จี้คุรุสภาแก้ข้อ 14 เกณฑ์ ‘ตั๋วชั้นสูง’ ปมลิดรอนสิทธิแม่พิมพ์เอกชนกว่าแสนราย ‘ศุภเสฏฐ์’ ชี้ ‘ครูรัฐ-เอกชน’ ต้องเท่าเทียม
ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565 โดยข้อบังคับฉบับนี้กำหนดให้แบ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 4 ประเภท ดังนี้ 1.ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง 2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา 3.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และ 4.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ แต่จากที่ศึกษารายละเอียด พบว่าข้อบังคับดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อครูโรงเรียนเอกชนที่มีกว่า 100,000 คน เพราะในข้อ 14 กำหนดไว้ว่า การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง ตามกลุ่มวิชาที่ขอรับใบอนุญาตจะออกให้แก่ผู้ยื่นคำขอซึ่งมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้นที่ยังไม่หมดอายุ และเมื่อตรวจสอบคำขอแล้ว เป็นผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม เอกสารหลักฐานครบถ้วน ถูกต้อง รวมทั้งผ่านเกณฑ์การประเมินตามระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด หรือผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และมีวิทยฐานะตั้งแต่ระดับชำนาญการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ
ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าวต่อว่า การกำหนดเช่นนี้อาจเป็นการเขียนสิทธิพิเศษให้ครูภาครัฐ เพราะมีแต่ครูภาครัฐเท่านั้นที่มีวิทยฐานะ ดังนั้น หากครูภาครัฐที่มีวิทยฐานะตั้งแต่ระดับชำนาญการ หรือเทียบเท่า ก่อนข้อบังคับนี้บังคับใช้ จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั้นสูงทันที ในขณะที่ครูเอกชนหากต้องการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง ต้องเข้ารับการทดสอบเพื่อให้ผ่านเกณฑ์การประเมินเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง ครูรัฐ และครูเอกชน ต้องมีความเท่าเทียมกัน การกำหนดเช่นนี้ถือเป็นการแบ่งแยกชนชั้นระหว่างครูรัฐ และครูเอกชน รวมทั้งลิดรอนสิทธิครูเอกชนอย่างชัดเจน
“ควรจะกำหนดเกณฑ์การได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูงให้เท่าเทียมกัน คือกำหนดให้ครูรัฐ และครูเอกชน ต้องเข้ารับการทดสอบเพื่อที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง จึงอยากให้ทบทวนข้อบังคับดังกล่าว และอยากให้ผู้เกี่ยวข้องลงไปสอบถามความคิดเห็นของภาคเอกชนอย่างรอบด้าน อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับฉบับนี้จะมีผลคับใช้ภายใน 90 วัน หลังจากประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขข้อ 14 ให้มีความเท่าเทียมกันระหว่างครูรัฐ และครูเอกชนด้วย ไม่อย่างนั้นจะทำให้ครูเอกชนถูกลิดรอนสิทธิกว่า 100,000 คน” ดร.ศุภเสฏฐ์กล่าว