สัมภาษณ์พิเศษ : ‘นพ.อุดม คชินทร’ เปิดแผลอุดมศึกษาไทยกับทางรอด ในยุค ‘ดับเบิลดิสรัปชั่น’ (1)

สัมภาษณ์พิเศษ : ‘นพ.อุดม คชินทร’ เปิดแผลอุดมศึกษาไทยกับทางรอด ในยุค ‘ดับเบิลดิสรัปชั่น’ (1)

หมายเหตุมติชน สัมภาษณ์พิเศษ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหนึ่งในแกนนำในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ถึงทิศทางการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กับความเปลี่ยนแปลงที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมพร้อมรับมือ

หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างไร?

ที่ผ่านมามีทางมีแนวทางอยู่แล้ว แต่มหาวิทยาลัยไม่ยอมปรับตัว ทำให้ยังวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเลวร้ายแบบเดิมๆ คือ ผลิตบัณฑิตออกมาไม่มีคุณภาพ ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ที่ไม่ยอมทำ เพราะถ้าปรับมหาวิทยาลัยต้องเหนื่อยขึ้น อาจารย์ต้องเหนื่อยขึ้น อาจารย์ก็ไม่อยากทำรัฐบาลก็ไม่ได้จริงจัง ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เข้ามาดูแลก็ไม่ได้จริงจังกับตรงนี้ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเน้นเรื่องการทำงานในอนาคต 4 ประเด็นหลัก คือ 1.การทำงานในอนาคตจะเป็นเรื่องของออโตเมชั่นมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีใหม่เข้ามามาก กำลังคนจะถูกใช้น้อยลง แต่เราก็จะปล่อยให้คนว่างงานไม่ได้ บริษัทต่างๆ เข้าใจและไม่อยากไล่คนออก จึงตั้งเป้าหมายใหม่ ต้องการให้พนักงานไปรีสกิล อัพสกิล ให้ตรงกับการทำงานที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่ทำด้วยตัวเอง ก็ต้องไปคุมเครื่องจักร คุมหุ่นยนตร์ 2.สถาการณ์โควิด-19 ทำให้ทั่วโลกเห็นว่าการทำงานที่บ้าน หรือเวิร์กฟรอมโฮม เป็นการพิสูจน์ว่าทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รูปแบบการทำงานในอนาคตจึงเปลี่ยนไป

3.การทำงานจะเปลี่ยนไปตามระบบเศรษฐกิจใหม่ คือ Gig Economy หรือระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว ซึ่งตรงกับบริบทของเด็กในยุคใหม่ ที่นิยมทำงานเป็นฟรีแลนซ์ไม่มีสัญญาผูกมัดระยะยาว บวกกับเทคโนโลยีที่เข้ามา ทำให้สร้างเงินได้มหาศาล ประกอบกับความเชื่อที่ว่าวุฒิการศึกษาระดับสูงในปัจจุบัน ไม่สามารถการันตีรายได้ในอนาคต โดยจากการสำรวจ ล่าสุด มีผู้ที่อยากลาออกจากงานประจำ มาทำอาชีพอิสระกว่า 86% ขณะเดียวกันยังสำรวจด้วยว่า ในจำนวนประชากรวัยทำงาน กว่า 35-40 ล้านคน มีผู้ประกอบอาชีพอิสระมากกว่า 30% และ 4.การทำงานในอนาคตจะเป็นการทำงานผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิ ขายของออนไลน์เพราะมีรายได้สูง เป็นอาชีพที่ทำได้เลย ไม่ต้องมีวุฒิการศึกษา อย่างเช่น มีนักเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งตัดสินใจไม่เรียนต่อ เพราะมีรายได้จากการขายของออนไลน์ถึงเดือนละกว่า 2 แสนบาท เป็นต้น

Advertisement

ส่วนหนึ่งเพราะใจนักศึกษารายดังกล่าวไม่ได้อยากเรียนแพทย์ แต่เรียนเพราะพ่อแม่ กลายเป็นประเด็นความท้าทายของอุดมศึกษาว่า ถ้ามาเรียนมหาวิทยาลัย แล้วนักศึกษาได้อะไรบ้างเพราะจบไปก็ไม่การันตีความสำเร็จ และไม่การันตีรายได้ ขณะที่ทุกวันนี้บริษัทต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทชั้นนำในสหรัฐอเมริกา รับสมัครคนเข้าทำงานโดยไม่สนปริญญา ไม่สนมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะจบมาจากที่ไหน โดยจะให้ความสำคัญกับทักษะหรือความสามารถ ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับบริษัทได้เพิ่มขึ้นหรือไม่

ฉะนั้นมหาวิทยาลัยต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไร จะสามารถผลิตคนให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการรีสกิล อัพสกิล เพื่อออกมาทำอาชีพอิสระ มหาวิทยาลัยจะมานั่งรอรับเด็กจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้ามาเรียน คงไม่ได้แล้ว ยิ่งถ้าสอนแต่วิชาการยิ่งไม่ตอบโจทย์ หากยังสอนแบบเดิม มหาวิทยาลัยจะไม่มีที่ยืน

ขณะนี้เราอยู่ในช่วงดิสรัปชั่น และไม่ใช่ดิสรัปชั่นธรรมดา แต่เป็นดับเบิลดิสรัปชั่น จากความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับมหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เห็นหลายอย่างชัดมาก อย่างแรก เราสร้างนวัตกรรมและสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงได้น้อยคุณภาพไม่ดี คนตกงานจำนวนมาก มีกำลังคนมีทักษะ สมรรถนะ ทัศนคติ ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่อุดมศึกษา ซึ่งทุกวันนี้ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ/โลกในยุค Disruptive Technologies”

Advertisement

ปัญหาของมหาวิทยาลัยไทย จริงๆ แล้วคือเรื่องใด?

