เล็งจัดทัพ ‘ศธจ.-ศธภ.’ ครั้งใหญ่ ม.ค.66 หลัง ‘กมธ.’ เคาะไม่ยุบหน่วยงาน

เล็งจัดทัพ ‘ศธจ.-ศธภ.’ ครั้งใหญ่ ม.ค.66 หลัง ‘กมธ.’ เคาะไม่ยุบหน่วยงาน คสช. ปลัด ศธ.เร่งเคลียร์บทบาท-โละงานซ้ำซ้อน

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มศึกษาธิการจัดหวัด (ศธจ.) เรียกร้องให้มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยเฉพาะมาตรา 3 ในมาตรา 3 ที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.)ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.อาจส่งผลให้ต้องยกเลิกหน่วยงานที่เกิดขึ้นจากคำสั่งดังกล่าว รวมถึง ศธจ.และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) นั้น ขณะนี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ที่มีนายตวง อันทไชย สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้มีการทบทวนกฎหมายดังกล่าวแล้ว และให้คงหน่วยงานที่เกิดขึ้นจากคำสั่งดังกล่าวไว้ ซึ่งเท่าที่ได้มีการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็มีความมั่นใจ ว่าในชั้นแปรญัติจะไม่มีปัญหา

“ที่ผ่านมานายวิษณุ มีความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว อยู่ 3-4 มาตรา จึงได้ขอให้ ศธ.และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ประสานกับ กมธ.วิสามัญฯ เผื่อผลักดัน ยอมรับว่ามีปัญหามากพอสมควร เพราะมีหลากหลายความคิด อาทิ การจัดการศึกษาโฮมสคูล ที่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ กำหนดให้สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ศธ.ขณะที่ ศธ.เองก็เกิดความกังวล เรื่องมาตรฐานในการจัดการศึกษา ประเด็นนี้รองนายกฯขอไปพิจารณาร่วมกันในชั้นกมธ. ส่วนมาตรา 3 มีมติแล้วว่า ให้หน่วยงานที่เกิดขึ้นจากคำสั่ง คสช.คงอยู่ทั้ง ศธจ. ศธภ. รวมถึง สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) องค์การค้า และคุรุสภา เพราะถ้าไม่มีการทบทวนหน่วยงานดังกล่าวจะหายไปทั้งหมด” นายอรรถพล กล่าว

ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า ส่วนการเดินหน้าสรรหา ศธภ.แทนตำแหน่งว่างนั้น คิดว่าจะสามารถดำเนินการได้เร็วๆ นี้ ซึ่งเดิมที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังไม่ดำเนินการเพราะรอความชัดเจนของกฎหมาย เชื่อว่า รัฐมนตรีว่าการ ศธ.น่าจะวางแผนไว้แล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นเรื่องการจัดคนที่เหมาะสมเพื่อไปทำงานในแต่ละพื้นที่ มีงบประมาณ และอัตราที่กำหนดไว้แล้ว เพื่อจะผลักดันงานเชิงนโยบายระดับภูมิภาค เพราะการศึกษาในยุคโลกผันผวน การให้ส่วนกลางไปกำหนดทุกอย่างจะทำให้การขับเคลื่อนการจัดการศึกษา เป็นเรื่องยาก ทั้งนี้การศึกษาต้องสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพราะฉะนั้นบทบาทของ ศธจ.และ ศธภ.ก็จะเหมือนการบูรณาการเชิงพื้นที่ที่จะต้องเชื่อมโยงกัน

Advertisement

“หน้าที่ผม ที่ต้องเร่งดำเนินการเช่นกันคือ การเกลี่ยคน ปรับบทบาทหน้าที่ภาระงานแต่ละหน่วยงานให้เหมาะสม ที่สำคัญต้องตอบโจทย์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้ได้ว่า ขณะนี้ ศธจ.มีบทบาทหน้าที่อะไรที่ไม่ซ้ำซ้อนกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) โดยตั้งใจจะทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2566 จากนั้นจะดำเนินการหมุนสลับ ศธจ.ให้เหมาะสม เพราะบางคนอยู่อีสาน ไปทำงานอยู่ใต้ คนใต้ไปทำงานอยู่เหนือ ก็ปรับให้เขาได้อยู่ใกล้ครอบครัว เพื่อให้ทำงานอย่างมีความสุข จากนั้นค่อยตั้งเพิ่มในจังหวัดที่ขาด และค่อยเริ่มขยับ ศธภ.เพื่อให้การทำงานมีความราบรื่น ส่วนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาสมัยนี้หรือไม่นั้น ตัวแปรสำคัญคือการเมือง ซึ่งขณะนี้ ส.ส.มีการย้ายพรรคจำนวนมาก อาจมีผลต่อเสียงสนับสนุน หากกระบวนการย้ายพรรคไม่มีปัญหา สามารถควบคุมได้ ก็เชื่อว่าจะผ่านแน่นอน หากไม่ผ่าน ก็ต้องรอสมัยรัฐบาลหน้า ในส่วนของ ศธ.ก็ต้องเดินหน้า จัดทำกฎหมายสำหรับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งหมดรวม 13 ฉบับ เพื่อให้การจัดการศึกษาเกิดความต่อเนื่อง เพราะ กศน.ตอนนี้ไม่ใช่แค่ดูกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมคนทุกช่วยวัย ทั้งผู้สูงอายุ และผู้พิการ” นายอรรถพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image