สัมภาษณ์พิเศษ : ‘นพ.อุดม คชินทร’ เปิดแผลอุดมศึกษาไทย กับทางรอด ในยุค ‘ดับเบิลดิสรัปชั่น’ (จบ)

สัมภาษณ์พิเศษ : ‘นพ.อุดม คชินทร’ เปิดแผลอุดมศึกษาไทย กับทางรอด ในยุค ‘ดับเบิลดิสรัปชั่น’ (จบ)

หมายเหตุมติชน สัมภาษณ์พิเศษ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหนึ่งในแกนนำในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ถึงทิศทางการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 กับความเปลี่ยนแปลงที่มหาวิทยาลัยต้องเตรียมพร้อมรับมือ

อ่าน สัมภาษณ์พิเศษ : นพ.อุดม คชินทร’ เปิดแผลอุดมศึกษาไทยกับทางรอด ในยุค ‘ดับเบิลดิสรัปชั่น’ (1)

ที่ไม่เปลี่ยน ส่วนหนึ่งเพราะอว. อาจจะยังไม่เข้าใจบริบทมหาวิทยาลัย?

“เป็นได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะส่วนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว เพราะอว.ไม่เอาจริง อย่างที่ผ่านมา ผมจะเน้นให้มหาวิทยาลัยผลิตตามความต้องการของประเทศ หากไม่ทำก็จะถูกตัดงบประมาณ ถ้าใครทำได้ดี ก็จะได้รับงบประมาณมากกว่าที่อื่น แต่ตอนนี้ มหาวิทยาลัยยังได้รับงบตามรายหัวนักศึกษา ดังนั้น มหาวิทยาลัยก็ทำงานตามแบบเดิม จึงไม่ตอบโจทย์

Advertisement

ผมเข้าใจว่า อว. พยายามปรับตัวแต่คงต้องใช้เวลา ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติกรอบนโยบายยุทศาสตร์อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ปี2566-2570 ออกมา ตรงนี้น่าจะนำมาใช้อย่างจริงจัง แม้รัฐบาลจะประกาศนโยบายหรือยุทธศาสตร์ แต่ถ้ารัฐมนตรี และปลัดกระทรวงไม่ผลักดัน ก็จะขับเคลื่อนไปได้ช้า ทั้งนี้ กรอบนโยบายดังกล่าว มีเป้าประสงค์ 3 ประการ คือ คนไทยมีสมรรถนะและทักษะสูง เพียงพอในการพลิกโฉมประเทศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขัน และสังคมไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ทางสิ่งแวดล้อมได้ ให้ทันต่อพลวัตรการเปลื่ยนแปลงของโลก ทั้ง 3 ประการนี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยองค์ความรู้ เพื่อไปสร้างนวัตกรรม สร้างความเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดยุทธศาสตร์ ไว้ 4 ด้าน คือ 1. พัฒนาเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าและเศรฐกินสร้างสรรค์พร้อมสู่อนาคต 2. ยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3. ใช้วิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้า ที่ก้าวหน้าล้ำยุค สร้างความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับศักยภาพของตนเอง ทำให้แข่งขันได้ และ4.สถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยทั้งหมด เป็นฐานในการขับเคลื่อน พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืน หมายความว่า สถาบันอุดมศึกษา วิจัยและพัฒนาเป็นหัวขบวนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และต้องเห็นผลอย่างยั่งยืนภายใน 3-5 ปี

สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งเริ่มใช้ปี 2566 ซึ่งเป้าหมายใหญ่คือ ต้องการพลิกโฉมประเทศ ให้เป็นสังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน ก้าวกระโดดอย่างมั่นคง ตามแนวทาง 13 หมุดหมายสำคัญ โดยหมุดหมายที่ 12 กำหนดว่า ไทยจะมีกำลังคนสมรรถนะสูง เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต มีเป้าหมาย 3 ประการ คือ1. พัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งสมรรถนะ ทักษะ และภูมิคุ้มกัน 2.พัฒนากำลังคนให้ตรงตามความต้องการของภาคการผลิต และ3.ส่งเสริมการเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต

จาก 2 แผนนี้ ผมสรุปว่า มหาวิทยาลัยจะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องยกระดับตัวเอง จาก Good Universities เป็น Great Universities ทรานส์ฟอร์ม เปลี่ยนคน ให้เป็นสมาร์ทพีเพิ้ลให้ได้ ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาต้องเปลี่ยน หลักสูตรต้องเปลี่ยน เรียนรู้จากการทำงาน เรียนรู้จากประสบการณ์ เน้นคิดนอกกรอบ เน้นการคิดสร้างสรรค์ และมหาวิทยาลัยต้องปรับพื้นที่ เป็นเลิร์นนิ่ง สเปซ ที่ไม่ว่าใครก็เข้ามาเรียนได้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยรอดจากภาวะวิกฤตโควิด-19 และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ คือ การวิจัยและพัฒนา เพราะช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดเจนว่า ประเทศไทยมีจุดบอดทุกด้าน มหาวิทยาลัยต้องออกจากคอมฟอร์ตโซน เปิดพื้นที่การเรียนรู้ ผลิตคนให้ตอบโจทย์ประเทศและโลก
หากอุดมศึกษายังผลิตบัณฑิตด้วยระบบเก่า ก็จะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ส่วนตัวมีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารภาคเอกชน พบว่าหลายแห่งสร้างอคาเดมี ผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตัวเอง เหตุผลเพราะเขาพึ่งมหาวิทยาลัยไม่ได้ ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว ภาคเอกชนจะเข้ามาทำหน้าที่ผลิตกำลังคนแทน อุดมศึกษาในอนาคต โดยเฉพาะยุคหลังโควิด-19 ต้องเน้นว่า เมื่อจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่ใช่มีแต่ความรู้ แต่ต้องสามารถนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิต และช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ ขณะที่เป้าหมายใหม่ของการเรียนรู้ คือ ต้องนำความรู้ไปสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี นักศึกษาและอาจารย์ต้องปรับมายด์เซตใหม่ จะเป็นเช่นนี้ได้ ต้องเน้นเรียนรู้จากการทำงาน ตั้งคำถามให้เกิดการวิเคราะห์ กระตุ้นให้เกิดจินตนาการเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันให้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรและโลก เพื่อสร้างกำลังคนสำหรับบริบทโลกใหม่ เป็นนิวแมนเพาเวอร์”

