส่วนตนเพิ่งมารับหน้าที่แทนราว 1 เดือนมานี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระเดชพระคุณ พระราชมงคลมุนี อดีตเจ้าอาวาส ระบุถึงประวัติวัดไว้ตอนหนึ่งว่า วัดแห่งนี้สร้างในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยโปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กับพระยาราชสงครามคิดแบบพระเจดีย์ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงโปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าพระยาพระคลังเป็นผู้อำนวยการสร้างพระสมุทรเจดีย์

เทวดาวัดไพชยนต์

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าอรุโณทัย” เมื่อทรงพระเยาว์เรียกกันว่า “พระองค์ช้าง”  ประสูติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2328 เป็นพระเจ้าลูกยาเธอที่ 17 ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้น รัชกาลที่ 1 ฌปรดให้สร้างวังบนถนนหน้าพระลานเป็นที่ประทับ (ปัจจุบันคือที่ตั้งกรมศิลปากร) ทรงมีบทบาทในการจัดการปกครอง เปลี่ยนแปลงระเบียบการเก่าบางอย่างสำหรับเมืองนครศรีธรรมราช

เทวดาวัดไพชยนต์

ครั้นล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นแม่กองการก่อภูเขาและปลูกต้นไม้หน้าเขื่อนเพชรชั้นใน และอื่นๆ เมื่อรัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรฯ (วังหน้า) ต่อมาทรงประชวรด้วยพระโรคมานน้ำ กระทั่งสวรรคตเมื่อวันอังคาร เดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2375 เสด็จดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ  มาได้ 8 ปี มีพระชนมายุได้ 48 พรรษา ปัจจุบันมีการสร้างพระราชานุสาวรีย์ของพระองค์ไว้ภายในวัดไพชยนต์พลเสพย์ฯ

วิหารวัดไพชยนต์
พระวิหารที่เก็บรักษาประติมากรรมรูปเทวดา

เทวดาวัดไพชยนต์

เทวดาวัดไพชยนต์

เทวดาวัดไพชยนต์

เทวดาวัดไพชยนต์

ไพชยนต์พลเสพ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image