ปัญหาใหญ่ คือมหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว ผมพูดเรื่องนี้มานาน กระทั่งแยกมหาวิทยาลัยออกจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อยู่ภายใต้สังกัด อว. ก็ยังไม่ปรับตัว”

สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเร่งดำเนินการคืออะไร?

ง่ายๆ เป้าหมายมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน เป้าหมายอุดมศึกษาต้องเปลี่ยน ตอนนี้เป้าหมายอุดมศึกษา หวังเพียงเด็กจบ .6 เข้ามาเรียน .ตรี .โท และเอก ซึ่งไม่ได้แล้ว เพราะอัตราการเกิดลดลง จากเดิมเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา มีเด็กเกิดใหม่ปีละ 1.1 ล้านคน แต่ปี 2565 ที่ผ่านมา มีเด็กเกิดใหม่เพียง 6.7 แสนคน ขณะที่เด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพียง 2.4 แสนคน ส่วนที่เหลืออาจจะไปเรียนในสังกัดอื่น หรือไปทำอาชีพอิสระ ดูจากสถิติการรับนักศึกษาเข้าเรียนของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ และจะมากระจุกอยู่เฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ที่คนอยากเรียน อย่างมหาวิทยาลัยเปิดบางแห่ง มีเด็กเข้าเรียนลดลงกว่า 50% มหาวิทยาลัยกำลังจะเข้าขั้นวิกฤตไปเรื่อยๆ ตอนนี้ยังเห็นไม่ชัด แต่ให้ไปดูสถิติการรับนักศึกษาเข้าเรียนจะลดลงเรื่อยๆ เป้าหมายของมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่รับแค่เด็กจบ .6 เข้าเรียนแล้ว ต้องเน้นไปที่การพัฒนาคนวัยทำงานด้วย ตามลักษณะงาน 4 กลุ่มที่พูดไปข้างต้น ซึ่งมีอยู่กว่าหลายสิบล้านคน ตอบโจทย์ประเทศและตลาดแรงงาน หลักการตรงนี้ง่ายมาก แต่ถ้ามหาวิทยาลัยทำ จะต้องเหนื่อย การเรียนการสอนต้องเน้นสร้างทักษะสมรรถนะการทำงาน ซึ่งต้องมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นสถานประกอบการเข้าร่วม ขณะที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุน”

มีเสียงสะท้อนว่า การแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยกลุ่มอื่นพัฒนาได้ไม่เท่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่?

ผมเข้าใจ แต่เรื่องนี้มองได้สองมุม การที่ อว.แบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา และกลุ่มผลิต และพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ จะทำให้มหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่มมองเห็นตัวเอง มองเห็นแนวทางในการพัฒนา มีประโยชน์ต่อการจัดสรรงบประมาณ เช่น มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่เน้นวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรม ก็จะใช้งบประมาณต่างจากกลุ่มที่เน้น พัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ส่วนอีกมุม ผมเห็นด้วยกับที่พูดว่า การแบ่งกลุ่มแบบนี้อาจเป็นการแบ่งแยก และอาจไปปิดกั้นการพัฒนามหาวิทยาลัยกลุ่มอื่น ซึ่งอาจจะมีศักยภาพเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ อยากให้มองไปที่เป้าหมายใหม่ของอุดมศึกษา ที่ต้องพัฒนาคนวัยทำงาน หากรัฐบาลและ อว. ตั้งเป้าหมายให้ชัดตามความต้องการของแต่ละจังหวัด เพื่อให้สามารถรู้ความต้องการกำลังแรงงานแต่ละประเภทก็จะสามารถออกแบบการจัดสรรงบประมาณได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และถ้าจะให้ดีควรมีการบูรณาการร่วมกับจังหวัดด้วย

หมายความว่า ไม่ต้องไปมองที่การแบ่งกลุ่ม มองที่เป้าหมายใหม่?

ใช่ มองมาที่มุมที่ผมบอก คือ พัฒนาคนวัยทำงาน รวมถึงผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นอีก 20-25% ในอนาคต แนวโน้มกลุ่มนี้จะอายุยืนขึ้นและมีสุขภาพดี ดังนั้นจะปล่อยให้อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ต้องได้รับการอบรมพัฒนาตามสมรรถนะที่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถทำงานในบริบทใหม่ได้”

อ่านรายละเอียด สัมภาษณ์พิเศษ : ‘นพ.อุดม คชินทร’ เปิดแผลอุดมศึกษาไทย กับทางรอด ในยุค ‘ดับเบิลดิสรัปชั่น’ (จบ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image