Advertisement

มองว่า กว่า 3 ปี หลังจัดตั้งอว. มีพัฒนาไปมากน้อยแค่ไหน?

“อว.โตขึ้น แต่โตแบบช้ามาก เพราะยังใช้วิธีคิดแบบเดิม ต่างคนต่างทำ จึงไม่เกิดการบูรณาการการทำงาน แต่ทั้งหมดต้องมองไปที่เป้าหมายการทำงาน ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ทั้งหมดอยู่ที่ผู้นำกระทรวง ที่จะไปผลักดันมหาวิทยาลัย ถ้าไม่มีใครไปผลักดัน มหาวิทยาลัยก็จะทำงานเหมือนเดิม เพราะมีความเป็นอิสระ หากไม่เร่งดำเนินการ จะไม่ทันการ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา -19 โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก วิธีการทำงานก็เปลี่ยน ดังนั้น วิธีการเรียนรู้ก็ต้องเปลี่ยน ”

ถ้าอว. ไม่เปลี่ยน อนาคตมหาวิทยาลัยไทยจะเป็นอย่างไร?

“คิดว่าค่อนข้างวิกฤต ดูจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ที่ตอนนี้อันดับของมหาวิทยาลัยไทย ตกลงไปเรื่อยๆ จากเดิมที่ไทยจะไล่ตามมาเลเซีย สิงคโปร ตอนนี้มีมหาวิทยาลัยในประเทศเวียดนาม แซงหน้า มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปหลายอันดับ มหาวิทยาลัยที่แซงเราขึ้นไปเมื่อก่อน ล้าหลังกว่าเรามาก ”

อว.ต้องปรับตัวอย่างไร ในฐานะที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ?

“ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าอว.ต้องเปลี่ยน ในฐานะกำกับดูแลมหาวิทยาลัยที่มีอิสระสูง จะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ประเทศ ที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับวิกฤต ตอนนี้อุดมศึกษามีเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้ว ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรอบของอุดมศึกษาฯ เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัย จะคิดแบบตามใจตัวเองไม่ได้ ต้องตั้งเป้าใหม่ให้สอดคล้องว่าจะตอบโจทย์ และจะร่วมผลักดันในส่วนนี้อย่างไร อว.ต้องกล้าที่จะชักชวนมหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการทั้งหมดนี้อย่างจริงจัง และเรื่องสำคัญที่ต้องทำคือ ปรับกระบวนการจัดสรรงบประมาณ หากมหาวิทยาลัย ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ก็จะได้รับการจัดสรรงบพื้นฐาน ไม่ได้งบพัฒนา ซึ่งจะเป็นงบที่สูงกว่ามาก แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ถึงไม่ทำมหาวิทยาลัยก็ได้งบอยู่แล้ว ”

เป็นเพราะ อว.เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย การพัฒนาจึงช้าไปด้วย?

“มีส่วนอย่างมาก เพราะอว. เป็นกระทรวงที่ตั้งใหม่ ต้องการคนที่ทำงานต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะเห็นผล แต่ก็ต้องยอมรับว่า ระบบการเมืองบ้านเรา เป็นไปไม่ได้ รัฐบาลเปลี่ยน รัฐมนตรี ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ก็หวังว่า เปลี่ยนรัฐมนตรีแล้ว นโยบายจะเกิดความต่อเนื่อง เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ผลักดันให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตบัณฑิต พัฒนาคนที่มีคุณภาพตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้ ”

ถ้าอว. ไม่ปรับอีก 3-5 ปี มหาวิทยาลัยจะแย่กว่านี้หรือไม่ ?

“แน่นอน เวียดนามก็จะแซงประเทศไทย ต่อไปเขมร ลาวก็จะตามมาติด ๆ และจากข้อมูลสภาอุตสาหกรรมในปัจจุบัน พบว่า สินค้าส่งออกของไทย กว่า 70% เป็นเทคโนโลยีต่ำ คือ สินค้าที่ไม่ได้ผลิตเทคโนโลยีภายในประเทศ หมายความว่า เราไมีการผลิตนวัตกรรมด้วยตัวเอง ไม่ถึง 30% ซึ่งน้อยมาก ตรงนี้เห็นชัดว่า ไทยไม่ได้พัฒนาอย่างแท้จริง ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image